ศึกร้อน! เก้าอี้เลขาฯ ก.ล.ต. บอร์ดประชุมวันนี้ เคาะต่อ/ไม่ต่ออายุ “รื่นวดี”

รื่นวดี สุวรรณมงคล
รื่นวดี สุวรรณมงคล

บอร์ด ก.ล.ต. นัดถกวาระร้อนวันนี้ เคาะต่อ/ไม่ต่ออายุ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” นั่งเก้าอี้เลขาฯ ก.ล.ต.หลังจากจะครบวาระ 4 ปี 30 เม.ย.นี้

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือบอร์ด ก.ล.ต. ซึ่งประกอบด้วย 1.นายพิชิต อัคราทิตย์​ ประธานบอร์ด 2.นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง​​ 3.นางโสรดา เลิศอาภาจิตร์​ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ 4.นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

5.​นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 6.นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ประธานบอร์ด PTTEP

7.นายวิพุธ อ่องสกุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 8.นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค​ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ และ บมจ.ปตท. และอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์

9.นายพรชัย ชุนหจินดา คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย 10.นางสาวจารุวรรณ เฮงตระกูล กรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ 11.นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการและเลขาธิการ ก.ล.ต.

จะมีการประชุมเพื่อหารือประเด็นสำคัญในการต่อวาระนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน หรือควรจะเปิดสรรหาใหม่ตามขั้นตอน ซึ่งจะครบกำหนดวาระ 4 ปี ในวันที่ 30 เมษายน 2566 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. ซึ่งรวมถึงประธานบอร์ด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ได้รับการแต่งตั้งจะมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และเมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งได้อีก แต่ไม่สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้เกิน 2 วาระ

โดยประเด็นดังกล่าวได้มีการประชุมบอร์ด ก.ล.ต. เพื่อลงมติไปแล้วจำนวน 2 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยครั้งที่ 1 มีการประชุมลับไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2565 แต่มติเสียงแตกเป็น 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ก่อนที่จะมีการลงมติไม่ต่อวาระด้วยเสียงที่ไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 4 เสียง

ทำให้นายพิชิต อัคราทิตย์ ประธานบอร์ด ก.ล.ต. ต้องร่วมโหวตด้วยเพื่อให้มติเป็นเสียงข้างมาก ส่งผลให้มีมติ 6 ต่อ 4 เสียง ไม่ต่อวาระนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. คนปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 บอร์ด ก.ล.ต. ได้แจ้งมติให้สำนักงาน ก.ล.ต. แจ้งต่อนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. ให้สำนักงานออกประกาศเพื่อเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้ารับการคัดเลือกตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต.คนใหม่ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการออกประกาศดังกล่าว

และถัดมาครั้งที่ 2 ประชุมบอร์ด ก.ล.ต.ไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 บอร์ด ก.ล.ต. ได้นำประเด็นการครบวาระตำแหน่งเลขาธิการ ก.ล.ต. มาหารือบนโต๊ะประชุมอีกครั้ง แต่ก็ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ โดยมีรายงานว่ามีประเด็นปัญหาเรื่องความไม่เป็นกลางของกรรมการบางคนที่อาจเข้าข่าย conflict of interest หรือมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่ จึงได้นัดหารือใหม่ในวันนี้ (2 ก.พ. 66) เพื่อให้ได้ข้อสรุปอีกครั้ง

โดยโปรไฟล์​​ของนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. จบบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (M.B.A) University of California at Berkeley, U.S.A.​ จบนิติศาสตรมหาบัณฑิต (LL.M.) Harvard Law School, Cambri​dge, Massachusetts, U.S.A. จบเนติบัณฑิตไทย (นบท.) สำนักอบรมกฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา​ และจบนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี, อธิบดีกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม

โดยในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเข้ามารับตำแหน่งในช่วงเวลาที่ท้าทายต่อหน่วยงานกำกับตลาดทุนอย่าง ก.ล.ต.มาก เพราะต้องกำกับดูแลทั้งตลาดทุนภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และควบคุมดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งเกิดปัญหาขึ้นมากมาย

ไล่เรียงข่าวใหญ่ของวงการ คดีปล้นโบรกเกอร์ ซึ่งเกี่ยวพันกับกรณีการซื้อขายหุ้น บมจ.มอร์รีเทิร์น (MORE) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 โดยเกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระค่าซื้อขายหุ้น MORE จนส่งผลให้เกิดความเสียหายกว่า 4,000 ล้านบาท

กรณี MORE ก.ล.ต.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาโดยเฉพาะเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ฝั่งตำรวจนอกจากจะมีการดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงแล้ว ทาง ก.ล.ต.เองนั้นจะมีการตรวจสอบพฤติกรรมเข้าข่ายการสร้างราคา หรือปั่นหุ้นด้วย เพื่อรับไม้ต่อจาก ปปง.ขยายเวลาอายัดทรัพย์ค่าขายหุ้น MORE มูลค่ากว่า 5,300 ล้านบาท จากเดิมที่จะครบกำหนด 90 วัน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566

นอกจากนี้ เชื่อมโยงกรณีบริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย เวลท์ จำกัด ได้นำเงินจากบัญชีหลักทรัพย์ของลูกค้าไปชำระค่าหุ้น MORE ทำให้คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.) สั่งหยุดประกอบธุรกิจชั่วคราว

และช่วงสิ้นปี 2565 ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษ บล. เอเชีย เวลท์ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีแยกทรัพย์สินของลูกค้าไม่ครบถ้วน โดยมีการนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้ประโยชน์เพื่อบริษัท ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้าตามที่คณะกรรมการกำกับตลาดทุนประกาศกำหนด

โดย ก.ล.ต.ตรวจสอบพบว่า ระหว่างวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ถึงวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 บล. เอเชีย เวลท์ ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ได้มีการแยกทรัพย์สินของลูกค้าไม่ครบถ้วน โดยนำทรัพย์สินของลูกค้าไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องของบริษัทหลายกรณี ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่บริษัทได้ให้บริษัทแม่กู้ยืมเงินไปก่อนหน้านั้น

ส่วนการกำกับธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ก.ล.ต.ได้เข้าดำเนินการบริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex) หลังประกาศระงับการถอนเงินบาทและคริปโตเคอร์เรนซีชั่วคราว จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ทำให้ขาดสภาพคล่องและนำเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อศาลสิงคโปร์

ในกรณีของซิปเม็กซ์ ก.ล.ต.ได้เข้าตรวจสอบและใช้มาตรการทางแพ่ง พร้อมทั้งประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อดำเนินคดีอาญา นอกเหนือจากความผิดตาม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลอีกด้วย

และใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด กรณีสร้างปริมาณเทียมสินทรัพย์ดิจิทัล ในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกำหนดระยะเวลาห้ามซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหาร