แบงก์ลดคน-ลดสาขาไม่หยุด อีก 3 ปีหาย 50% สู่ยุค Virtual Bank

ตู้เอทีเอ็ม

แบงก์ชาติเปิดตัวเลขสาขาธนาคารช่วงโควิดลดลง 1,120 แห่ง เผย 11 เดือนแรกปีนี้ลดลง 334 สาขา จับตา “กรุงเทพ-ทีทีบี-ไทยพาณิชย์-กรุงไทย” ปิดสาขามากสุดปีนี้ “ผยง ศรีวณิช” บิ๊กกรุงไทย ยอมรับเทรนด์สาขาปิดตัวมากขึ้น ยกเครื่องงานสาขา-โยกธุรกรรมขึ้นดิจิทัล พร้อมเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ “ลดคน” ต่อเนื่อง ซุ่มจับมือพันธมิตรวางแผนเปิด “virtual bank” ซีไอเอ็มบี ไทย มอง 3-5 ปี สาขาหายจากระบบ 50% ปรับบทบาทเน้นให้บริการลูกค้ามั่งคั่ง ธปท.เตรียมคลอดไลเซนส์ธนาคารไร้สาขาปลายปี 2566

11 เดือนลดลง 334 สาขา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลจำนวนสาขาในประเทศไทยของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ พบว่า ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ 5,316 แห่ง ปรับลดลง 334 แห่ง จากเดือนธันวาคม 2564 ที่มีอยู่ 5,650 แห่ง ทั้งนี้ หากนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่าจำนวนสาขาปรับลดลงถึง 1,120 แห่ง จากเดือนมีนาคม 2563 ที่มีจำนวน 6,436 แห่ง

สำหรับในช่วง 11 เดือนแรกปีนี้ ธนาคารทั้งระบบมีการปรับลดสาขาลง 334 แห่ง พบว่า ธนาคารกรุงเทพ ปรับลดสาขามากสุด 157 แห่ง จากสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 1,059 แห่ง ในเดือน พ.ย. 66 อยู่ที่ 902 แห่ง รองลงมาคือ ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb) ปรับลดลง 62 แห่ง จาก 636 แห่ง เหลือ 574 แห่ง และอันดับ 3 ธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดลง 40 แห่ง จาก 754 สาขา ลดเหลือ 714 สาขา และธนาคารกรุงไทย ปรับลดลง 31 สาขา จาก 981 สาขา เหลือ 950 สาขา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ มีการเปิดจุดให้บริการรวม 91 แห่ง รวมทั้งธนาคารกรุงไทยที่มีการเปิดจุดให้บริการทั้งสิ้น 46 แห่ง

กรุงไทย “ลดคน-ลดสาขา”

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มสาขาธนาคารจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามพฤติกรรมและโมเดลของธุรกิจ ซึ่งอาจจะมีการโยกย้ายสาขาไปในจุดที่มีธุรกรรมหนาแน่น แต่การปรับเปลี่ยนโยกย้ายพื้นที่สาขาอาจจะไม่เกิดขึ้นแบบ 1 ต่อ 1 ส่งผลให้จุดบริการสาขาของธนาคารน้อยลง อย่างไรก็ดี แม้ว่าสาขาน้อยลง แต่จะเห็นว่าธนาคารได้พัฒนาการให้บริการขึ้นไปอยู่บนดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วและสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้

ขณะที่ในส่วนของพนักงานธนาคารก็มีการปรับลดลง โดยปัจจุบันอยู่ที่ราว 17,000 คน ตอนนี้ธนาคารกรุงไทยปรับลดคนโดยธรรมชาติ โดยมีการเปิดโครงการร่วมใจจาก (MSP) อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีการรับคนใหม่เข้ามา แต่น้อยกว่าคนที่ออกไป และส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่เน้นด้านเทคโนโลยี

ธนาคารจะพัฒนาบริการให้ไปอยู่บนดิจิทัลมากขึ้น โดยล่าสุดธนาคารได้พัฒนาฟีเจอร์ “เป๋าตังเปย์” เป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ที่เป็นระบบเปิด สามารถทำงานร่วมกับทุกสถาบันการเงิน สามารถโอนเงิน ชำระเงิน และซื้อสินค้า ซึ่งเป็นฟีเจอร์ใหม่ต่อยอดบนแอป “เป๋าตัง” ให้ครบวงจรมากขึ้น และอนาคตก็จะพัฒนาไปสู่บริการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าได้

