
ส.ธนาคารไทยลงขันตั้งบริษัทหนุนดิจิทัลไอดีเกิดแล้ว ใส่ทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท คาดกลางปีพร้อมรองรับโครงการนำร่อง “e-KYC” หนุนการใช้พิสูจน์ตัวตนจากการเปิดบัญชีออนไลน์ของแบงก์ ชี้ภาคเอกชน-รัฐเข้าใช้ข้อมูลพรึ่บ
นายปรีดี ดาวฉาย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัท เพื่อนำระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวต้นทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ digital ID platform มาใช้ว่า ทางสมาคมได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว โดยมีทุนจดทะเบียนรวมอยู่ที่ 100 ล้านบาท ซึ่งมี 7 หน่วยงานที่ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทใหม่นี้
ซึ่งประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทยที่มีสมาชิกเป็นธนาคารพาณิชย์ 15 แห่ง, สมาคมประกันชีวิตไทย, สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย, บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ฯลฯ
ด้านแหล่งข่าวในวงการเงินกล่าวว่า บริษัทดังกล่าวจะให้บริการฐานข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนของบุคคล ซึ่งข้อมูลจะมาจากการเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมการปกครอง เป็นต้น โดยกลุ่มที่จะมาใช้บริการข้อมูลดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์, บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ และภาคเอกชน ที่ต้องการพิสูจน์ตัวตนของลูกค้า หรือตรวจสอบข้อมูลทางการเงินของลูกค้า โดยคาดว่าบริษัทจะเริ่มให้ประกาศแผนที่ชัดเจนออกมาได้กลางปีนี้
ทั้งนี้ โครงการนำร่อง คือ ระบบการพิสูจน์ตัวตน “e-KYC” ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลรองรับในการเปิดบัญชีแบบดิจิทัล หรือเปิดบัญชีออนไลน์ แทนการเปิดบัญชีที่สาขา และอนาคตอาจขยายไปสู่การใช้e-KYC เข้ามาเพื่อใช้เปิดพอร์ตซื้อขายหุ้น เป็นต้น
“บริษัทนี้เป็นเหมือนตัวกลางในการไปคุยกับแบงก์ หรือหน่วยงานต่าง ๆที่อยากใช้ข้อมูลเพื่อนำไปพิสูจน์ตัวตน ดังนั้นสิ่งที่บริษัทจะได้คือรายได้ จากการให้บริการด้านข้อมูลกับหน่วยงานนั้น ๆ โดยคาดว่าบริษัทนี้จะเริ่มมีรายได้เข้ามาได้ราวปี 2562 เป็นต้นไป” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัทดังกล่าว สมาคมธนาคารไทย ถือหุ้น42.5% โดยแต่ละธนาคารแบ่งการถือหุุ้นและลงทุนตามขนาดสินทรัพย์ เช่นธนาคารใหญ่ 4 แห่ง ถือหุ้นใกล้เคียงกัน 6-7% หรือลงทุนแบงก์ละ 6-7 ล้านบาทต่อธนาคาร เป็นต้น
ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทดังกล่าวจะสอดคล้องกับแผนของรัฐบาลที่ต้องการให้เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์ม และสอดคล้องกับแผน doing business เพื่อให้ภาคธุรกิจทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น ผ่านการมีข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้าน
นายอนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษาคณะกรรมการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า โครงการ digital ID จะมีคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง 3 คณะ ได้แก่ 1.ทีมเทคนิค ทำเรื่องระบบอิเล็กทรอนิกส์ 2.ทีมนำร่อง ซึ่งจะมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และ 3.ทีมกฎหมาย
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่าในส่วนที่เกี่ยวกับการพิสูจน์ยืนยันตัวตนนั้น มีแผนที่จะต้องยกร่างให้แล้วเสร็จในเดือน เม.ย. จากนั้นก็จะเสนอให้นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมว.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบเรื่องนี้พิจารณา
“กฎหมายจะเป็นเรื่องการใช้ข้อมูลเพื่อยืนยันตัวตน ส่วนการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นอีกส่วน” นายประภาศกล่าว