ประธานออมสินคนใหม่ ชูบทบาทหนุน SMEs ปรับ-รับเทรนด์โลก

ธีรัชย์ อัตนวานิช
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา ธนาคารของรัฐนับว่ามีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน หรือแม้กระทั่งตอนนี้ที่วิกฤตดังกล่าวคลี่คลายลงไปแล้ว แต่ในช่วงของการฟื้นตัวนี้ ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของแบงก์รัฐ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือธนาคารออมสิน ในการดูแลเศรษฐกิจฐานรากอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเตรียมการเพื่อรับมือกับกระแสโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ธีรัชย์ อัตนวานิช” รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการธนาคารออมสินคนล่าสุด ที่เพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง มีผลเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา

พยุงรายย่อย-SMEs สู้วิกฤต

โดย “ธีรัชย์” กล่าวว่า บทบาทของธนาคารออมสินนั้น เป็นไปตามแนวนโยบายของกระทรวงการคลังที่วางไว้ให้เป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” ซึ่งในช่วงที่ประเทศเกิดปัญหา หรือมีวิกฤตโรคระบาด ก็จะเห็นบทบาทของธนาคารของรัฐอย่างชัดเจน อย่างออมสินก็จะเห็นการดูแลทั้งประชาชนที่เป็นรายย่อย

และดูแลผลกระทบของผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งลูกค้าเอสเอ็มอีของออมสินจะเป็นรายย่อยมาก ๆ เป็นกลุ่มที่ยังเข้าไม่ค่อยถึงบริการทางการเงินในระบบ ประกอบกับเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลที่มาเร็ว ทำให้มีเครื่องมือในการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างตรงจุดมากขึ้น

สำหรับหนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤต จากการปล่อยสินเชื่อเพื่อดูแลประชาชนในช่วงวิกฤตโควิดนั้น ไม่ได้กระทบออมสิน เนื่องจากแบงก์มีการตั้งสำรองไว้หมดแล้ว ไม่น่ามีปัญหา รวมถึงสินเชื่อที่ปล่อยตามนโยบายรัฐบาลก็ได้รับการชดเชยอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจไทยโลกน่าจะไม่ได้แย่อย่างที่คิด และจีนเปิดประเทศก็เป็นปัจจัยบวกสำหรับเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นได้ต่อเนื่อง เมื่อเศรษฐกิจฟื้นดีขึ้นก็น่าจะทำให้หนี้เสียไม่เพิ่มขึ้นมาก

นอกจากนี้ การเปิดลงทะเบียนให้เข้ามาแก้ไขหนี้ ทางแบงก์ก็จะดูแลช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ ยืดหนี้ การผ่อนปรนเรื่องดอกเบี้ย รวมถึงพิจารณาว่า ถ้าเป็นเอสเอ็มอีจะมีทำอะไรเพิ่ม จะปรับธุรกิจอย่างไร หากแบงก์สามารถให้สินเชื่อใหม่ได้ก็จะทำ เพื่อช่วยฟื้นรายได้ให้ลูกค้า

โจทย์ใหญ่หนุน SMEs ปรับตัว

ส่วนในระยะต่อไป โจทย์สำคัญสำหรับทุกคนก็คือ แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับความเป็นกลางทางคาร์บอน ที่ตอนนี้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญ เพราะว่าถ้าไม่ทำ ในอนาคตก็อาจจะไม่สามารถค้าขายกับประเทศอื่นได้ เนื่องจากเรื่องนี้ถือเป็นการกีดกันทางการค้ารูปแบบหนึ่ง ดังนั้น ธนาคารออมสินน่าจะต้องมีบทบาทเข้าไปช่วยในการปรับตัว

“ผมว่าเรื่องนี้เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าอันหนึ่ง ซึ่งประเทศใหญ่ ๆ นำมาใช้ ทำให้ไทย ธุรกิจไทยต้องปรับตัว เพราะอย่าลืมว่าภาคการผลิตของเรา โดยเฉพาะเอสเอ็มอีส่วนหนึ่งจะเป็นแวลูเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ หรือที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน เขาก็เป็นแวลูเชนของอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของโลก สุดท้ายแล้วเขาก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายพวกนี้ แล้วถ้าใครปฏิบัติตามไม่ได้ เขาก็ต้องไปหาแวลูเชนใหม่”

“ธีรัชย์” กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาธนาคารออมสิน อาจจะมีดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การออกกรีนบอนด์ แต่อาจจะนำเงินไปสนับสนุนในแง่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดูแลสิ่งแวดล้อม แต่จากนี้น่าจะต้องทำอย่างเข้มข้นมากขึ้น 
โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่จะต้องเข้าไปช่วยให้ปรับตัว

“ถ้าธุรกิจตั้งเป้าหมายเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนไว้ เขาก็ต้องมาปรับแวลูเชนของเขาให้สอดคล้องกับเป้าหมาย ดังนั้น คนที่จะได้รับผลกระทบมากสุด ก็คือคนที่อยู่ในแวลูเชน ฉะนั้น อย่าคิดว่าเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบช้า ผมว่าจริง ๆ แล้วเอสเอ็มอีนี่แหละจะได้รับผลกระทบก่อนใคร”

โดยกระแสเหล่านี้ แม้ว่าจะได้ยินมาหลายปีแล้ว แต่ช่วงหลัง ๆ มานี้เร็วขึ้น และซีเรียสมากขึ้น เห็นได้จากธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่กำลังเร่งปรับตัวกัน

เดินหน้า “ธนาคารเพื่อสังคม”

สำหรับแนวทางที่ธนาคารออมสินจัดตั้งบริษัทย่อย หรือน็อนแบงก์ เข้าไปทำธุรกิจต่าง ๆ นั้น “ธีรัชย์” กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ออมสินเข้าไปดูในส่วนที่มี “การแข่งขันไม่สมบูรณ์” หรือส่วนที่ยังมีคนเข้าไม่ถึงสินเชื่ออยู่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการเข้าไปทำ ทั้งการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยทางฝ่ายบริหารของแบงก์ก็บอกว่าสามารถช่วยดึงดอกเบี้ยให้ลดลงได้ สามารถช่วยรายย่อยให้ได้รับดอกเบี้ยที่เป็นธรรมขึ้น รวมถึงธุรกิจขายฝากที่ดิน

“ถ้าปล่อยให้เอกชนปล่อยกู้ดอกเบี้ยแพง ๆ โดยไม่มีใครเข้าไปช่วยดึงดอกเบี้ย หรือต้นทุนทางการเงินลงมา ก็จะทำให้บรรดารายย่อยอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าเครดิตที่ตัวเองควรจะจ่าย”

แหล่งเงินสำคัญของรัฐบาล

นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งเงินทุนของรัฐบาล อย่างเช่นการสนับสนุนการกู้เงินของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา ทางกองทุนมีการกู้ไปแล้ว 3 หมื่นล้านบาท และปัจจุบันกระแสเงินสดของกองทุนก็เริ่มเป็นบวกแล้ว ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น

“ออมสินเป็นแบงก์ของรัฐ เราก็ต้องเข้ามาช่วยดูแล เพราะนอกจากประชาชนแล้ว รัฐบาลก็ต้องการเงิน ก็ต้องเข้ามาเป็นแหล่งเงินให้ ซึ่งออมสินก็ดูตรงนี้อยู่แล้ว” ประธานบอร์ดธนาคารออมสินกล่าว