ส่องแนวโน้มลงทุนปี 66 ผ่านเลนส์ “ไพบูลย์” นายกสมาคมนักวิเคราะห์ฯ

สวัสดีครับ Prachachat Wealth เปิดต้นปี 2566 เราจะไปสำรวจแนวโน้มการลงทุน กับ พี่ทอม-ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA)

ว่าผลจากการขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจโลกเสี่ยงชะลอ เงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง แม้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้จากภาคท่องเที่ยว แต่ผลการเก็บภาษีขายหุ้น หรือโมเมนตัมการเมืองในประเทศ จะมีผลต่อภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยอย่างไรกันบ้าง ไปร่วมรับชมกันเลยครับ

Q: ภาพแนวโน้มการลงทุนปี 2566

นายไพบูลย์ เปิดเผยว่า ผมคิดว่าปี 2566 คงเป็นปีที่ลำบากในเรื่องของการลงทุน เพราะว่าเป็นปีที่เราต้องเผชิญกับผลของการขึ้นดอกเบี้ยต่อเศรษฐกิจ คือปี 2565 เป็นปีของการขึ้นดอกเบี้ย ฉะนั้นผลที่ตามมายังไม่เห็นชัดเจน เพราะว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะมีเวลาที่ล่วงเลย (time lapse) กว่ากระบวนการจะเริ่มมีผลต่อเศรษฐกิจ

ปี 2566 ก็จะเป็นปีที่เศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบตรง ๆ ตอนนี้หลายคนก็คาดว่าอาจจะถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยในหลายประเทศ อย่างเช่น ในอเมริกา ในยุโรป และก็อีกหลายประเทศ เศรษฐกิจโลกยังไงก็ชะลอแน่นอน ทีนี้การลงทุนในช่วงเวลาแบบนี้ก็ถือว่าไม่ง่าย

เงินเฟ้อที่ทุกคนคาดว่าจะลดลง ก็ยังดูแล้วมีความหนืดพอสมควร เพราะเงินเฟ้อขึ้นไปสูง และปกติถ้าดูย้อนหลังแตะระดับ 8-9% จริง ๆ รอบนี้มันถึง 10% ในบางประเทศ เวลาจะเอาลงมาให้สู่กรอบเป้าหมายที่ 2-3% ของหลาย ๆ แบงก์ชาติมันจะทำได้ยาก ฉะนั้นแสดงว่าต้องใช้เวลาพอสมควร

ถ้าเงินเฟ้อไม่ลง แสดงว่าดอกเบี้ยคงจะลงไม่ได้ ถึงแม้เศรษฐกิจอาจจะเริ่มส่งสัญญาณไม่ค่อยดี จะเป็นครั้งแรก ๆ ในรอบหลายปีที่เราจะไม่คุ้นชิน เวลาแบงก์ชาติหลายแห่ง ๆ เห็นสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะเริ่มลดดอกเบี้ย แต่รอบนี้จะมีเงินเฟ้อมายืนเอาไว้ ทำให้ลดยังไม่ได้ ฉะนั้นตรงนี้ก็ยังเป็นประเด็นอีก

ปีหน้าสรุปง่าย ๆ เราจะเห็นผลของการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจชะลอลง แต่ความที่เงินเฟ้อยังสูง ดอกเบี้ยก็ไม่สามารถปรับลดลงได้ ยังยืนอยู่ที่ระดับสูง ซึ่งแปลว่าการลงทุนในตลาดหุ้นก็ไม่น่าจะดี

ทีนี้พอไม่น่าจะดีแล้ว แต่ความที่สภาพคล่องยังเยอะอยู่ เพราะว่าสภาพคล่อง QE ที่เคยฉีดกันเข้ามา 2 ปีที่ผ่านมา ก็เพิ่มขึ้นเท่าตัว ในสหรัฐก็เพิ่มขึ้น 4 ล้านล้านเหรียญ ตอนนี้ลดลงเดือนละ 9.5 หมื่นเหรียญ ก็ต้องใช้เวลา 3-4 ปี กว่าจะลดลงหมด

