ก้าวต่อไป ตลาดหุ้นไทย ขึ้นระบบใหม่-รื้อเกณฑ์กำกับ-ปรับเวลาเทรด

ภากร ปีตธวัชชัย

ปี 2565 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องเผชิญความท้าทายในหลายเรื่อง ทั้งความผันผวนของตลาด ทั้งประเด็นหุ้นร้อนต่าง ๆ ซึ่งบางเรื่องอาจจะคลี่คลายลงไปแล้ว แต่บางเรื่องก็ยังต้องจับตา

โดย “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แถลงต่อสื่อมวลชนล่าสุดว่า หากมองย้อนไป ตั้งแต่ปี 2564 ตลาดทุนไทยมีการระดมทุนเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความโดดเด่นของตลาดทุนไทย สะท้อนถึงบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีความแข็งแกร่ง

ขณะที่ในการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 76,773 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่อยู่ที่ราว 89,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะการลงทุนทั่วโลก ทำให้การซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันลดน้อยลง

นอกจากนี้ เหตุการณ์หุ้น MORE (บมจ.มอร์ รีเทิร์น) ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา กลายเป็นสิ่งที่ทำให้องค์กรในตลาดทุนต้องปรับตัวและพัฒนาเพื่อให้เกิดความมั่นคง และสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก รวมถึงเพื่อให้สามารถรับมือกับเหตุการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

“สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์ฯคาดหวังคือ จะทำอย่างไรให้ตลาดทุนเข้าถึงได้ และทำอย่างไรให้โครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่ง และยิ่งไปกว่านั้นจะมีกฎเกณฑ์อย่างไรที่จะทำให้ตลาดทุนน่าเชื่อถือ นี่เป็นสิ่งที่เราคิดอยู่เสมอ ซึ่งจากภาวะตลาดและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมา เป็นจุดที่ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกระบวนการทำงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดทุนมากขึ้น”

ขึ้นระบบใหม่-รื้อเกณฑ์กำกับ

“ภากร” กล่าวว่า ในไตรมาส 1 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเริ่มจากการเปิดใช้ระบบการซื้อขายหุ้นใหม่ ทดแทนระบบเดิมที่ใช้มานานกว่า 40 ปี เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น ซึ่งระบบถูกพัฒนาโดย Nasdaq บริษัทเทคโนโลยีระดับสากลที่เป็นผู้ให้บริการตลาดหุ้นต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ตลาดหุ้นออสเตรเลีย ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และตลาดหุ้นฮ่องกง

ทั้งนี้ ระบบการซื้อขายใหม่จะเปลี่ยนแปลงจากเดิมหลายด้าน เช่น มาตรฐานการต่อเชื่อม ที่ให้นักลงทุนต่างประเทศเชื่อมต่อได้ง่ายขึ้น และการเปิดเผยข้อมูลแบบ Bid Offer (ราคาเสนอซื้อและราคาเสนอขาย) จากเดิมที่เป็น 5 Bids 5 Offer ก็จะปรับใหม่เป็น 10 Bids 10 Offer ช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันยังปรับ Ceiling & Floor (ราคาสูงสุดและราคาต่ำสุด) ของหุ้นต่างประเทศ เป็น +/- 60% จากเดิม +/- 30% จัดทำระบบประทับเวลา (Timestamp) ในระดับนาโนวินาที (Nanosecond) ระบบป้องกันการจับคู่ซื้อขายกันเอง ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการทดสอบระบบครั้งสุดท้าย

“นอกจากนี้ยังจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพความน่าเชื่อถือในตลาดทุน โดยปรับปรุงเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ในแต่ละตลาด ทั้ง SET, mai และ LIVEx รวมถึงจะมีการปรับปรุงเกณฑ์การซื้อขาย การชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ และการพิจารณาปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งรวมไปถึงแก้ไขกฎเกณฑ์การใช้ข้อมูลที่สำคัญ เช่นเดียวกับพิจารณาปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานอื่น ๆ”

เล็งขยับเวลา “ซื้อขาย” หุ้น

“ภากร” กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาจะเห็นนักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยมากขึ้น (Foreign-linked) รวมถึงนักลงทุนไทยก็มีความต้องการที่จะออกไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงเตรียมขยายเวลาการซื้อขาย ทั้ง SET, mai และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) โดยจะทบทวนและดูความเหมาะสมใหม่ เพื่อให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้สะดวกมากขึ้น

ส่วนสินค้าในตลาด TFEX เช่น สินค้าที่อ้างอิงตลาดเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีการซื้อขายมากในช่วงเช้า ก็อาจจะพิจารณาขยายระยะเวลาการซื้อขายในช่วงนั้นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การขยายเวลายังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม

กางแผน 3 ปี ขยายการเติบโต

ขณะที่ในระยะข้างหน้า “ภากร” กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯได้วางแผนกลยุทธ์ระยะ 3 ปี (2566-2568) เพื่อเตรียมพร้อมขยายการเติบโต โดยมีกลยุทธ์ 4 ด้าน ดังนี้

ด้านที่ 1 ทำตลาดทุนให้เป็นเรื่องง่าย เพิ่มโอกาสการระดมทุน และจะผลักดันให้มีบริษัทหรืออุตสาหกรรมใหม่ ๆ เข้ามาจดทะเบียนมากขึ้น รวมถึงมุ่งพัฒนาเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ ต่อยอดจาก LiVE Academy และ LiVE Platform เพื่อให้มีความพร้อมในการเข้าถึงแหล่งระดมทุนได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้จะมีการพัฒนาศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDX) เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายโทเค็นดิจิทัล ทั้ง investment token และ utility token ซึ่งจะได้เห็นในช่วงไตรมาส 3/2566

ด้านที่ 2 ยกระดับมาตรฐานเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งจะเริ่มใช้ระบบซื้อขายใหม่ภายในไตรมาส 1/2566 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบนิเวศการลงทุน และรองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ พร้อมยกระดับความปลอดภัยทางไซเบอร์ รวมทั้งปรับปรุงกฎเกณฑ์การซื้อขายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย และให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนไปและระบบซื้อขายใหม่

ด้านที่ 3 สร้างโอกาสเพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด จะมีพัฒนาการเผยแพร่ข้อมูลผ่าน SMART Marketplace เพิ่มข้อมูลเชิงสังเคราะห์และฟังก์ชั่นที่ใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์การใช้งาน ขณะเดียวกันจะมีการรวบรวมข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เข้ามาไว้บน ESG Data Platform โดยเริ่มเผยแพร่ข้อมูลได้ในไตรมาส 2/2566

ด้านที่ 4 ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความยั่งยืน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯได้นำเรื่องของ ESG (Environment, Social และ Governance) มาขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งกระบวนการภายในและภายนอกองค์กร โดยทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อองค์กรที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม และด้านบรรษัทภิบาล

“ตลาดหลักทรัพย์ฯมุ่งหวังว่า จากกลยุทธ์ดังกล่าวจะมีส่วนในการสร้างโอกาสที่มากกว่า สำหรับผู้เกี่ยวข้องกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขยายโอกาสการระดมทุนและการลงทุนสำหรับผู้ประกอบการและผู้ลงทุน การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมตลาดทุน และดูแลสังคม ควบคู่กับสิ่งแวดล้อม เพื่อการเติบโตที่สมดุล” กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าว