บาทแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือน หลังคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง

เงินบาท
แฟ้มภาพ

เงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 10 เดือน หลังคาดเฟดขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ชะลอลง หลังดัชนี (CPI) ทั่วไปเดือนธันวาคม ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานชะลอตัวลง ส่งผลให้นักลงทุนให้น้ำหนักมากกว่า 90% คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการณ์เคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 9-13 ธันวาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (9/1) ที่ระดับ 33.62/64 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/1) ที่ระดับ 34.02/04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลักหลังกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 223,000 ตำแหน่งในเดือนธันวาคมปรับตัวลดลงจาก 256,000 ตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าในเดือนพฤศจิกายน

ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ต่ำกว่าในเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 3.6% และนักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% อย่างไรก็ตามค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานในเดือนธันวาคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% โดยชะลอตัวจากระดับ 0.6% ในเดือนพฤศจิกายน

เฟดยังมุ่งมั่นสกัดเงินเฟ้อ

ทั้งนี้นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะสกัดเงินเฟ้อที่พุ่งสูง และเฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงระดับ 5.00-5.25% และคงดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลานานเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และขจัดอุปสงค์ส่วนเกินออกจากระบบเศรษฐกิจ ขณะที่นางแมรี ดาลี ประธานเฟดสาขาซานฟรานซิสโก ระบุเช่นกันว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าระดับ 5.0% โดยแตะระดับสูงสุดที่ 5.00-5.25 และคงดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไประยะหนึ่ง เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% แต่การที่ดอกเบี้ยจะตรึงอยู่ระดับดังกล่าวนานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจในอนาคต

โดยนางดาลีคาดการณ์ว่า อัตราว่างงานของสหรัฐซึ่งขณะนี้อยู่ที่ระดับ 3.5% จะเพิ่มขึ้นแตะประมาณ 4.5% หรือ 4.6% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งขณะนี้อยู่ที่ 5.5% จะลดลงสู่กรอบล่างของ 3% ภายในสิ้นปี 2566 ขณะที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ธนาคารกลางสหรัฐต้องมีความเป็นอิสระจากการเมือง ในการกล่าวสุนทรพจน์ว่าด้วยความเป็นอิสระของธนาคารกลางในการเสวนาที่จะจัดขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีการพูดถึงแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดหรือการดำเนินนโยบายการเงินแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในวันศุกร์ (13/1) โดยแตะระดับ 32.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ชะลอตัวลงในเดือน ธ.ค. ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ผ่อนคันเร่งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนี (CPI) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.5% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน พ.ย.ที่เพิ่มขึ้น 7.1% และเป็นการปรับตัวขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 นอกจากนี้ ตัวเลดังกล่าวยังสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI ทั่วไปปรับตัวลง 0.1% ในเดือน ธ.ค. สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เช่นกัน และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง

ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 5.7% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน พ.ย.ที่เพิ่มขึ้น 6.0% และสอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์เช่นกัน ทั้งนี้ หลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนี CPI นักลงทุนได้ให้น้ำหนักมากกว่า 90% ในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนัก 76.7%

เงินบาทเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่า

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในเชิงแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการเปิดประเทศของจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ในวันที่ 8 มกราคม โดยนักลงทุนได้รับแรงหนุนให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดเอเชียอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในสัปดาห์นี้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 32.93-33.66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 32.96/98

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดวันจันทร์ (9/1) ที่ระดับ 1.0659/60 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/10) ที่ระดับ 1.0511/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรแข็งค่าตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้สำนักงานสถิติยุโรป Eurostat ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปซึ่งรวมค่าอาหารและพลังงานปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่สองติดต่อกันสู่ระดับ 9.2% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดที่ระดับ 9.6% และระดับ 10.1% ในเดือนพฤศจิกายน รวมถึงนายมาริโอ เซนเตโน สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรป ได้ให้ความเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยของอีซีบีใกล้แตะระดับสูงสุด หลังพบอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง

อย่างไรก็ตาม เขาได้ย้ำว่าธนาคารกลางของยุโรปจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ทั้งนี้ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่ดอลลาร์สหรัฐได้รับแรงกดดันหลังจากนักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะผ่อนคันเร่งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐที่ออกมาชะลอตัวลง

อย่างไรก็ดีตลาดรอจับตาดูตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เดือน พ.ย.ของอังกฤษและเยอรมนีในวันศุกร์ (13/1) ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีกรอบการเคลื่อนไหวระหว่าง 1.0634-1.0867 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/1) ที่ระดับ 1.0840/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

เงินเยนแข็งค่า

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันจันทร์ (9/1) ที่ระดับ 131.83/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (7/10) ที่ระดับ 134.26/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนแข็งค่าตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่วันอังคาร (10/1) ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานที่ไม่รวมอาหารสดในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นดัชนีวัดแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วประเทศนั้น ปรับตัวขึ้น 4% ในเดือน ธ.ค. สูงกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน ส่งสัญญาณว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อขยายวงกว้างขึ้น

โดยสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ดัชนี CPI เดือน ธ.ค. ปรับขึ้นมากที่สุดในรอบ 40 ปี ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการคาดการณ์ของตลาดว่า BOJ อาจยุตินโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยการปรับนโยบายควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาว ที่ผ่านมานั้น นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการ BOJ ปฏิเสธที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยมองว่า BOJ ต้องสนับสนุนเศรษฐกิจต่อไปจนกว่าเงินเฟ้อซึ่งปัจจุบันถูกผลักด้วยต้นทุนนั้น จะเปลี่ยนไปเป็นการถูกขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์อันเนื่องมาจากค่าจ้างที่ปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยระยะยาวของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นนับตั้งแต่ BOJ สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดในเดือน ธ.ค. 2565 ด้วยการขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งนักลงทุนมองว่าเป็นการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต อย่างไรก็ดีค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมากในวันศุกร์ (13/1) นักลงทุนเทขายสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบเงินเยนในการซื้อขายที่ตลาดโตเกียว หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้น 6.5% ในเดือน ธ.ค. เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องคาดการณ์ของตลาด โดยเป็นการปรับตัวขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ส่งผลให้นักลงทุนคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะผ่อนคันเร่งในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย


ทางด้านธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยกระดับการประเมินเศรษฐกิจใน 4 จาก 9 ภูมิภาคของญี่ปุ่น เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงเพิ่มขึ้น หลังไม่มีมาตรการควบคุมโควิด-19 แล้ว แต่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้แนวโน้มการบริโภคลดลง ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.26-132.65 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/1) ที่ระดับ 128.94/96 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