ฉะนั้นแน่นอนว่าสภาพคล่องก็ยังสูงอยู่ พอสภาพคล่องสูงปุ๊บ มันก็จะต้องไปตลาดหุ้นบางตลาดที่เพอร์ฟอร์มได้ดี ทีนี้จะดูว่าตลาดหุ้นไหนจะดี ก็ต้องตลาดหุ้นที่เศรษฐกิจยังไปได้อยู่ เช่น ตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นจีน และก็อาจจะบางตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market)

ตลาดที่ไม่น่าจะดี น่าจะเป็นตลาดหุ้นในอเมริกา ตลาดหุ้นในยุโรป ซึ่งตรงนี้ชัดเจนว่าอเมริกาเจอปัญหา และก็ยุโรปเจอปัญหาเรื่องวิกฤตพลังงาน

GDP ไทยขยายตัวสูงสวนทางหลายประเทศ

ไทยก็จะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในปี 2566 ที่มีเศรษฐกิจที่ขยายตัวสูงขึ้นกว่าปี 2565 ในขณะที่ทุกคนจะลดลงหมด “ก็จะมีเรา ที่มีการท่องเที่ยวกลับมา และมีจีน เพราะเพิ่งจะเริ่มเปิดประเทศ”

ดังนั้นตลาดหุ้นไทยก็จะเป็นหนึ่งในตลาดที่น่าสนใจในการลงทุน จากการที่เศรษฐกิจมีโมเมนตัมที่สูงขึ้น และเป็นอะไรที่นักลงทุนน่าจะมีความเชื่อมั่นพอสมควรในเทรนด์ของเศรษฐกิจ เพราะเป็นเรื่องของการฟื้นตัวการท่องเที่ยว

และทุกคนก็เชื่อว่าวันนี้จริง ๆ ถึงแม้เศรษฐกิจโลกชะลอ แต่ประชาชนก็ยังไม่ถึงขั้นเหมือนวิกฤตซับไพร์มหรือวิกฤตโควิดที่ทุกคนหยุดหมด เป็นวิกฤตที่เฟดพยายามจะชะลอเศรษฐกิจ ในส่วนอื่นของภาคเศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหาอะไร คนยังมีเงินอยู่ แต่ทุกคนจะประหยัดในบางเรื่อง แต่จะใช้จ่ายเรื่องท่องเที่ยว

ฉะนั้นท่องเที่ยวน่าจะมาแน่ น่าจะฟื้นตัวแน่ ๆ ไม่น่าจะมีผลอะไรมาก และเราก็โชคดีที่ท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะมาบูตให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย

กาง 4 ประเด็นหนุนตลาดหุ้นไทย

ก็เลยมองประเด็น 1.เรามีการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและค่อนข้างที่จะแน่นอน 2.เงินเฟ้อถือว่าแบงก์ชาติไทยดูแลได้ดี ดอกเบี้ยเราไม่ต้องขึ้นเยอะ โชคดีเรามีเงินทุนสำรองเยอะ ที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเยอะ พอไม่ขึ้นเยอะ ผลต่อเศรษฐกิจก็มีไม่มาก 3.เรามีบริษัทจดทะเบียนที่ยังแข็งแรง กำไรในปี 2566 ก็ยังเติบโตได้ดี และสุดท้าย 4.เรื่องของการเมือง ช่วง 4-5 เดือนแรกปี 2566 จะเป็นเรื่องของการหาเสียง ช่วงหาเสียงเงินก็สะพัด และรอบนี้เงินคงสะพัดหนัก เพราะว่าแบ่งเป็นหลายพรรคมาก ทุกคนอยากชนะ ผมคิดว่าช่วงครึ่งปีแรกก็น่าจะสะพัด ก็จะมีเรื่องการเลือกตั้งเข้ามา

ส่วนครึ่งปีหลัง ผมก็คิดว่า ทุก ๆ นโยบายก็คงน่าจะมี honeymoon period และนโยบายส่วนใหญ่ก็คงเป็นนโยบายที่เน้นการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อเนื่อง ในแง่ของเซนติเมนต์ต่าง ๆ ก็น่าจะที่จะค่อยข้างดี และถ้ามองเป็นอย่างนี้แล้ว ก็ถือว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับไปสู่ขาขึ้นได้ในปีหน้า

