Virtual Bank คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง

Virtual Bank
ภาพจาก PIXABAY

Virtual Bank bank หรือ Digital only bank คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง รวมเรื่องควรรู้เกี่ยวกับก้าวต่อไปของระบบการเงินไทย และเกณฑ์การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา

หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัด media briefing เรื่อง แนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (virtual bank) โดยมีนายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน และนางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงินเป็นผู้ให้ข้อมูล

หลายคนอาจจะยังสงสงสัยว่า Virtual Bank คืออะไร มีประโยชน์อะไรบ้าง แตกต่างจากธนาคารเดิมอย่างไร ทำไมต้องมีธนาคารรูปแบบนี้อีก

“ประชาชาติธรุกิจ” จะพาไปทำความรู้จักกับ “Virtual Bank” ให้มากขึ้น

Virtual Bank คืออะไร ?

รูปแบบของ Virtual Bank คือธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีลักษณะสำคัญคือ ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ เช่น สาขา และตู้ ATM แต่สามารถจัดตั้งสำนักงานใหญ่ได้ และให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ

เริ่มตั้งแต่การทำความรู้จักลูกค้า (KYC) การรับฝากเงิน ไปจนถึงการให้บริการทางการเงินอื่น ๆ เช่น การให้สินเชื่อ การโอน และชำระเงิน และการลงทุน โดยลูกค้าสามารถใช้บริการติดต่อสอบถาม หรือร้องเรียนการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่ Virtual Bank จัดเตรียมไว้

ทั้งนี้ Virtual Bank มีการรับเงินฝาก และได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ซึ่งแตกต่างจากการให้บริการทางการเงินดิจิทัลแบบอื่น ๆ เช่น

  1. Peer-to-Peer (P2P) lending ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยในการจับคู่ระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้
  2. Crowdfunding ซึ่งมี Platform ทำหน้าที่ตัวกลางช่วยจับคู่ผู้ระดมทุนและนักลงทุน
  3. Decentralized Finance (DeFi) ซึ่งเป็นการให้บริการทางการเงินโดยไม่ผ่านตัวกลาง

Virtual Bank แตกต่างจากธนาคารแบบเดิมอย่างไร ?

นอกจากลักษณะและรูปแบบการให้บริการที่ระบุข้างต้น Virtual bank ยังมีข้อแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม ในเรื่องของระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core banking system)

โดย Core banking system ของธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม ส่วนใหญ่ถูกพัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืดหยุ่นในการเชื่อมต่อกับระบบงานอื่น ๆ หรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทางธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Virtual Bank
ภาพจาก PIXABAY

ประโยชน์ของ Virtual Bank คืออะไร ?

มติชนรายงานว่า ประโยชน์ของ Virtual Bank จะทำให้การเข้าถึงสินเชื่อรายย่อย และเอสเอ็มอีได้ง่ายขึ้น จากการสร้างข้อมูลรอยเท้าดิจิทัล (Digital footprint) ของภาคครัวเรือน และภาคธุรกิจ ผ่านการโอน หรือชำระเงินผ่านบัญชีสถาบันการเงิน หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) เพื่อชำระคืนสินเชื่อ หรือชำระค่าสินค้าและบริการผ่านร้านค้า

รวมทั้งร้านค้าออนไลน์ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ จะเป็น Alternative data ที่ช่วยให้ผู้ให้บริการทางการเงินรวมทั้ง Virtual bank สามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาพัฒนาบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการในอนาคต จากเดิมกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ไม่มีรายได้ประจำ หรือไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความสามารถและความเต็มใจในการชำระหนี้

พร้อมทั้งสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงินที่มีรูปแบบใหม่ และแตกต่างจากที่มีอยู่ โดยอาจเป็นบริการที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่ม หรือสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานให้แก่ผู้บริโภค ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจของ Virtual Bank ในต่างประเทศ

อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนการดำเนินงาน เพราะ Virtual Bank นำเทคโนโลยีมาใช้ในขั้นตอนการทำธุรกรรมต่าง ๆ และให้บริการออนไลน์เต็มรูปแบบ จะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ Virtual bank ในต่างประเทศหลายแห่งสามารถลดต้นทุนในการหาลูกค้า รวมถึงต้นทุนในการได้มาซึ่งข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ความต้องการ หรือความเสี่ยง

