KKP ไม่สน Virtual Bank-ลุยปั๊มพอร์ตรถเรียกเงิน

รถเรียกเงิน

KKP ลั่นไม่เห็นประโยชน์ “virtual bank” ชี้ต้องใช้เงินทุนสูง-ห่วงดิสรัปต์ธุรกิจดั้งเดิม กางแผนปี’66 ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่โต 13% ลุยขยายธุรกิจ “new S-curve” 2 กลุ่ม “รถเรียกเงิน-โปรดักต์ลงทุนเจาะลูกค้ากลุ่ม mass affluent” สร้างการเติบโตใหม่

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ธนาคารยังไม่สนใจเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (virtual bank) เนื่องจากธนาคารยังไม่ชัดเจนถึงประโยชน์กับข้อจำกัด หรือกฎเกณฑ์ในการจัดตั้ง รวมถึงการร่วมกับพันธมิตรในรูปแบบร่วมทุน (joint venture) ที่มีความซ้ำซ้อน

“เรายังไม่แน่ใจว่า ถ้าได้ไลเซนส์ใหม่มา แล้วจะกลับมา disrupt ธุรกิจดั้งเดิมหรือไม่ ดังนั้น ตอนนี้เรายังไม่เห็นประโยชน์จากการควักเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเราจะต้องเริ่มจากการลงทุน core banking ใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งกับธุรกิจเดิม รวมถึงหากกรณีการหาพันธมิตรเราจะต้องดูว่ามีฐานลูกค้าเท่าไร และจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยการจะร่วมทุนได้จะต้องมีเคมีและข้อตกลงร่วมกันได้”

ขณะที่ทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2566 มีความท้าทายจากเศรษฐกิจที่ยังคงผันผวน จึงต้องเติบโตแบบระมัดระวัง ธนาคารเกียรตินาคินภัทรจึงตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อ 13% จากปีก่อนที่โต 20% โดยจะเน้นการสร้างการเติบโตและขยายฐานลูกค้าที่มีศักยภาพ ผ่านการเชื่อมโยงธุรกิจของกลุ่ม และแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาเน้นลูกค้าบุคคลกลุ่มใหญ่

แต่ช่วงหลังเริ่มมุ่งไปที่กลุ่มลูกค้ารายย่อยที่มีความต้องการสินเชื่อและลงทุนมากขึ้น ผ่านผลิตภัณฑ์ เช่น Edge (เอดจ์) และแอปพลิเคชั่น Dime ซึ่งปัจจุบันมีผู้สนใจดาวน์โหลด 1 แสนราย และมีผู้ที่เปิดบัญชีแล้วกว่า 4 หมื่นราย

 

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์
อภินันท์ เกลียวปฏินนท์

ทั้งนี้ ในระยะต่อไป ธนาคารจะต้องหาการเติบโตใหม่ หรือ new S-curve เพื่อวางแผนการเติบโตในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นใน 2 กลุ่มธุรกิจ คือ 1.ธุรกิจเช่าซื้อ โดยเฉพาะโปรดักต์ “รถเรียกเงิน” ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตมากกว่ากลุ่มสินเชื่อรถใช้แล้ว ปัจจุบันธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อคงค้างปัจจุบันอยู่ที่ 1.85 แสนล้านบาท

“หลังจากธนาคารหันมาเน้นสินเชื่อเช่าซื้อประเภท ‘รถเรียกเงิน’ มากขึ้น คาดว่าภายใน 3-5 ปี สัดส่วนพอร์ตดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10% ของสินเชื่อเช่าซื้อ”

2.ตลาดทุน จะหันมาเน้นกลุ่มลูกค้า mass affluent ที่มีเงินฝากและการลงทุน (AUM) ตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป ซึ่งธนาคารมองตลาดกลุ่มนี้มีศักยภาพและเป็นกลุ่มใหญ่ของตลาดกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (wealth management) โดยในระบบคาดว่าจะมีลูกค้า mass affluent จำนวนมากหลักหลายล้านราย เมื่อเทียบกับกลุ่ม high network ที่มีหลักหมื่นราย หรือกลุ่ม affluent ที่มีหลักแสนราย

โดยกลุ่ม mass affluent มีความต้องการลงทุน ทั้งเงินฝาก และสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตในแง่ของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในอนาคต นอกจากการปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าระยะยาว 3-5 ปี ต้องการขยับพอร์ตกลุ่มลูกค้า mass affluent ให้มีเพิ่มขึ้นประมาณ 50% ของ AUM ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7 แสนล้านบาท

“เราต้องการสร้างการเติบโตใหม่ และหลากหลายมากขึ้นที่ไม่ใช่สินเชื่ออย่างเดียว เพราะช่วยเรื่องของ balance sheet ของเรา และเราไม่ต้องใช้เงินทุนเยอะ แต่มีความเสี่ยงสูง และปีนี้เป็นปีที่ยังมีความท้าทาย เราจึงต้องผ่อนคันเร่ง และคัดเลือกการเติบโตอย่างคุณภาพ

โดยเราจะพยายามรักษา loan spread ที่ 5% จากปีก่อนที่ 5.4% มีอัตรา ROAE ที่ 13% จากปีก่อนที่ 13.6% และมีสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่ 3.1% จากสิ้นปีก่อนที่ 3.3% โดยแนวโน้มเอ็นพีแอลเริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น สังเกตได้จากสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) ปรับลดลงแล้ว”

สำหรับผลประกอบการของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 7,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.3% จากปีก่อน โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่สินเชื่อรวมขยายตัวถึง 21.4% จากการขยายตัวในสินเชื่อทุกประเภท

ด้านธุรกิจตลาดทุน ยังคงความสามารถในการสร้างรายได้ที่ดี โดยธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งของตลาด ขณะที่ธุรกิจการจัดการกองทุนก็มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจการลงทุนยังคงเติบโตได้ดีจากฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (equity and derivative trading) ที่ทำกำไรได้ดีในสภาวะผันผวน