ทีนี้จะขึ้นได้ไม่แรง ก็อาจจะขึ้นได้ไม่เยอะมาก เพราะว่าถูกบีบด้วยตัวตลาดหุ้นโลกที่ไม่ได้เพอร์ฟอร์มเท่าไร ฉะนั้นเรา outperform แน่ ๆ เพียงแต่ absolute perform จะขึ้นแค่ไหน ก็ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของตลาดทุนโลกเป็นหลักด้วย อย่างปี 2565 ถือว่าเราชนะ คือตลาดหุ้นโลกติดลบ แต่เราติดลบนิดเดียว แต่ปี 2566 ผมคิดว่าเรามีโอกาสกลับไปเป็นบวก เพราะเศรษฐกิจจะดีขึ้น Index น่าจะสูงกว่าปี 2565 แต่จะสูงได้แค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพของตลาดหุ้นโลกจะเอื้อแค่ไหน

Q:ทิศทางฟันด์โฟลว์จะเป็นอย่างไร

นายไพบูลย์ กล่าวต่อว่า มองว่าเงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) จะเข้ามาในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยปี 2565 เข้ามาแล้ว 1.8 แสนล้านบาท เป็นครั้งแรกที่ในปีปฏิทินที่เข้ามาในระดับนี้ ผมคิดว่าสูงสุดที่เคยเห็น ต้องย้อนไป 15 ปีที่แล้ว แต่ตัวเลขต่ำกว่านี้เยอะ แสนกว่า ๆ งานนี้เกือบ 2 แสนล้านบาท ก็เป็นครั้งแรก เพราะจริง ๆ แล้วเงินนอกไม่ได้ไหลเข้ามาบ้านเรานานแล้ว ถ้าไปดู 10 ปีที่ผ่านมาไหลออกเกือบทุกปี ก็คิดว่าน่าจะไหลเข้ามาจากการที่ทั่วโลกดูแล้วไม่ค่อยปลอดภัย ซึ่งเราก็เป็น safe haven

และอีกประเด็นที่ลืมพูดเรื่องค่าเงิน พอท่องเที่ยวมา ค่าเงินก็แข็ง นักลงทนยิ่งชอบเพราะไม่ขาดทุนจากค่าเงิน ได้สองเด้ง แต่อาจจะติดประเด็นถ้าทำจริง เรื่องภาษีขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ก็อาจจะเป็นปัจจัยลบหนึ่ง ถ้าเขาอยากทำในช่วงเวลานั้นก็อาจจะกระทบเรื่องสภาพคล่อง ดูอยู่ว่าในช่วงสั้น ๆ  ก็หวังว่าจะกระทบไม่มาก เพราะคนก็ยังเห็นว่าไม่มีตลาดไหนไป ก็ยังเข้ามาอยู่ แต่ผมคิดว่ายังไงสภาพคล่องก็จะลดลงจากภาษีตัวนี้ในระยะยา ซึ่งต้องดูอิมแพ็กต์ของมันต่อไป

Q: โฟลว์จะไหลเข้าหุ้นกลุ่มไหนเป็นหลัก

ต้องเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ Reopening เปิดประเทศ กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การบริโภคในประเทศ เพราะปี 2566 อะไรที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไม่น่าจะดี เพราะส่งออกทุกคนคิดว่าไม่น่าจะโตได้ ที่จะโตหลัก ๆ มาจากการท่องเที่ยวในประเทศ การบริโภคในประเทศ และการลงทุนในประเทศ

Q: มองกรอบดัชนี SET Index ปี 2566 อย่างไร

นายไพบูลย์ กล่าวตอนท้ายว่า สำหรับกรอบเคลื่อนไหวดัชนี SET Index ปี 2565 น่าจะปิดที่บริเวณ 1,650 จุด ส่วนปี 2566 คาดเป้าน่าจะเกิน 1,700 จุด หรืออยู่ที่ระดับ 1,750 จุด น่าจะเป็นไปได้ แต่กรอบจะวิ่งอยู่ประมาณนี้ 1,650-1,750 จุด เป็นกรอบของปี 2566