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าในส่วนของการให้บริการบนดิจิทัล ตอนนี้ที่รุดหน้าไปมากยังอยู่เฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากกว่า แต่สำหรับกลุ่มลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอี ถือเป็นโจทย์ท้าทายก้าวต่อไปของธนาคาร

ยกเครื่องสาขา-เปลี่ยนงาน

นายผยงกล่าวว่า ขณะนี้ส่วนงานสาขามีการปรับเปลี่ยนเยอะมาก และคิดว่าอนาคตจะมีการปรับลดและปิดสาขาอีกจำนวนมาก เพราะพฤติกรรมลูกค้าใช้บริการสาขาลดลง อย่างล่าสุดได้เข้าไปเยี่ยมที่สาขาพารากอน พนักงานบอกลูกค้าใช้บริการน้อยลงมาก หมายความว่าสาขาต้องเปลี่ยนเป็นการให้บริการด้าน wealth เป็นบริการโซลูชั่นลูกค้าเอสเอ็มอี ซึ่งก็ต้องปรับเปลี่ยนและโยกคน

“อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนต่าง ๆ จังหวะเวลาเป็นสิ่งสำคัญ เปลี่ยนเร็วไป คนปรับไม่ทันก็โวย เปลี่ยนคนเร็วสภาพแวดล้อมไม่พร้อมก็มีปัญหาเช่นกัน”

นายผยงกล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาธนาคารติดกับดัก กระบวนทำงานในสาขา ขณะนี้เพิ่งรื้อระบบใหม่ โดยออกแบบให้ระบบงานบริการสาขาเป็นแบบ in parallel คือเมื่อลูกค้าเข้ามาที่สาขา สามารถทำอะไรทุกอย่างพร้อมกันได้ เพื่อเพิ่มโปรดักติวิตี้ ซึ่งทำให้ลูกค้าใช้เวลาในสาขาน้อยลง

พร้อมสู่ธนาคารไร้สาขา

นายผยงกล่าวว่า สำหรับแผนการก้าวไปสู่การเป็นผู้ให้บริการ virtual banking หรือธนาคารไร้สาขานั้น ธนาคารยังคงต้องรอดูหลักเกณฑ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะออกมาก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการเปลี่ยนเกณฑ์เฮียริ่งในช่วงต้นปี 2566 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าขณะนี้ธนาคารกรุงไทยก็มีการเจรจาความร่วมมือกับพันธมิตรไว้แล้ว ซึ่งในส่วนของ virtual banking จะต้องเป็นการขอรับใบอนุญาตใหม่

“กรณี virtual banking ตอนนี้เรารอดูเกณฑ์จากแบงก์ชาติว่าจะออกมายังไง ส่วนจุดบริการสาขาน้อยลง เรามองว่าเป็นการทยอยปรับเปลี่ยนไปตามโมเดลธุรกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป สาขาอาจน้อยลง แต่เราอาจจะไปเพิ่มร้านค้าที่ลูกค้าใช้บริการมากขึ้น ซึ่งก็ต้องกลับไปดูว่าลูกค้าอยู่ตรงไหน และใช้บริการอะไร”

3-5 ปีสาขาแบงก์หาย 50%

ด้านนายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้บริหารผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมสาขาธนาคารจะเห็นว่าทยอยปรับลดลงต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา และแนวโน้มสาขาธนาคารในอนาคตจะยังคงเห็นการทยอยปรับลดลงต่อเนื่อง ประเมินว่าภายใน 3-5 ปี จำนวนสาขาธนาคารจะปรับลดลงมากกว่า 50% หรือหายไปครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่ในปัจจุบัน
โดยสาขาที่มีเหลืออยู่จะกระจุกตัวอยู่ในห้างสรรพสินค้า และเน้นการให้บริการทางด้านการลงทุนกับลูกค้ากลุ่มเฉพาะ หรือกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (wealth management) ส่วนกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่เน้นการทำธุรกรรมพื้นฐาน ฝาก ถอน โอน จะย้ายขึ้นไปอยู่บนโมบายแบงกิ้ง

นายเอกชัยกล่าวว่า ทิศทางการลดลงของสาขาธนาคาร สอดคล้องกับ ธปท.ที่ได้ออกภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (financial landscape) ซึ่งจะมีส่วนหนึ่งที่กล่าวถึงการสนับสนุนการเปิดให้บริการ “ธนาคารเสมือนจริง” หรือ virtual banking เนื่องจากในอนาคตคนจะไม่เดินเข้าสาขา และทุกอย่างจะไปอยู่บนสมาร์ทโฟน เพื่อให้คนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น