เนื่องจากมีฐานลูกค้าและข้อมูลต่าง ๆ จากธุรกิจประเภทอื่นอยู่แล้ว ต้นทุนที่ลดลงทำให้ Virtual bank สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีราคาดีกว่า เช่น ดอกเบี้ยเงินฝากสูง ดอกเบี้ยสินเชื่อต่ำ หรือไม่เก็บค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันของ Virtual bank ที่มีมากกว่าธนาคารพาณิชย์ดั้งเดิม

แบงก์ชาติเปิดเกณฑ์ Virtual Bank

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. ได้เปิดเผยถึงแนวทางการอนุญาตให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า ระยะเริ่มต้นจะเปิดให้ขอใบอนุญาต (ไลเซนส์) ได้ไม่เกิน 3 ราย

นางสาววิภาวินกล่าวว่า การให้ไลเซนส์จะเปิดกว้างให้กับผู้ที่สามารถตอบโจทย์ความคาดหวังของ ธปท.ที่ต้องการให้ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี รวมถึงมีนวัตกรรมที่ไม่กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน สามารถเข้ามาขอไลเซนส์ได้

ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์ หรือไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ก็ได้ จะมารายเดียว หรือจับมือกันมาก็ได้ หรือจะเป็นต่างชาติก็ได้ แต่ต้องจับกับผู้ประกอบการในไทยมา โดยต่างชาติจะถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% และต้องจดทะเบียนจัดตั้งสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย

ขณะที่ทุนจดทะเบียนเริ่มต้นต้องไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เนื่องจาก Virtual Bank ต้องมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งเช่นเดียวกับแบงก์ดั้งเดิม แต่ไม่อนุญาตให้มี ATM/CDM ของตัวเอง

ธปท.
แฟ้มภาพ

ไตรมาส 1/66 ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก

โดย Virtual Bank จะต้องหลุดจากกรอบธนาคารดั้งเดิม (Physical) ที่ใช้คนจำนวนมาก มีกระบวนการที่เยิ่นเย้อ และการปรับกระบวนการเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งแตกต่างจาก Virtual Bank ที่ขั้นตอนกระบวนการจะอยู่บนดิจิทัล จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกระบวนการคิดทั้งหมด รวมถึงการให้บริการของธนาคารยังไม่ครบวงจร สิ่งเหล่านี้จะมาเป็นส่วนเพิ่มจากผู้เล่นรายเดิม

อย่างไรก็ตาม Virtual Bank ถือเป็นเรื่องใหม่ของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งหลายประเทศได้ดำเนินการจัดตั้งไปแล้ว และมีอีกหลายประเทศที่อยู่ระหว่างการจัดตั้ง เช่นเดียวกับประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นร่างการจัดตั้ง

และการอนุญาตไลเซนส์ (ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ รูปแบบธนาคารไร้สาขา) หรือ Virtual Bank ตั้งแต่วันนี้-12 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและออกหลักเกณฑ์ได้ภายในไตรมาสที่ 1/2566

และหลังจาก ธปท.ออกหลักเกณฑ์จะเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจในการประกอบธุรกิจภายในระยะเวลา 6 เดือน และคาดว่าภายในไตรมาสที่ 4/2566 จะมีการเริ่มพิจารณาแผนธุรกิจของผู้สมัครว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเป้าหมายของ ธปท.ที่ต้องการเห็นหรือไม่ และกระทรวงการคลังจะใช้เวลาในการพิจารณาอีก 3 เดือน และภายในไตรมาสที่ 2/2567 จะมีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือก

“กระบวนการคัดเลือก เราจะเรียงลำดับคนที่จะต้องมาตอบโจทย์ ธปท.ที่ดีที่สุด โดย ธปท.จะมีผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านสถาบันการเงิน ด้านเพย์เมนต์ และด้านไอที ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากภายในและภายนอก เพื่อให้คัดกรองชื่อออกมาที่ดีที่สุด และหากเทียบต่างประเทศกระบวนการของไทยไม่ได้ช้ากว่า เพราะในต่างประเทศระยะเวลาคัดเลือกใช้เวลา 12 เดือน ของเราใช้เวลา 9 เดือน”

