ธปท.เกาะติดการชำระหนี้ครัวเรือน-ธุรกิจ ชี้เสถียรภาพระบบการเงินไทยมั่นคง

แบงก์ชาติ ธปท

ธปท.เผยรายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยไตรมาสที่ 4/65 ระบุ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความมั่นคงสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย จับตา ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือน-ธุรกิจ หลังครัวเรือนสะสมความเปราะบางจากหนี้-ค่าครองชีพสูง กระทบต้นทุน เผยสัญญาณคุณภาพสินเชื่อบุคคลด้อยลง ด้านตลาดเงินยังมีความผันผวนจากความไม่แน่นอน

วันที่ 10 มกราคม 2565 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทยรายไตรมาส 4/2565 ว่า ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องติดตาม (1) ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและธุรกิจ SMEs (2) ความผันผวนในตลาดการเงินจากความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทยอยปรับดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังต้องติดตาม ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้เปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และกลุ่มที่ยังฟื้นตัวช้าจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ขณะที่ตลาดการเงินสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ต้องติดตามความผันผวนในตลาดการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ลดลง โดยธุรกิจขนาดใหญ่ มีสภาพคล่องและฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงยังระดมทุนได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะมั่นคง สามารถสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับประเด็นความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่สำคัญ 8 ด้าน ได้แก่ ภาคครัวเรือน ภาคครัวเรือนยังสะสมความเปราะบางจากหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง จากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์

ด้านภาคธุรกิจ ธุรกิจขนาดใหญ่มีสภาพคล่องและฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงยังระดมทุนได้ต่อเนื่อง มีการออกหุ้นกู้เพื่อลงทุนโครงการใหม่และเร่งล็อกต้นทุนการกู้ยืม แต่ยังต้องติดตามความแข็งแกร่งของการฟื้นตัวในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และบางธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ขนส่ง และก่อสร้าง ขณะที่ SMEs มีสัญญาณการฟื้นตัวของรายได้ และคุณภาพสินเชื่อปรับดีขึ้น แต่ฐานะการเงินยังเปราะบาง จึงต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มที่ได้รับ ผลกระทบรุนแรงจาก COVID-19 และเริ่มฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่น เช่น ท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจที่อ่อนไหวต่อต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ขนส่ง การค้า และก่อสร้าง

ภาคอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการอยู่อาศัย ตลาดที่อยู่อาศัยฟื้นตัวต่อเนื่องตามแนวโน้มเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ต้นทุนการก่อสร้าง และการฟื้นตัวของ ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการพาณิชย์ อัตราการเช่าของพื้นที่ค้าปลีกปรับดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่อัตราการเช่าของพื้นที่สำนักงานปรับลดลงจากอุปทานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

ภาคธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะมั่นคง แต่ยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อรายย่อยกลุ่มเปราะบางใกล้ชิด ส่วนน็อนแบงก์ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ยังมีฐานะอยู่ในเกณฑ์ดีแต่ยังต้องติดตามคุณภาพสินเชื่อที่เห็นสัญญาณที่ด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ (ไม่รวมประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน)
สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยรวมยังคงมีฐานะมั่นคงและมีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินกิจการ แม้มีการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้นแต่ระดับหนี้โดยรวมยังต่ำ

ทั้งนี้ ต้องติดตามสหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งที่อาจสะสมความเสี่ยงจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบรุนแรงเมื่อตลาดการเงินมีความผันผวนสูง

ตลาดการเงิน ยังสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ แต่ต้องติดตามความผันผวนในตลาดการเงินที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่ลดลง

ด้านต่างประเทศยังเข้มแข็งจากเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงเพียงพอสำหรับการชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับดีขึ้น

และภาคสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) มีความเสี่ยงและนัยของเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมจำกัด เนื่องจากจำนวนบัญชี active account และปริมาณการซื้อขาย ของนักลงทุนรายย่อยลดลงต่อเนื่อง แต่ยังต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง เพราะตลาดมีความผันผวนสูงและได้รับความสนใจในวงกว้าง