สรรพากรไล่ล่าธุรกิจซุกกำไรต่างประเทศ ต้อนแม่ค้าออนไลน์เข้าระบบภาษี

สรรพากรกางเป้าเก็บภาษีปี’66 กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ส่งทีมพิเศษไล่ต้อนธุรกิจนอกระบบ ส่องเป้าใหญ่ “แม่ค้าออนไลน์-อินฟลูเอนเซอร์” เผยปีที่ผ่านมากวาดเข้าระบบเพิ่มเกือบ 2 แสนราย เม็ดเงินภาษีกว่า 2 พันล้าน ชี้เครื่องมือ-กฎต่าง ๆ ทำให้อยู่นอกระบบยากขึ้น มุ่งทำความเข้าใจ “ภาษีไม่น่ากลัว” เผยต้นทุนการหลบเลี่ยงแพงกว่าการเข้ามาอยู่ในระบบ พร้อมเร่งเครื่องกฎหมายแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสรรพากรต่างประเทศ รวมถึงเกาะบริติชเวอร์จิน-เคย์แมนภายในปี 2566 ขยายฐานเก็บภาษีธุรกิจเศรษฐีไทยที่มีทรัพย์สินอยู่ทั่วโลก

นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ต.ค. 2565-ก.ย. 2566) กรมสรรพากรได้รับเป้าหมายจัดเก็บรายได้กว่า 2.2 ล้านล้านบาท ถือว่าเป็นนิวไฮ โตขึ้น 4-5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของรายได้รัฐทั้งหมด โดยตัวเลข2 เดือนแรก (ต.ค.-พ.ย. 65) ยังเก็บได้เกินกว่าเป้า1.5 หมื่นล้านบาท จากปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมาจัดเก็บได้เกินเป้ากว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งมาจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว และผลจากสิ่งที่กรมสรรพากรดำเนินการก่อนหน้านี้ หลัก ๆ คือมีข้อมูลขนาดใหญ่ที่(big data) ใช้ในการบริหารการจัดเก็บภาษี ทำให้การประเมินความเสี่ยงและจัดเก็บแม่นยำขึ้น ตรงเป้า

“ถึงเป้ารายได้จะสูง แต่เราก็ทำเต็มที่ ในแง่ของทักษะประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ผมว่าเก่งอยู่แล้ว แต่วันนี้เราใส่เรื่องเทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ และข้อมูลลงไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ”

เศรษฐกิจฟื้นภาษี “นิติบุคคล-VAT” โต

รายได้ภาษีหลัก ๆ ที่เก็บได้เพิ่มขึ้น มาจาก 2 ประเภท คือ 1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล สะท้อนว่าเศรษฐกิจและธุรกิจเริ่มฟื้นตัว โดยธุรกิจกลับมามีกำไรและเสียภาษีได้มากขึ้น และ 2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากการบริโภคที่ขยายตัวได้ดีขึ้น

“มีทั้งนิติบุคคลรายใหญ่และเล็ก วันนี้เราเห็นภาพการฟื้นตัว แต่คงไม่ได้ฟื้นกลับมาที่เดิม อย่างไรก็ดี โดยรวมเห็นภาพของการฟื้นตัว ทำให้เราสามารถเก็บภาษีนิติบุคคลได้สูงขึ้น ทั้งนี้ หากดูเป้าหมายที่ได้รับก็ยังไม่ได้กังวลเท่าไร แต่ก็ไม่ได้ละเลยถึงปัจจัยเสี่ยงในปี 2566 เช่น ดอกเบี้ยขาขึ้น จะกระทบต่อธุรกิจอย่างไร และสถานการณ์ความเสี่ยงนอกประเทศ”

ต่างชาติแห่เข้าระบบอีเซอร์วิส

อธิบดีสรรพากรกล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแพลตฟอร์มต่างประเทศ (ภาษี e-Service) ที่เริ่มมีการจัดเก็บตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 มีการเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ของประชาชนเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับความร่วมมือกับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศเป็นอย่างดี แพลตฟอร์มหลัก ๆ เข้ามาจดทะเบียนครบหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล เน็ตฟลิกซ์ เรียกว่าที่เห็น ๆ กันอยู่ในโลกใบนี้มาหมดแล้ว โดยแพลตฟอร์มต่างประเทศที่เข้าระบบภาษีทั้งหมดกว่า 127 รายแล้ว

“ถือว่าจัดเก็บได้มากกว่าที่คาด จากช่วงแรกประเมินว่าจะจัดเก็บได้ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมาจัดเก็บได้เกือบ 1 หมื่นล้านบาท ถือว่าไปได้ดีกว่าที่คิด”

ตั้งทีมไล่ต้อน “ธุรกิจนอกระบบ”

