สมาคมเช่าซื้อ เคลียร์ “ลดต้นลดดอก” คิดแบบไหน

ไฟแนนซ์, ธุรกิจเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง

สัญญาเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ฉบับใหม่ กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันอังคารนี้ (10 ม.ค.) แต่คำถามว่า คิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกแบบสินเชื่อบ้านไหม ยังมีอื้ออึง 

วันที่ 7 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ใกล้เข้ามาทุกขณะ สำหรับประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเกี่ยวกับเรื่องเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 10 มกราคม 2566 นี้

สาระสำคัญนอกจากการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ไม่เกิน 10% ต่อปี รถใช้แล้ว ไม่เกิน 15% ต่อปี และรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 23% ต่อปี

แต่ยังพบว่ายังมีประเด็นการกำหนดการคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบ “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี” (Effective interest Rate) หรือที่รู้จักในอัตราดอกเบี้ย “ลดต้นลดดอก” ที่ประชาชนและผู้บริโภคยังเกิดความสงสัย และยังไม่เคลียร์ว่าการคิดดอกเบี้ยแบบดังกล่าว จะช่วยประหยัดอัตราดอกเบี้ยได้ รวมถึงสามารถนำเงินมาโปะเพื่อลดภาระดอกเบี้ยในลักษณะเดียวกับ “สินเชื่อที่อยู่อาศัย” นั้น

เหตุเกิดจากมีกฎหมาย 2 ฉบับกำกับอยู่

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถาม “แหล่งข่าวจากสมาคมเช่าซื้อไทย” ถึงกรณีดังกล่าวเพื่อยืนยันข้อสงสัยระหว่างการคิดอัตราดอกเบี้ย “ลดต้นลดดอก” ระหว่าง “สินเชื่อเช่าซื้อ” และ “สินเชื่อที่อยู่อาศัย” มีความแตกต่างอย่างไร และผู้บริโภคจะได้ประโยชน์อะไรจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ย “ลดต้นลดดอก”

ซึ่งได้มีการอธิบายว่า ตามหลักคิดอัตราดอกเบี้ยสำหรับธุรกิจเช่าซื้อ จะอ้างอิงกฎหมาย 2 ตัว คือ กฎหมายแพ่งพาณิชย์ โดยมีการกำหนดว่า การทำเช่าซื้อจะต้องทำสัญญารับผ่อนและกำหนดชำระเป็นงวดๆ และแต่ละงวดเท่ากัน ซึ่งเรียกว่า “ดอกเบี้ยคงที่” หรือ “Flat Rate”

แต่หลังจากนั้น การบันทึกบัญชีของเช่าซื้อ จะต้องลงบัญชีเป็นอัตราดอกเบี้ย “ลดต้นลดดอก” ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายสากลทั่วโลกที่ใช้กันอยู่ โดยในไทยจะมีสภาวิชาชีพบัญชีเป็นผู้กำกับและดูแล

ดังนั้น แปลว่า หากทำตามกฎหมาย 2 ฉบับ ธุรกิจเช่าซื้อจะต้องทำสัญญาภายใต้อัตราดอกเบี้ย “Flat Rate” และเมื่อนำไปบันทึกบัญชีเพื่อเสียภาษี จะต้องแปลงดอกเบี้ยจาก “Flat Rate” มาเป็น “Effective Rate” ทำให้ภาระการผ่อนและอัตราดอกเบี้ยเมื่อคำนวณมาแล้วจะเท่ากัน ไม่ได้แตกต่างกัน

โปะบัญชีเพื่อลดภาระดอกเบี้ยแบบสินเชื่อบ้านไม่ได้

สำหรับข้อสงสัยในเรื่อง การผ่อนชำระค่างวด แม้ว่าจะคำนวณภายใต้อัตราดอกเบี้ย “ลดต้นลดดอก” หรือ “Effective Rate” ก็ตาม ลูกค้าจะไม่สามารถนำเงินมาโปะบัญชี เพื่อขอลดภาระดอกเบี้ยเหมือนการผ่อนชำระ “สินเชื่อที่อยู่อาศัย” ได้