ทั้งนี้จะเห็นว่าในหลายประเทศได้เริ่มมีการจัดตั้ง virtual banking แล้ว เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไต้หวัน และจีน ซึ่งประเทศไทยก็กำลังจะไปทิศทางนั้น จากปัจจุบันลูกค้าสามารถเปิดบัญชีผ่าน NDID หรือการยืนยันตัวตน e-KYC ผ่านร้านสะดวกซื้อได้ และบริการทางการเงิน เช่น ฝาก ถอน โอน จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอีโคซิสเต็มระบบการเงิน โดยคาดว่าปลายปี 2566 ธปท.น่าจะมีหลักเกณฑ์ออกมาชัดเจนเกี่ยวกับการขอใบอนุญาต virtual banking

“เชื่อว่าไม่เกิน 2 ปี น่าจะเริ่มเห็นคนทำ virtual banking เพราะปัจจุบันก็มีรายใหญ่ให้ความสนใจ และธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมจะกลายเป็นสิ่งโบราณ แต่การทำ virtual banking ไม่ใช่แค่บริการทางการเงิน แต่จะต้องมีจุดแข็งเรื่องของไลฟ์สไตล์ด้วย เพราะไม่อย่างนั้นทุกคนจะเป็นแค่โมบายแบงกิ้ง”

SCB ปักธง Digital Banking

นายชาลี อัศวะธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารมองว่า virtual banking จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่างของตลาดเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ดี โดยหลักการต้นทุนในการบริหารบริการ virtual banking จะต่ำกว่าสถาบันการเงินทั่วไป โดยประโยชน์ทั้งหมดจะตกอยู่ที่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ยังมุ่งหน้าพัฒนาประสบการณ์ของลูกค้าทั้งในรูปแบบปกติ (physical channel) และแบบออนไลน์ (online channel) โดยจะนำเสนอประสบการณ์ไร้รอยต่อระหว่างช่องทางทั้งสองรูปแบบ ทั้งนี้ ธนาคารปักหลักให้ SCB Easy เป็นหัวเรือหลักในการนำเสนอประสบการณ์ที่ดีที่สุดในรูปแบบ digital banking

ขีดกรอบกติกา Virtual Banking

ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับ virtual banking ว่า ธปท.อยู่ระหว่างการทำกรอบกติกา และเกณฑ์ขั้นต่ำที่ผู้สนใจทำจะต้องมี เช่น กฎเกณฑ์เงินทุนขั้นต่ำ และที่สำคัญคือ business model กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร หรือขั้นตอนกระบวนการรับฝากเงินจะเป็นอย่างไร เป็นต้น ทั้งหมดจะต้องตอบโจทย์สิ่งที่ ธปท.คาดหวัง โดยหลักเกณฑ์การอนุมัติจะออกภายในต้นปี 2566 และการอนุมัติการให้ใบอนุญาต (virtual banking license) คาดว่าจะอยู่ภายในปลายปี 2566

ทั้งนี้ ข้อแตกต่างระหว่างโมบายแบงกิ้ง และ virtual banking จะเห็นว่าโมบายแบงกิ้งจะเป็นเรื่องของการโอนเงิน ชำระเงินอย่างเดียว แต่ virtual bank จะเป็นเรื่องของการให้บริการอย่างอื่น เช่น การให้สินเชื่อ และอื่น ๆ และไม่ได้ใช้แค่เครื่องมือ แต่เป็นการใช้ข้อมูลทางเลือก (alternative data) ขณะเดียวกันโมบายแบงกิ้งยังอยู่บนพื้นฐาน core banking ของธนาคาร แต่ virtual bank จะใช้ระบบอะไรที่แตกต่างและแยกออกมา ไม่มีสาขาที่เป็น physical

ขณะที่ผลต่อผู้ใช้บริการ ธปท.ก็หวังว่าจะเข้าถึงบริการที่ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่ถูกลง และคนเข้าไม่ถึงธนาคารก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยข้อมูลอื่น ๆ เช่น ในประเทศจีนจะใช้ข้อมูลทางเลือก เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อดูวินัยการชำระเงิน และอาจไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่ม under bank แต่อาจต้องตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป เพราะกลุ่มนี้ไม่ไปสาขาธนาคารแล้ว และสะดวกในการใช้บริการ virtual bank