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า ขณะที่รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ทุกคนเข้าไปสู่โลกออนไลน์ ทุกคนไลฟ์ขายของได้เอง หน้าร้านไม่ต้องมี เพราะอย่างงั้นก็ทำธุรกิจง่ายขึ้น แต่การเสียภาษีก็ต้องตามให้ทัน โดยกรมสรรพากรได้มีการตั้ง “กองสำรวจและติดตามธุรกิจนอกระบบ” ทำหน้าที่ตรวจสอบให้คนหรือธุรกิจที่อยู่นอกระบบภาษีเข้ามาอยู่ในระบบ เพราะฉะนั้นใครไลฟ์ขายสินค้าอยู่ที่ไหน สรรพากรมีทีมงานตามดูอยู่ เพราะทิศทางธุรกิจไปทางนั้น

ขณะเดียวกันก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ เพราะคนไม่อยากเสียภาษี ก็มีความท้าทายว่าสรรพากรจะสื่อสารอย่างไร ให้รู้สึกว่าภาษีไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เพราะถ้าเข้ามาในระบบตั้งแต่ต้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และทำให้เป็นเรื่องง่าย โดยเราดูแลผู้เสียภาษีเหมือนเป็นลูกค้า

นอกจากนี้สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้เข้าระบบเสียภาษี ที่แน่นอนที่สุดคือ การเข้าถึงบริการทางการเงิน สินเชื่อต่าง ๆ เพราะวันนี้ทุกธนาคารจะดูงบการเงินของบริษัทจากที่ยื่นกรมสรรพากร เพราะฉะนั้นจะไปยื่นขาดทุนและกำไรน้อย ๆ ก็ได้สินเชื่อน้อย หรือแจ้งธุรกิจขาดทุนตลอดก็คงไม่มีสถาบันการเงินไหนปล่อยสินเชื่อให้

ค้าออนไลน์-อินฟลูเอนเซอร์เป้า

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า กลุ่มที่เป็นเป้าหมายหลักคือกลุ่มที่มีรายได้สูง ปัจจุบันก็เป็นกลุ่มแม่ค้าออนไลน์ ไลฟ์ขายของ และอินฟลูเอนเซอร์ต่าง ๆ ซึ่งจากที่สรรพากรมีการตั้งกองติดตามธุรกิจนอกระบบ ทำให้ในปีงบประมาณ 2564 สามารถดึงผู้เสียภาษีเข้าสู่ระบบเพิ่มได้อีกกว่า 1.42 แสนราย คิดเป็นเม็ดเงินภาษีที่เก็บได้กว่า 1,600 ล้านบาท ขณะที่ปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา ดึงผู้เสียภาษีเข้าสู่ระบบได้อีกกว่า 1.68 แสนราย คิดเป็นเม็ดเงินภาษีกว่า 2,200 ล้านบาท

“ระบบต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้น จะเริ่มบีบให้ทุกคนต้องเข้าสู่ระบบ และจะอยู่ข้างนอกยากขึ้นเรื่อย ๆ”

ดึงกลุ่มไลฟ์ขายของเข้าจด VAT

รวมทั้งในปีนี้ กรมสรรพากรจะเชิญชวนให้ผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เข้ามาจดทะเบียนให้ถูกต้อง โดยที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้แก้กฎหมายให้สามารถนำที่อยู่ที่เป็น “คอนโดมิเนียม” มาจดทะเบียนเป็นสถานประกอบการได้ จากเดิมที่ทำไม่ได้ ทำได้เฉพาะบ้าน

“เมื่อก่อนการทำธุรกิจจะต้องจดทะเบียน VAT ต้องมีสถานประกอบการ คือต้องมีหน้าร้าน แต่ปัจจุบันธุรกิจออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ซึ่งหลายคนก็คุ้นเคยกับการไลฟ์ขายของ ซึ่งอยู่ที่บ้านก็ไลฟ์ขายของได้ เพราะบ้านสามารถจดทะเบียนเป็นออฟฟิศได้ แต่คอนโดมิเนียมทำไม่ได้ ซึ่งล่าสุดกรมสรรพากรก็ปรับแก้ให้ คอนโดมิเนียมก็สามารถมาจดทะเบียนเป็นสถานประกอบการได้ โดยเราก็กำลังเชิญชวนให้มาจดกันมากขึ้น”

นายลวรณกล่าวว่า ถ้าเสียภาษีถูกต้องตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง ภาษีไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่ที่น่ากลัวคือ “เสียไม่ถูกต้อง” หรือ “ไม่เสียภาษี” เพราะต้นทุนที่พยายามอยู่นอกระบบไม่เสียภาษี อาจแพงกว่าภาษีด้วยซ้ำ เพราะต้องทำบัญชีหลายเล่ม หลบไปหลบมา เข้ามาตั้งแต่ต้นน่าจะดีกว่า

ขยายฐานภาษีขอบเขตทั่วโลก

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กติกาโลกก็บีบเข้ามามากขึ้นทุกวัน ความโปร่งใสในการจัดเก็บภาษีก็สูงขึ้น การหลบภาษีก็ทำได้ยากขึ้น โดยเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามความตกลงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ มุ่งเน้นการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร ตามแนวทางขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)

