สัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ อลเวง ดอกเบี้ย “ลดต้น ลดดอก” ยังคลุมเครือ

เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง

10 มกราคม 2566 นี้ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์-จักรยานยนต์ฉบับใหม่ ที่คิดดอกเบี้ยแบบ “ลดต้น ลดดอก” ซึ่งประกาศโดยคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา จะมีผลบังคับใช้

สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้กำหนดให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์คิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี หรือ Effective Interest Rate แบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด ไม่ใช่คิดดอกเบี้ยแบบเงินต้นคงที่ (Flat rate) แบบเดิม ที่ทำให้ลูกค้าหรือผู้ที่เช่าซื้อเสียเปรียบบริษัทเช่าซื้อหรือลีสซิ่งมานาน

อย่างไรก็ตาม ก่อนการบังคับใช้ ยังมีความคลุมเครือปนความไม่เข้าใจว่าสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ที่ระบุว่าเป็นการคิดดอกเบี้ยที่แท้จริง หรือ Effective Interest Rate แบบลดต้นลดดอก จะคล้ายกับการผ่อนกู้ซื้อบ้าน-ที่อยู่อาศัย ที่การผ่อนชำระจะลดลงจากเงินต้นที่ลดลงไปด้วยหรือไม่

ทำให้ผู้ที่มีแผนจะซื้อรถหลายรายต้องชะลอการซื้อรถออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนหลังประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับในวันที่ 10 มกราคม 2566

สมาคมเช่าซื้อยัน ยังใช้ดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุสัญญา

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย ได้มีประกาศชี้แจง เรื่องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการคำนวณดอกเบี้ย ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 มีใจความว่า

ด้วยมีการเผยแพร่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ย ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อ รถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 ว่าต่อไปจะให้คิดดอกเบี้ยเป็นแบบ อัตราดอกเบี้ยที่ แท้จริงต่อปี (Effective interest Rate) หรือที่เข้าใจกันว่าเป็นการลดต้นลดดอก จะสามารถประหยัดดอกเบี้ยและสามารถโปะได้เหมือนการผ่อนบ้านนั้น

สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยขอเรียนว่า ไม่ได้มีการเปลี่ยนระบบการคำนวณดอกเบี้ยใหม่แต่อย่างไร เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ สมาคมธุรกิจเช่าชื่อไทยขอเรียนว่า

การคิดดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดให้สินเชื่อเช่าซื้อ การ แบบ flat rate ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยแบบคงที่ตลอดอายุสัญญา เพื่อให้การคำนวณอัตราการผ่อนชำระให้มีจำนวนเท่ากันทุกงวด โดยมีทั้งดอกเบี้ยและต้นเงินในแต่ละงวด แต่ในการบันทึกบัญชีและการเสียภาษีอากรนั้น ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 17 (ฉบับปรับปรุง 2559) เรื่องสัญญาเช่า

โดยสภาวิชาชีพบัญชีแห่งประเทศไทย กำหนดให้การรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของสัญญาเช่าซื้อต้องคำนวณโดยวิธีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติตามปกติที่สถาบันการเงินหรือนิติบุคคลที่ทำธุรกิจเช่าซื้อจะต้องแปลงจาก flat rate มาคำนวณ เป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณดอกเบี้ยรายเดือน

กล่าวคือค่างวดที่ชำระมาจะนำไปหักดอกเบี้ยก่อน ที่เหลือจะหักเป็นต้นเงิน ซึ่งงวดนั้น ๆ จะมีดอกเบี้ยมากว่าต้นเงิน และงวดท้าย ๆ จะมีต้นเงินมากกว่าดอกเบี้ย เมื่อชำระครบ ต้นเงินก็จะถูกหักชำระครบด้วยเช่นเดียวกับการผ่อนบ้าน

ฉะนั้นการที่ สคบ.ประกาศให้ระบุการคิดดอกเบี้ยและการจัดทำตารางแนบท้าย โดยให้ระบุการคิดอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) นั้น ก็เพื่อให้ทราบว่าการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบ flat rate (แบบคงที่ตลอดอายุสัญญา) นั้น เมื่อนำมาคำนวณแบบที่แท้จริงต่อปี (Effective interest Rate) หรือที่เรียกกันว่า แบบลดต้นลดดอกนั้น ในทางปฏิบัติตามบัญชี นั้นอยู่ในอัตราเท่าใด

