บาทเคลื่อนไหวเบาบาง หลังไร้ปัจจัยใหม่ ๆ เพิ่มเติม

เงินบาท

บาทเคลื่อนไหวเบาบาง หลังไร้ปัจจัยใหม่ ๆ เพิ่มเติม ขณะที่ปัจจัยในประเทศ กระทรวงอุตฯ เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (PMI) เดือนพ.ย. ขยายตัวร้อยละ 1.55 ตอบรับการบริโภคในประเทศฟื้นตัว สะท้อนเศรษฐกิจขยายตัว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตาดเช้าวันนี้ (28/12) ที่ระดับ 34.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (27/12) ที่ระดับ 34.63/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสหรัฐมีเพียงการประกาศผลสำรวจของเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร์ บ่งชี้ว่า ราคาบ้านในสหรัฐได้ชะลอตัวในเดือน ต.ค.

ทั้งนี้ ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศในสหรัฐเพิ่มขึ้น 9.2% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี แต่ต่ำกว่าระดับ 10.7% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีราคาบ้านลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ ดัชนีราคาบ้านชะลอตัวลง โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ตามการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (PMI) เดือนพฤศจิกายน ปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ตอบรับการบริโภคในประเทศฟื้นตัว หลังเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวขยายตัว สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่กลับเข้ามาในประเทศ รวมถึงปัญหาข้อจำกัดในการผลิตได้คลี่คลายลง คาดปีหน้าดัชนี MPI ขยายตัวต่อเนื่อง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (PMI) เดือนพฤศจิกายน ปี 2565 อยู่ที่ 95.11 ขยายตัวร้อยละ 1.55 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ ร้อยละ 62.63

สำหรับภาพรวมดัชนี MPI สะสม 11 เดือนของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 98.68 ขยายตัวร้อยละ 1.41 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิต สะสม 11 เดือน เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.02 เป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ปัญหาข้อจำกัดในการผลิตได้คลี่คลายลง อาทิ ค่าระวางเรือมีทิศทางลดลง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้คาดว่าดัชนีอุตสาหกรรมจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2566 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 34.62-34.76 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (26/12) ที่ระดับ 1.0630/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างวันเคลื่อนไหวในกรอบจำกัดเนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0624-1.0654 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0634/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (28/12) ที่ระดับ 133.68/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (27/12) ที่ระดับ 133.18/20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าขึ้นเล็กน้อย หลังในการประชุมเมื่อวันที่ 19-20 ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ BOJ มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1%

แต่ BOJ ได้สร้างปรากฏการณ์ช็อกตลาดด้วยการประกาศขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของรัฐบาลญี่ปุ่นให้เคลื่อนไหวในช่วง -0.5% ถึง +0.5% จากเดิมที่อยู่ในกรอบ -0.25% ถึง +0.25% ซึ่งตลาดตีความว่าเป็นการส่งสัญญาณเริ่มใช้นโยบายคุมเข้มการเงิน หลังจากที่ BOJ รักษาจุดยืนในการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษมาเป็นเวลานาน ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.34-134.40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนพฤศจิกายน, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคม จาก Conference Board, ยอดขายบ้านมือสองเดือพฤศจิกายน และสต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.5/-9.5 สตางค์/ดอลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ -21.0/-15.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