“เรื่องข้อมูลที่จะแลกกัน เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่กรมสรรพากรทั้งโลกตกลงกัน ทำให้ต่อไปคนไทยมีบัญชี มีทรัพย์สินอยู่ต่างประเทศ รายได้ที่เกิดขึ้นในต่างประทศ ข้อมูลจะถูกส่งแบบอัตโนมัติ ส่วนคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทย เราก็ต้องส่งข้อมูลกลับไปด้วย และที่น่าสนใจก็คือ ประเทศ หรือเกาะต่าง ๆ ที่เป็น tax haven ทั้งบริติชเวอร์จิน, เคย์แมน พวกนี้ก็เข้ามาเป็นสมาชิกหมดแล้ว เพราะฉะนั้นข้อมูลต่อไปนี้สรรพากรจะเห็นหมด ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ที่ผ่านมาสรรพากรไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ก็จะทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งธุรกิจหรือคนที่เสียภาษีถูกต้องแล้วก็ไม่มีผลกระทบ”

อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า การดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้ เรียกได้ว่าเป็นการขยายฐานภาษีทั่วโลก ไม่ใช่แค่ในประเทศแล้ว ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพให้คนเข้าระบบ เพราะจะอยู่นอกระบบยากขึ้น การหลบเลี่ยงภาษีจะยากขึ้น และเม็ดเงินภาษีก็จะเพิ่มขึ้น

เร่งดัน กม.แลกเปลี่ยนข้อมูล

นายลวรณกล่าวว่า โดยขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างเสนอร่างกฎหมายเพื่อดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศกับกรมสรรพากรประเทศต่าง ๆ ที่จะทำให้มีข้อมูลในการจัดเก็บภาษีได้ดีขึ้น ทั้งนี้ สถานะของร่างกฎหมายที่ว่านี้ ผ่านวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว กำลังพิจารณาในขั้นกรรมาธิการ ซึ่งจะพยายามเร่งผลักดันให้ออกมาได้โดยเร็วที่สุด เพราะหากกฎหมายออกมาไม่ทันปี 2566 นี้ ไทยจะถูกแบล็กลิสต์ซึ่งจะกระทบกับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ

“หากกฎหมายผ่าน ข้อมูลธุรกรรม ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 ก็จะต้องถูกส่งเลยภายในเดือน มิ.ย. 2566 เราก็จะรู้ว่าคุณมีรายได้อยู่ที่ประเทศไหนบ้าง จ่ายภาษีที่นั่นครบหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครได้เห็นข้อมูลแบบนี้ และกรมสรรพากรทั่วโลกจะเห็นข้อมูลซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นตัวอย่างที่ว่าการอยู่นอกระบบจะยากขึ้นเรื่อย ๆ”

แผนปฏิรูปภาษี 5 ปีข้างหน้า

สำหรับแผนปฏิรูปภาษีนั้น อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า มีการจัดทำแผนปฏิรูปภาษีระยะ 5 ปีข้างหน้า เพียงแต่การจะหยิบมาใช้ ต้องขึ้นกับนโยบายของกระทรวงการคลัง เพราะเรื่องภาษีไม่สามารถประกาศก่อนได้ อย่างไรก็ดี การปฏิรูปโครงสร้างภาษี จะมีทั้งเก็บใหม่ ลดอัตรา รวมถึงเลิกจัดเก็บบางรายการที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึงรายการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ ที่ต้องปรับให้เหมาะสมมากขึ้น

“ประสิทธิภาพจะต้องควบคู่กับโครงสร้างที่เหมาะสม ทันยุคทันสมัยด้วย ต่อให้เก็บเต็มที่ ประสิทธิภาพเต็ม 100% แต่โครงสร้างไม่ใช่ เป็นโครงสร้างของยุคก่อน ไม่ใช่โครงสร้างในยุคปัจจุบัน เราก็จำเป็นต้องเอาโครงสร้างที่ใช่มา พอโครงสร้างใช่แล้ว ก็ต้องเอาความสามารถ เอาประสิทธิภาพใส่ไปให้เต็มที่”

นอกจากนี้ อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวเพิ่มเติมถึงการจัดเก็บภาษีขายหุ้นว่า ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการ ก็ขึ้นกับรัฐบาล โดยการเก็บภาษีหุ้นนี้ ระยะสั้นอาจมีผลกระทบบ้าง แต่จำเป็นต้องเก็บเพื่อความเป็นธรรม เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนทุกประเภทถูกเก็บภาษีหมด รวมถึงเงินฝากธนาคาร ถ้ามีดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาท ก็ต้องเสียภาษี หรือการลงทุนพันธบัตร ก็มีแต่เทรดหุ้นที่ยังไม่ถูกเก็บภาษี