คลังเบ่งรายได้-ภาษี ปี 2567 ดันตั้งงบฯ 3.35 ล้านล้าน

งบประมาณภาษี

ประเทศไทยกำลังจะกลับเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอีกครั้ง ภายในปี 2566 นี้ ช่วงนี้จึงเป็นช่วงเวลานับถอยหลังของรัฐบาล อย่างไรก็ดี กระบวนการจัดทำงบประมาณยังคงเดินหน้าไปตามกรอบเวลา เพราะถือว่าเป็นงาน “รูทีน” เป็นไปตาม “ปฏิทินงบประมาณ”

ระหว่างนี้ กระทรวงการคลัง จึงเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เอาไว้

“เราต้องทำโครงเอาไว้ ถ้ามีรัฐบาลใหม่มา ก็ค่อยมาปรับปรุง” อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงการจัดทำงบฯปี 2567 เตรียมไว้

ถก 4 หน่วยงาน ทำงบฯปี’67

โดยปลายปี 2565 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ไป ซึ่งแผนการคลังดังกล่าวจะถูกใช้เป็นแนวทางการจัดทำงบประมาณ โดยเฉพาะปีงบประมาณ 2567

ซึ่งในเดือน ม.ค. 2566 หลังเทศกาลปีใหม่นี้จะมีประชุม 4 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คือ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงบประมาณ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อเตรียมจัดทำงบประมาณปี 2567 ร่วมกัน เพราะต้องเสนอ “ประมาณการรายได้” “กรอบวงเงิน” และ “โครงสร้างงบประมาณ” ให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในวันที่ 10 ม.ค. 2566

ตั้งรายจ่ายเพิ่ม 1.65 แสนล้าน

สำหรับกรอบจัดทำงบประมาณปี 2567 ตามแผนการคลัง ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายที่ 3,350,000 ล้านบาท

เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อนหน้า 5.2% หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 165,000 ล้านบาท โดยจะลดการขาดดุลงบประมาณลง เหลือไม่เกิน 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) จากปีงบประมาณ 2566 ที่ขาดดุลที่ 3.7% ของจีดีพี

ตาราง การเพิ่มขึ้นของงบประมาณ

“ปีงบประมาณ 2567 เราจะขาดดุลที่ 593,000 ล้านบาท ลดลงไป 102,000 ล้านบาท เพราะนี่เป็นข้อตกลงในการทำนโยบายการคลัง โดยในแง่เปอร์เซ็นต์ จะลดเหลือ 3% ของจีดีพี และจะลดลงไปอีกในปีต่อ ๆ ไป ขณะที่นโยบายงบประมาณรายจ่าย เรายังขยายตัว

ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566 จำนวน 165,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่า การลดขนาดการขาดดุล ในขณะที่รายได้ก็ยังเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นว่าเรามีขีดความสามารถในการจะใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งมาจากการจัดเก็บรายได้ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” อาคมกล่าว

ชู “ลดขาดดุล-หนี้ไม่เพิ่ม”

“อาคม” กล่าวว่า การทยอยตั้งงบประมาณขาดดุลลดลง โดยหลังจากปี 2567 ไปแล้ว ปี 2568 ก็จะให้ขาดดุลลดลงเหลือ 2.84% ของจีดีพี ขณะที่ปี 2569 จะลดเหลือ 2.81% ของจีดีพี และปี 2570 จะลดเหลือ 2.79% ของจีดีพี ทั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งสู่งบประมาณแบบสมดุล อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าการจะไปสู่งบฯสมดุลคงต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวพอสมควร

ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้น จะพยายามรักษาระดับไว้ที่ 61% ของจีดีพี ในช่วงปี 2567-2570 เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลัง เอาไว้รองรับในกรณีหากมีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเกิดขึ้นในอนาคต

“ธีมของปี 2567 คือ ฐานะการคลังแข็งแกร่ง, ขาดดุลลดลง, งบฯรายจ่ายประจำปีเพิ่มขึ้น” อาคมกล่าว

เบ่งรายได้ปี’67 โตกระโดด

รมว.คลังกล่าวอีกว่า การที่ปี 2567 สามารถทำงบประมาณขาดดุลลดลงค่อนข้างมากได้ ก็เนื่องจากมีการประมาณการเรื่องจัดเก็บรายได้ที่มากขึ้น โดยคาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 267,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้น โดยสิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ ทั้งรายได้ภาษี รายได้รัฐวิสาหกิจ เงินนำส่งจากกองทุนหมุนเวียนต่าง ๆ

“จีดีพีโตขึ้น รายได้การจัดเก็บก็จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งในเรื่องของภาษีต่าง ๆ ก็จะเพิ่มขึ้น โดยจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว เราก็จัดสรรไปเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 165,000 ล้านบาท อีกส่วนก็นำมาลดการขาดดุลลง ซึ่งเราต้องการให้สัดส่วนการขาดดุลไม่เกิน 3% ของจีดีพี” รมว.คลังกล่าว

ขณะที่ “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลจะมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 10.7% หรือรัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิที่ 2,757,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 267,000 ล้านบาท จากปีงบประมาณก่อนหน้า

3 หน่วยงานคาดจีดีพีโต 3.8%

โดยในปีดังกล่าว 3 หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ คือ สศค. ธปท. และ สศช. ประมาณการไปในทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.8% จากปี 2566 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.5% ต่อปี

“รายได้ที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะมีรายได้ที่เป็น one time อยู่ด้วย คือเกิดขึ้นครั้งเดียว เช่น การนำส่งเงินของกองทุนบางประเภทในปี 2567 ก็จะทำให้รายได้ส่วนนี้เพิ่มขึ้นจากปกติ อีกส่วนก็จะมาจากการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ” พรชัยกล่าว

คงต้องติดตามว่า เพื่อรองรับรายจ่ายที่ตั้งเพิ่มขึ้นมากนี้ รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามที่ประมาณการไว้หรือไม่ เพราะหากการเก็บรายได้พลาดเป้าไป สุดท้าย รัฐบาลก็อาจจะต้องกลับมากู้เพิ่มขึ้นอีกนั่นเอง