ธปท.-ก.ล.ต. เล็งจัด 22 กิจกรรม พลังงาน-ขนส่ง เข้าเกณฑ์ “Taxonomy”

ธปท.-ก.ล.ต.
แฟ้มภาพ

ธปท.-ก.ล.ต. ตั้งคณะทำงานกำหนดร่างฯ มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม หรือ Thailand Taxonomy เผยใช้หลักการอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กำหนด 3 ระดับ “สีเขียว-เหลือง-แดง” เฟส 1 ลุยจัดนิยามภาคพลังงาน-ขนส่ง รวม 22 กิจกรรมย่อย

วันที่ 10 มกราคม 2566 นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะผู้แทนคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน อยู่ระหว่างจัดทำมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy)

ภายใต้คณะทำงาน Thailand Taxonomy (คณะทำงานฯ) ที่ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน เพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไว้ใช้ประเมินการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

และเป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อใช้อ้างอิงสำหรับการเข้าถึงบริการและเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยธปท.จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง Thailand Taxonomy ตั้งแต่วันนี้ถึง 26 มกราคม 2566

ธปท.-ก.ล.ต.
“ธปท.-ก.ล.ต.” เล็งจัดนิยาม 22 กิจกรรม

สำหรับรายละเอียด “Thailand Taxonomy” เบื้องต้นจะใช้หลักการที่อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โดยจะแบ่งการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับ (ระบบ Traffic-Light System) ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง ซึ่งในระยะที่ 1 จะเริ่มด้วยการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคพลังงานและภาคการขนส่งก่อน

เนื่องจากเป็นภาคเศรษฐกิจหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสัดส่วนสูงถึง 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ภายใต้ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง จะแบ่งกิจกรรมย่อยออกเป็นกิจกรรมต่างๆ อีกกว่า 22 กิจกรรม เช่น ภาคพลังงาน จะแตกออกเป็น พลังงานลม แสงอาทิตย์ กระแสไฟฟ้า หรือ ขนส่ง เช่น ขนส่งทางน้ำ ทางเรือ และระบบรางหรือไม่ราง ดังนั้น ธปท.จะมีเกณฑ์ประเมินว่าแต่ละกิจกรรมสามารถลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อช่วย ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอยู่ในระดับใด

และในระยะถัดไปจะพิจารณาจัดทำ Thailand Taxonomy ในภาคสำคัญอื่นๆ เช่น ภาคการผลิตและภาคการเกษตรภายใต้วัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรื่อง climate change mitigation รวมถึงจะขยายไปสู่วัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรื่องอื่น อาทิ climate change adaptation ต่อไป

ทั้งนี้ เงื่อนไขการชี้วัดและจัดประเภทกลุ่ม 3 ระบบ จะแบ่งเป็น ดังนี้ สีเขียว (green) หมายถึง กิจกรรมที่ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยมีการ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือเท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน

โดยอ้างอิงตัวชี้วัดที่คาดการณ์ จากแบบจำลองของสากลว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2593 เพื่อควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามที่ สมาชิกภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตกลงร่วมกัน แต่ก็คำนึงถึงบริบทของไทยควบคู่กัน

สีเหลือง (amber) หมายถึง กิจกรรมที่ยังไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิใกล้เคียงหรือ เท่ากับศูนย์ในปัจจุบัน และอยู่ระหว่างปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งจะช่วย ลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โดยในปัจจุบันสามารถลดปัญหาได้บ้างแต่ยัง สามารถปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นได้ภายใต้การกำหนดเส้นทางการลดคาร์บอน (decarbonization pathways) และกรอบเวลาที่มีความน่าเชื่อถือ โดยมี Sunset Date คือ ปี 2583 หลังจากนั้นจะไม่มีหมวดสีเหลือง

ส่วนการคำนวณตัวชี้วัดจะพิจารณาจากบริบท และแผนของประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งเงื่อนไขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กิจกรรมสีเหลือง จะอ้างอิงจากเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่จะลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution: NDC)

และสีแดง (red) หมายถึง กิจกรรมที่ไม่สามารถถูกประเมินได้ว่าเป็นมิตรต่อการลดก๊าซเรือน กระจกสุทธิได้ และไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขและตัวชี้วัดสำหรับกิจกรรมในระดับสีเขียวหรือ สีเหลือง

ทั้งนี้ กิจกรรมเหล่านี้จะต้องเป็นกิจกรรมที่ไม่สร้างผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ (Do No Significant Harm) ต่อการให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ และคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมไปพร้อมกัน (Minimum Social Safeguards)

“Thailand Taxonomy จะใช้เป็นตัวอ้างอิง แต่ไม่ได้ออกมาเป็นเกณฑ์บังคับแต่อย่างใด เปรียบเหมือนเป็นดิสชันารีไว้สำหรับอ้างอิง เพราะหน่วยงานกำกับ ทั้งธปท.และก.ล.ต.จะได้มีนิยามที่ตรงกัน เพื่อให้หน่วยงานในกำกับสามารถนำไปใช้ในการอ้างอิง เช่น ธปท.สามารถให้สถาบันการเงินนำไปใช้ในการจัดการดูแลพอร์ตสินเชื่อของแบงก์ได้ ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงและรู้ว่าพอร์ตโฟลิโอตัวเองมีสีเขียว สีเหลือง และสีแดงอยู่เท่าไร หรือนำไปเป็นไกด์ไลน์ในการออกระดมทุนตลาดกรีนบอนด์ได้

ดังนั้น Thailand Taxonomy ไม่ใช่เอกสารจัดกิจกรรมดีหรือไม่ดี ไม่ได้ห้ามภาคเศรษฐกิจ แต่เป็นนิยามอ้างอิงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ใช่เอกสารที่ทำครั้งเดียว โดยสามารถปรับปรุงและอัปเดตทุกๆ 3 ปี เพื่อสะท้อนแนวปฏิบัติและมาตรฐานสากล เช่นในต่างประเทศกำหนดทบทวนรอบละ 3-5 ปี ทั้งนี้ เราไม่ต้องการให้ Thailand Taxonomy เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านของภาคธุรกิจ”

นายทยากร จิตรกุลเดชา ผู้อำนวยการ ฝ่ายตราสารหนี้ ก.ล.ต. กล่าวว่า สำหรับ Thailand Taxonomy จะเป็นตัวที่ก.ล.ต.สามารถนำมาใช้อ้างอิง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการระดมทุนหรือออกตราสารเพื่อความยั่งยืนได้ และยังเป็นเครื่องมือในการช่วยการจัดพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนได้ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการที่ออกตราสารด้านความยั่งยืนรวมกว่า 30 ราย มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท

โดยมีแนวโน้มอัตราการเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี มูลค่าดังกล่าวเมื่อเทียบกับขนาดมาร์เก็ตถือว่ายังมีสัดส่วนน้อยมากเพียง 3% เพราะการออกตราสารดังกล่าวยังคงกระจุกตัวอยู่ในผู้ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และกระจุกตัวในบางอุตสาหกรรมเท่านั้น