เพื่อที่ประชาชนจะได้ทราบอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง และใช้ในการตัดสินใจในการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินนั้น ๆ ต่อไป

ประกาศจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย
ประกาศจากสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย

สคบ.แจง ช่วยคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ

ถัดมา หลังสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยออกหนังสือชี้แจง วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาจากประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาฯ ฉบับปี 2561 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์นั้น ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ว่าการแก้ไขสัญญาดังกล่าวส่งผลให้การคิดดอกเบี้ยเป็นการคิดแบบลดต้นลดดอก

รัชดา ธนาดิเรก
รัชดา ธนาดิเรก : ภาพจาก thaigov

นางสาวรัชดากล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยตามประกาศฯ ฉบับนี้ เป็นการคำนวณแบบลดต้นลดดอก แต่คำว่า “ลดต้นลดดอก” นั้นจะต้องไปยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี (Effective Interest Rate) เช่น กรณีดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งคิดดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed Rate) นั้น จะต้องยึดโยงกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี

กล่าวคือการคิด ‘อัตราดอกเบี้ยคงที่’ นั้น ๆ จะต้องไม่เกินกว่า ‘อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงรายปี’ ที่กำหนดไว้ โดยผู้เช่าซื้อสามารถตรวจสอบได้จากตารางแสดงภาระหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อท้ายสัญญา ซึ่งจะดูได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่ และคำนวณเป็นดอกเบี้ยรายเดือนเท่าไหร่ ถ้าผู้เช่าซื้อไปดูดอกเบี้ยตามสัญญาแนบท้าย แล้วมาคำนวณ ดอกเบี้ยเบ็ดเสร็จจะต้องไม่เกินเพดานที่กำหนด หากเกินเพดานก็ถือว่าผู้ให้เช่าซื้อไม่ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้

นางสาวรัชดาย้ำสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ได้แก่ การคิดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ต้องคิดในอัตราที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ซึ่งหมายความว่า อัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวด

มากไปกว่านั้น ประกาศฯ ฉบับใหม่นี้ยังได้ระบุถึงการคำนวณยอดหนี้ผิดนัด ซึ่งก่อนหน้าผู้ประกอบการบางส่วนนำหนี้ทั้งก้อนไปคิดเป็นเบี้ยปรับ ถือเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้เช่าซื้อ ดังนั้น ประกาศฯฉบับใหม่จึงได้กำหนดให้คิดเบี้ยปรับได้ไม่เกิน 5% ต่อปี และให้คิดเบี้ยปรับจากยอดหนี้ที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ส่วนหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ให้เช่าซื้อไม่สามารถนำมาคิดเป็นเบี้ยปรับได้

ในส่วนของการเลิกสัญญาและการยึดรถ ประกาศฯ ฉบับเดิมเขียนไว้ว่า หนี้ที่ยังขาดอยู่ เจ้าหนี้เช่าซื้อสามารถเรียกเก็บจากผู้เช่าซื้อได้ โดยสามารถเรียกเก็บได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ แต่ประกาศฯ ฉบับใหม่จะให้คำนวณเฉพาะส่วนหนี้ที่ยังขาดชำระเท่านั้น ไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระได้

ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคาคม 2566 เป็นต้นไป ส่วนสัญญาเช่าซื้อฯ ที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 10 มกราคม 2566 จะยังคงเป็นไปตามประกาศฯ ฉบับปี 2561

จึงขอให้ประชาชนที่กำลังจะเช่าซื้อรถยนต์หรือจักรยานยนต์ และผู้ประกอบการทำความเข้าใจกับกฎหมายให้ดี

และขอเน้นย้ำว่า “วัตถุประสงค์หลักของประกาศฯนี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานาน” นางสาวรัชดากล่าว

เช่าซื้อรถยนต์-มอไซค์

ลีสซิ่งกสิกรไทย-ทีทีบี พร้อมปรับใช้สัญญาเช่าซื้อใหม่

ขณะที่ยังมีความคลุมเครือ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นายธีรชาติ จิรจรัสพร กรรมการผู้จัดการ ลีสซิ่งกสิกรไทย ออกมาเปิดเผยว่า จากประกาศคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ครอบคลุมเรื่องหลักที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เช่น การกำหนดเพดานดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์แบบลดต้นลดดอก แบ่งตามประเภทรถยนต์ โดยรถยนต์ใหม่คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 10% รถยนต์มือสอง 15% และรถจักรยานยนต์ 23%