คาดเปิดบริการ Virtual Bank กลางปี 2568

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ธปท.จะอนุมัติให้จัดตั้ง Virtual Bank ได้เพียง 3 ราย จะมีระยะเวลาการเตรียมตัว และการจัดทำระบบทางด้านไอที หรืออื่น ๆ ภายในระยะเวลา 1 ปี จึงคาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถเปิดให้บริการ Virtual Bank ภายในกลางปี 2568

ทั้งนี้ ในช่วงการเปิดให้บริการ 3-5 ปีแรก ธปท.จะติดตามใกล้ชิด เพื่อพิจารณาว่าเป็นไปตามแผนธุรกิจและความเสี่ยงที่กำหนดหรือไม่ หาก ธปท.เห็นว่า Virtual Bank ไม่มีความพร้อมเพียงพอในการให้บริการ หรือธุรกรรมอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบ

หรือมีพฤติกรรมผูกขาดตลาด ธปท.อาจพิจารณาสั่งการให้แก้ไข หรือสั่งปิดกิจการได้ แต่หากสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ธปท.จะลดความเข้มงวดในการติดตามอย่างใกล้ชิด

เบื้องต้น ธปท.จะอนุมัติการจัดตั้ง Virtual Bank ให้กับผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจเพียง 3 รายเท่านั้น เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่จึงต้องมีการติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน ผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ส่วนการจะเปิดรับสมัครเพิ่มเติมหรือไม่นั้น อาจจะมีการพิจารณาอีกครั้งหลังจากดูผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการ 3 รายแรกว่าเป็นไปตามเป้าหมายของ ธปท.ต้องการหรือไม่อย่างใด

“ในช่วง Phasing 3-5 ปี เป็นช่วงที่เราจะติดตามใกล้ชิด แต่ไม่ใช่ Sandbox เพราะเป็นการเปิดให้บริการจริง ซึ่งหากผู้สนใจมีความพร้อมก่อน 3-5 ปี ก็สามารถหลุดจากการติดตามเข้มงวดได้ และหากมีข้อใดที่ต้องปรับปรุงอาจจะต้องขยายเฟสออกไป หรือไม่ยอมแก้หรือปรับปรุง ก็ต้องปิดกิจการ หรือการทำ Exit Plan

โดยผู้ทำธุรกิจจะต้องมีแผน Exit Plan ไว้ล่วงหน้า ทั้งขั้นตอนกระบวนการดูแลลูกค้า ทั้งการจ่ายเงินคืนลูกค้า การย้ายพอร์ตไปแห่งอื่น เพื่อให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด”

Virtual Bank
ภาพจาก PIXABAY

หนุนลูกค้ารายย่อยเข้าถึงบริการทางการเงิน

เป้าหมายของการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา ธปท.คาดหวังว่า Virtual Bank จะเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด และครบวงจรมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน หรือเข้าถึงบริการทางการเงินไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการเข้าไปตอบโจทย์สำหรับรายย่อยและเอสเอ็มอีรายเล็กได้มากขึ้น

รวมถึงการเข้ามาสร้างนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อระบบการเงิน ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และประกอบธุรกิจที่ยั่งยืน โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันการปล่อยสินเชื่อ จนประชาชนมีหนี้สินเกินตัว และไม่เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้อำนาจตลาด หรือผูกขาดตลาด ให้แก่ธุรกิจในเครือ จนกระทบต่อระบบการเงินในท้ายที่สุด

“สิ่งที่เป็น Green Line หรือสิ่งที่เราอยากเห็น Virtual Bank ที่เข้ามาเป็นผู้เล่นใหม่ เกิดกระตุ้นให้ทุกคนตื่นตัว และเกิดความแข่งขันมากขึ้น เหมือนในต่างประเทศ ที่พอมีธนาคารไร้สาขา ผู้เล่นเกิดการปรับตัว ลดค่าธรรมเนียม ยกเลิกค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชี เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้

