แบงก์โหม ธุรกิจต่างประเทศ ตั้งเป้าโกยรายได้ตลาด “จีน-AEC”

ธุรกิจต่างประเทศ

3 แบงก์ใหญ่กางแผนโตต่างประเทศ “กสิกรไทย” โฟกัส “อินโดฯ-เวียดนาม-จีน” ตั้งเป้าโกยรายได้ 7.5 พันล้านบาท จ่อเปิดสาขา “ปักกิ่ง” สาขาที่ 5 ในจีน ไตรมาส 3 ปีนี้ เร่งยกระดับ “แมสเปี้ยน” เป็นแบงก์ใหญ่สุดบนแดนอิเหนา

ขณะที่ “แบงก์กรุงเทพ” ดัน “เพอร์มาตา” ซัพพอร์ตลูกค้าทั้งรายใหญ่-รายย่อย พร้อมเกาะเทรนด์ปล่อยสินเชื่อ ESG ในตลาดต่างประเทศ ฟาก “กรุงศรี” เร่งควบรวม “Home Credit” ในฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย วางเป้าโกยกำไรจากต่างประเทศ 10% ของกำไรสุทธิทั้งหมด

นายภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2566 จะเห็นโอกาสเติบโตธุรกิจต่างประเทศของธนาคารอย่างชัดเจนขึ้น เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในตลาดอาเซียนขยายตัวได้ดี

โดยเฉพาะตลาดอินโดนีเซียและเวียดนาม ขณะที่ประเทศจีนเริ่มมีนโยบายเปิดประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจและรายได้จากต่างประเทศของธนาคารดีขึ้น แต่ต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด

โดยในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้ารายได้จากต่างประเทศ (ยังไม่หักค่าใช้จ่าย) อยู่ที่ราว 7,500 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 4% ของรายได้ของธนาคารทั้งหมด โดยรายได้มาจากธุรกิจในจีน 50% และ AEC อีก 50% อย่างไรก็ดี ภายในปี 2568 สัดส่วนรายได้จาก AEC จะขยับขึ้นเป็น 60% เพราะตลาดอินโดนีเซียและเวียดนามเติบโตเพิ่มขึ้น

“ภายในไตรมาส 3 ปี 2566 ธนาคารจะเปิดสาขาปักกิ่ง เป็นสาขาที่ 5 ในจีน จากที่มีอยู่ 4 สาขา คือ เฉิงตู เสิ่นเจิ้น เซี่ยงไฮ้ และฮ่องกง ขณะเดียวกันจะย้ายที่ทำการสาขาเสิ่นเจิ้นให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมและธุรกิจที่เติบโตเพิ่มขึ้น

ADVERTISMENT

โดยแผนธุรกิจในจีนยังคงเน้นสนับสนุนการค้าและการลงทุนของลูกค้ารายใหญ่และรายกลาง ซึ่งเป็นธุรกิจ Cross Border Supply Chain รวมถึงปล่อยสินเชื่อรายย่อยแบบที่มีวัตถุประสงค์ โดยเป้าเติบโตขยายตัวต่อเนื่อง ในแง่ธุรกิจและรายได้ไม่น้อยกว่า 100% จากปีก่อน”

ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ
ภัทรพงศ์ กัณหสุวรรณ

ส่วนตลาดเวียดนาม จะเห็นการเติบโตในธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะเป็นตลาดที่ได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิต รวมถึงการเชื่อมต่อกับตลาดจีน ซึ่งคาดว่ารายได้และขนาดสินทรัพย์ รวมถึงสินเชื่อจะเติบโต 1 เท่า หรือเติบโต 100% จากปีก่อน

ADVERTISMENT

ขณะที่อินโดนีเซียจะเป็นปีที่กระบวนการควบรวมกิจการ (M&A) กับธนาคารแมสเปี้ยนแล้วเสร็จ หลังได้รับอนุมัติจากธนาคารกลางอินโดนีเซีย ให้บริษัท กสิกร วิชั่น ไฟแนนเชียล เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากสัดส่วน 9.99% เพิ่มเป็น 67.5% ด้วยมูลค่าการลงทุน 6,500 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทของธนาคารกสิกรไทยกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (Controlling Shareholder) ในธนาคารแมสเปี้ยน

ดังนั้น ในตลาดอินโดนีเซียในปี 2566 จะเน้นการเติบโตบนความสามารถของฐานธุรกิจเดิมของธนาคารแมสเปี้ยน เช่น ธุรกิจขนาดใหญ่ท้องถิ่น (local large corporate) การสนับสนุนการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (TDI) ทั้งธุรกิจไทยและต่างชาติ

รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและรายย่อย เนื่องจากตลาดอินโดนีเซียค่อนข้างใหญ่ และในระยะยาวจะกลายเป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะชวา (East JAVA) โดยตั้งเป้าการเติบโตกำไรสุทธิ 1 เท่าตัว หรือ 2,000 ล้านบาท จากปี 2565 อยู่ที่ 1,000 ล้านบาท

“เราจะเน้น 3 ตลาดหลัก เวียดนาม อินโดนีเซีย และจีน โฟกัสสร้างการเติบโตผ่านการพัฒนา K PLUS ในประเทศต่าง ๆ ส่งเสริมธุรกรรม Transaction Banking, Internet Banking และ Value Chain รวมถึงหาโอกาสในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น จีนที่ยังมีธุรกิจการเงินที่เข้าไปลงทุนได้ และตอนนี้ราคาไม่พุ่งแรง ทั้ง Fintech หรือ Beyond Banking พวกนี้ เราก็ดูอยู่ หากมี Return Investment ได้ เราก็สนใจ” นายภัทรพงศ์กล่าว

นายไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ กิจการธนาคารต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารยังมีเป้าหมายสนับสนุนการเติบโตของลูกค้าในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ และรายกลางที่มีการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ ครอบคลุมเครือข่ายและสาขา 14 ประเทศ

หากดูศักยภาพในการเติบโตของสาขาต่างประเทศ จะพบว่าตลาดอินโดนีเซียและเวียดนามจะมีอัตราการเติบโตสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนยังคงเป็นภูมิภาคที่มีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว

อย่างไรก็ดี ธนาคารไม่ได้ตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อต่างประเทศหวือหวา เนื่องจากเศรษฐกิจต่างประเทศยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงเน้นการเติบโตในประเทศเป็นหลัก โดยยังคงสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อต่างประเทศและบริษัทย่อยของธนาคารอยู่ที่ระดับ 24-25% ของสินเชื่อรวมของธนาคารทั้งหมด

หลังจากรวมสินเชื่อจากธนาคารเพอร์มาตา (Permata) ในอินโดนีเซียแล้ว โดยกลยุทธ์ของ Permata ธนาคารจะต่อยอดสิ่งที่มีอยู่และสนับสนุนลูกค้าต่อเนื่อง ทั้งรายใหญ่และรายย่อย รวมถึงเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม

เช่นเดียวกับตลาดเวียดนามที่มีโอกาสเติบโตสูง เพราะเป็นประเทศที่ได้รับอานิสงส์จากการลงทุนและมีดีมานด์สูง ซึ่งที่ผ่านมาเห็นสัญญาณการลงทุนในด้านพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือกมากขึ้น โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนลูกค้าเต็มที่

“ทุกประเทศมีโอกาสทางธุรกิจหมด แต่จากปัจจัยเสี่ยงที่ยังมีอยู่ ธนาคารคงต้องทำอย่างระมัดระวัง แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนและเป็นสิ่งที่ธนาคารจะเน้นการเติบโต คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ธุรกิจหันมาให้ความสำคัญ และเริ่มเห็นสัญญาณเกี่ยวกับสินเชื่อเหล่านี้มากขึ้นในต่างประเทศ”

นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แผนการขยายธุรกิจสู่ระดับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Expansion) ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกรุงศรี ภายใต้แผนธุรกิจระยะกลางปี 2564-2566

ไพโรจน์ ชื่นครุฑ
ไพโรจน์ ชื่นครุฑ

โดยในปีนี้ยังคงสร้างความเติบโตในต่างประเทศต่อเนื่อง ทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากธนาคารกลางเวียดนาม ซึ่งกลยุทธ์หลักต้องเชื่อมโยงจุดแข็งของแต่ละประเทศเข้าด้วยกันกับธนาคาร MUFG และ Partner Banks ในการพัฒนาธุรกิจในอาเซียน

นอกจากนี้ ภารกิจสำคัญในปีนี้ คือ การควบรวมกิจการของ Home Credit ในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรีหลังจากเข้าซื้อหุ้น 75% ในธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภคของ Home Credit เมื่อเดือน พ.ย. 2565 โดยธุรกรรมดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคาร กับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้นในธุรกิจสินเชื่อผู้บริโภค

“กรุงศรียังคงแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในการขยายธุรกิจในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนกำไรจากต่างประเทศอยู่ที่ 10% ของกำไรสุทธิทั้งหมด” นายไพโรจน์กล่าว