การให้ส่วนลดดอกเบี้ยที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเมื่อมีการปิดสัญญาก่อนครบกำหนดโดยคิดเป็นแบบ 3 ขั้นบันได ได้แก่

  • กรณีผู้เช่าซื้อชำระค่างวดไม่เกิน 1 ใน 3 (<=1/3) ของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญา ให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 60% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ
  • กรณีผู้เช่าซื้อชำระค่างวดไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 แต่ไม่เกิน 2 ใน 3 (>1/3 ถึง <=2/3) ให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ
  • กรณีผู้เช่าซื้อชำระค่างวด ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 (>2/3) ให้ได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ครบกำหนดชำระ

ลีสซิ่งกสิกรไทยจึงได้เร่งดำเนินการปรับปรุงระบบและสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ เพื่อรองรับประกาศใหม่ดังกล่าว โดยนำร่องเป็นสถาบันการเงินแรก ก่อนวันที่เกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้ ซึ่งปรับให้ครอบคลุมทุกเกณฑ์ สคบ.ใหม่ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภค และปฏิบัติครอบคลุมตามแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ของธนาคารแห่งประเทศไทย

นายธีรชาติกล่าวว่า จากประกาศใหม่ของ สคบ. อาจมีความเข้าใจผิดในกลุ่มผู้บริโภคว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยรถใหม่ลดลง ซึ่งในหลักเกณฑ์ที่แท้จริง เป็นเพียงการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ย โดยในปัจจุบันดอกเบี้ยสินเชื่อรถใหม่มีอัตราที่ต่ำกว่าเพดานกำหนดอยู่แล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยในปี 2566 มีแนวโน้มอยู่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น

ซึ่งการตัดสินใจจองรถและออกรถช้าออกไป อาจทำให้ได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน จึงประสงค์ให้ลูกค้าได้รับทราบข้อเท็จจริง สิทธิและประโยชน์ของประกาศฉบับใหม่ รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่ลีสซิ่งกสิกรไทยจะเริ่มนำมาใช้จริง เพื่อเอื้อประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้า

เช่นเดียวกับ นายชัชฤทธิ์ ตั้งเถกิงเกียรติ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ผลิตภัณฑ์ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ ทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบีกล่าวว่า ในฐานะผู้นำตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ภายใต้ชื่อ ทีทีบีไดรฟ์ (ttb DRIVE) ขานรับปรับมาตรการตามประกาศคุมสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ได้ออกประกาศ เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 เกี่ยวกับการกำหนดเพดานดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อรถยนต์ตามกลไกตลาด โดยคำนวณดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี (Effective Interest Rate) ดังนี้

กรณีรถยนต์ใหม่ การคิดอัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกิน 10% ต่อปี กรณีรถยนต์ใช้แล้ว ต้องไม่เกิน 15% ต่อปี โดยต้องมีตารางคำนวณค่างวดอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้น ลดดอก ควบคู่ไปกับสัญญาต่อท้ายของสัญญาเช่าซื้อ รวมถึงเรื่องปิดบัญชีก่อนกำหนด ต้องคิดส่วนลดดอกเบี้ยในส่วนที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

โดยสำหรับบุคคลธรรมดาที่ชำระค่างวดมาแล้วไม่เกิน 1/3 รับส่วนลด 60%/ที่ชำระค่างวดมาแล้วเกิน 1/3 รับส่วนลด 70%/ที่ชำระค่างวดมาแล้วเกิน 2/3 รับส่วนลด 100% และการคิดเบี้ยปรับจากการชำระล่าช้า จะถูกคิดตามอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี

ทั้งนี้ ตามประกาศของ สคบ.จะมีผลบังคับใช้กับธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป แต่ทางทีทีบีไดรฟ์ เริ่มใช้โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 หรือก่อนกำหนด 2 เดือนตามประกาศ สคบ.

เชื่อว่า “ความไม่เข้าใจ” กับการคิดดอกเบี้ยใหม่แบบ “ลดต้นลดดอก” จะยังคลุมเครือต่อไป จนกว่าประกาศฉบับใหม่นี้บังคับใช้จริงในวันที่ 10 มกราคม 2566 หรือเจ้าหน้าที่บริษัทลีสซิ่งก็ต้องอธิบายจนกว่าลูกค้า “ผู้เช่าซื้อ” จะเข้าใจ ก่อนที่จะจับปากกาเซ็นสัญญาซื้อรถในที่สุด