เช่น กรณี ลูกค้านำเงินมาชำระพร้อมกัน 3 งวด หากเป็นการชำระสินเชื่อเช่าซื้อ สถาบันการเงินจะนำเงินค่างวดที่ได้รับตัดภาระหนี้ในงวดปัจจุบัน 1 งวด และที่เหลืออีก 2 งวด จะเป็นการตัดบัญชีล่วงหน้า (Advance) ไปอีก 2 งวดหรือ 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งไม่ได้ทำให้ภาระดอกเบี้ยลดลงแต่อย่างใด เพียงแต่ในช่วง 2 งวดข้างหน้าลูกค้าไม่ต้องชำระเงินแล้วแค่นั้น

อย่างไรก็ดี ยกเว้นกรณี ลูกค้านำเงินมาโปะเพื่อปิดบัญชีเพียงครั้งเดียว ซึ่งลูกค้าจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้ซึ่งเป็นไปตามที่ สคบ.กำหนด เช่น กรณีชำระค่างวดมาแล้ว 1 ใน 3 ของค่างวดเช่าซื้อได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ หรือกรณี ชำระค่างวดไม่เกิน 2 ใน 3 ให้ส่วนลดไม่น้อยกว่า 60% และกรณีชำระค่างวดเกิน 2 ใน 3 ขึ้นไปไม่คิดอัตราดอกเบี้ย

ซึ่งหากเปรียบเทียบ “สินเชื่อที่อยู่อาศัย” ที่คิดอัตราดอกเบี้ย “ลดต้นลดดอก” จะพบว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยจะเป็นสินเชื่อประเภทหนึ่งที่ลูกค้าสามารถนำเงินมาโปะ “เงินต้น” เพื่อขอรับการลดภาระอัตราดอกเบี้ยได้ และหลายๆ ครั้ง ผู้ผ่อนบ้านจะได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สินเชื่อหรือการตลาดถึงอัตราการผ่อนชำระงวดละเท่ากัน งวดละเท่าไร เพื่อให้ผู้ผ่อนบ้านเข้าใจง่ายต่อการตัดสินใจกู้

แต่การผ่อนสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับให้ผ่อนงวดละเท่า ๆ กัน เช่นเดียวกับการผ่อนธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์

โปะเพื่อปิดบัญชีได้

ดังนั้น สรุปได้ว่า ธุรกิจเช่าซื้อ คือ การผ่อนชำระแบบลดต้นลดดอกอยู่แล้ว ซึ่งไม่ตรงกับผู้บริโภคเข้าใจว่า ประกาศใหม่ของ สคบ.จะเปลี่ยนการคำนวณดอกเบี้ยแบบ “คงที่” มาเป็นแบบ “ลดต้นลดดอก” แต่อย่างใด

และการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกของ “สินเชื่อเช่าซื้อ” จะแตกต่างจาก “สินเชื่อที่อยู่อาศัย” ที่ไม่สามารถนำเงินมาโปะเงินต้นเพื่อลดดอกเบี้ยหลายเดือนได้ แต่สามารถนำเงินมาโปะเพื่อปิดบัญชีได้ และได้ส่วนลดดอกเบี้ยตามจำนวนงวดที่ผ่อนชำระไปตามขั้นบันไดของประกาศ สคบ.


“การคำนวณค่างวดของลูกค้าเช่าซื้อ หลักการ คือ การนำดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก มาคำนวณเฉลี่ย ๆ ให้เป็นรายเดือน เดือนละเท่า ๆ กัน หรือเป็นดอกเบี้ยคงที่ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจของลูกค้า และซึ่งรวมของมาแล้วภาระเงินต้นและภาระดอกเบี้ยที่ลูกค้าจะต้องจ่ายเท่ากัน ไม่ว่าจะคำนวณด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบใดก็ตาม แต่ลูกค้าจะได้ประโยชน์จากประกาศใหม่ฉบับนี้ คือ การปิดบัญชีเท่านั้น”