และสิ่งที่เป็น Red Line หรือไม่อยากเห็นคือ การเข้ามาแล้วประกอบธุรกิจไม่ยั่งยืน มาเร่งปล่อยสินเชื่อ ขยายฐานลูกค้า กระตุ้นให้คนก่อหนี้เกินตัว และซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนไทยให้มากขึ้น หรือเร่งระดมเงินฝากให้ดอกเบี้ยสูง เพราะท้ายที่สุดอาจแบกรับต้นทุนไม่ไหว และล้มกิจการได้”

เปิด 8 เกณฑ์คุณสมบัติคัดเลือก

สำหรับคุณสมบัติของผู้จัดตั้ง Virtual Bank จะมีอยู่ 8 ข้อสำคัญ ได้แก่

  1. ธุรกิจต้องมี Business Model ที่ตอบโจทย์ให้เกิดความยั่งยืน ทั้งการขยายฐานลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่มได้ และมีการบริหารรายได้และต้นทุนได้อย่างยั่งยืน
  2. มีธรรมาภิบาลที่ดี โดยผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร กรรมการต้องมีคุณสมบัติที่เหมาะสม
  3. มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการดิจิทัล ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า
  4. มีการใช้เทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ลดต้นทุนการดำเนินงาน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว
  5. มีความสามารถในการบริหารความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างยั่งยืน ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงของระบบ
  6. มีความสามารถในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หลากหลาย เพื่อนำไปให้บริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม
  7. มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องสามารถสนับสนุนให้ Virtual Bank ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
  8. ทุนจดทะเบียน สำหรับผู้ที่ขอใบอนุญาต Virtual Bank ที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยการจัดตั้ง Virtual Bank ที่ฮ่องกง เกาหลีใต้

“Virtual Bank ถือเป็นธนาคารชนิดหนึ่ง ดังนั้น จะใช้กรอบการดูแลเดียวกับธนาคารพาณิชย์ ทั้งหลักเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน และอื่น ๆ โดยทุน 5,000 ล้านบาท ถือว่าไม่เยอะ หรือเทียบเท่าธนาคารเพื่อรายย่อย (ธย.) และมีความคุ้มครองผู้ฝากเงิน

อย่างไรก็ดี มีคนกังวลใน 2-3 เรื่อง ซึ่งเราจะดูแลเข้มกว่าธนาคาร คือ

  1. ความมั่นคงของระบบงานทางด้านไอที ที่กำหนดว่าจะต้องล้มได้ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อปี และหากสะดุดจะต้องกู้ให้ได้ภายใน 2 ชั่วโมง
  2. ประสิทธิภาพการดูแลลูกค้า แม้จะไม่มีสาขา แต่จะต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภคในช่องทางออนไลน์
  3. .ผู้สมัครสามารถใช้บริการจากภายนอกได้ เช่น การติดตามทวงถามหนี้”

10 ราย สนใจตั้ง Virtual Bank

นางสาววิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้ามาสอบถามการจัดตั้ง Virtual Bank แล้วกว่า 10 ราย ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรูปแบบ ทั้งสถาบันการเงิน และไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยในจำนวนดังกล่าวจะเป็นต่างชาติจำนวน 3 ราย

ทั้งนี้ กรณีเป็นต่างชาติจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายของ ธปท. โดยจะต้องร่วมทุนกับบริษัทไทย เนื่องจากเป็นการจดทะเบียนในไทย โดยต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 25% แต่หากต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจะต้องเข้ามาขออนุญาตเป็นรายกรณี ซึ่งสามารถผ่อนปรนได้ไม่เกิน 49%

“ส่วนใครที่มีสิทธิขอการจัดตั้งได้บ้างนั้น จะเป็นแบงก์ หรือน็อนแบงก์ จะมาเดี่ยว หรือจับมือกันมาก็สามารถทำได้ หรือต่างชาติก็มาได้ ส่วนคนที่มีไลเซนส์แบงก์ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ห้ามใช้แบรนด์และโลโก้เดียวกัน”

“และจะต้องทำบัญชีและเงินทุนแยกจากกันชัดเจน โดยต้องไม่พึ่งพาเงินทุนจากบริษัทแม่เยอะเกินไป แต่ Virtual Bank สามารถจับมือกับพันธมิตร เช่น ไปรษณีย์ไทย ร้านสะดวกซื้อ และธนาคารใช้เครื่อง ATM และ CDM ได้”