คลัง-ธปท. สัญจรเชียงใหม่ ชู 3 แนวทางแก้หนี้ครัวเรือนเหนือ NPL พุ่ง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ

กระทรวงการคลัง ผนึก 15 องค์กร แบงก์ชาติ-แบงก์พาณิชย์ จัด “งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 3 จังหวัดเชียงใหม่ 16-18 ธ.ค.นี้ เสนอ 3 แนวทางแก้หนี้ยั่งยืน “แก้หนี้เดิม-สร้างอาชีพเสริม-ให้ความรู้บริหารจัดการเงิน” หวังปลดหนี้ครัวเรือนภาคเหนือ NPL พุ่ง

วันที่ 16 ธันวาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยใน “งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ครั้งที่ 3 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2565 ว่า

กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาหนี้ครัวเรือน และต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินจากภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน

จึงได้ร่วมมือกันจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ตรงจุด และทันการณ์ การจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งมีการเพิ่มเติมหน่วยงานพันธมิตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และผู้ประกอบการจากข้อเสนอแนะในการจัดงานครั้งที่ผ่านมา โดยมีธนาคารพาณิชย์ร่วมออกบูทเพิ่มอีก 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยธนชาต และธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เพื่อให้การแก้ไขหนี้สินทำได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

โดยภายในงานนำเสนอแนวทางการแก้ไขหนี้สินอย่างยั่งยืน 3 แนวทาง คือ 1.การแก้ไขปัญหาหนี้สินเดิมที่มีอยู่ เพื่อช่วยผ่อนปรนภาระหนี้ของประชาชน และผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง 2.การสร้างรายได้ผ่านการสร้างอาชีพหรืออาชีพเสริม เพื่อช่วยให้ประชาชนและผู้ประกอบการมีรายได้เพียงพอต่อการชำระหนี้ ซึ่งสามารถลดปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะยาว และ 3.การสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนด้วยการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ให้สามารถจัดการการเงินได้อย่างถูกต้อง ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

นายอาคมกล่าวต่อว่า ปัญหาหนี้สินครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศมาเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด และซ้ำเติมด้วยปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศรัสเซียและยูเครน เป็น 2 วิกฤตที่ยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจของไทย ทั้งนี้ พบว่าหนี้ครัวเรือนของไทย ณ ปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 88-89% ของ GDP ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก โดยหนี้ครัวเรือนของภาคเหนือมีสัดส่วนพอ ๆ กับภาคอีสาน โดยเฉพาะหนี้ NPL ของจังหวัดเชียงใหม่มีตัวเลขที่ค่อนข้างสูง

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่อย่างมาก จากจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ทำให้ประชาชนขาดรายได้และเกิดปัญหาหนี้สินพอกพูน การให้คำปรึกษาเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหนี้สิน ภายในงานครั้งนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญจะช่วยให้ประชาชน ร้านค้าต่าง ๆ

รวมถึงภาคธุรกิจในเชียงใหม่ มีทางออกและเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงินได้อย่างครบวงจร เพื่อให้สามารถประคองตัวไปพร้อม ๆ กับหาโอกาสในการสร้างรายได้เพิ่มในภาวะที่เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวได้

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า มหกรรมแก้หนี้สัญจรครั้งนี้ ธนาคารกรุงไทยในฐานะเจ้าภาพการจัดงาน ร่วมกับพันธมิตรรวม 15 องค์กร นำเสนอมาตรการแก้ไขหนี้สินแบบองค์รวม ครอบคลุมหนี้ทุกประเภท ทั้งหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล หนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้ SMEs ผ่านโปรแกรมความช่วยเหลือตั้งแต่ก่อนจะผ่อนชำระไม่ไหว กลุ่มที่เป็นหนี้เสีย และกลุ่มที่ถูกฟ้องคดี เพื่อลดภาระทางการเงินด้วยการผ่อนปรนและปรับเงื่อนไขการชำระหนี้

พร้อมสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแกร่ง ผ่านการให้ความรู้ทางการเงิน และสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม อีกทั้งยังส่งเสริมการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้นในทุกมิติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

“คาดหวังว่าการจัดงานครั้งนี้จะประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก เพราะภายในงานนอกจากสถาบันการเงินของรัฐแล้ว ยังมีหน่วยงานพันธมิตรและธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมรวม 15 องค์กร ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสพบปะขอคำปรึกษาจากธนาคารแต่ละแห่งได้โดยตรง เพราะแต่ละธนาคารมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือลูกค้าของตนเองให้ได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ”

สำหรับผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร 2 ครั้งที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ได้รับความสนใจจากประชาชนและผู้ประกอบการจำนวนมาก โดยการจัดงานครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพฯ มีผู้ขอรับบริการภายในงานกว่า 15,000 รายการ และมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจรครั้งที่ 2 ที่ขอนแก่น มีผู้ขอรับบริการภายในงานกว่า 6,000 รายการ


นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้ความสนใจร่วมลงทะเบียนปรึกษาปัญหาแก้หนี้ตลอดทั้งโครงการกว่า 200,000 รายการ โดยคาดหวังว่าการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร ครั้งที่ 3 ที่เชียงใหม่ครั้งนี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและแก้ปัญหาให้กับประชาชนและภาคธุรกิจได้จำนวนมากเช่นกัน