รัฐจ่อปรับแผนก่อหนี้ “กองทุนน้ำมัน-กฟผ.“ ขอกู้เพิ่ม

ราคาน้ำมัน17ตุลา
ภาพจาก pixabay

คลังชง ครม.ปรับแผนก่อหนี้ใหม่ “กองทุนน้ำมันฯ-กฟผ.” ขอกู้เพิ่ม-รัฐบาลค้ำประกัน เอฟเฟ็กต์แบกภาระ “ค่าน้ำมัน-ค่าไฟ” อุ้มค่าครองชีพประชาชนอ่วม ดันหนี้สาธารณะต่อ GDP ขยับเกิน 60.43%

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ ได้เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1

ซึ่งการปรับแผนรอบนี้ สืบเนื่องมาจากสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต้องการสภาพคล่องเพิ่มอีก จากผลกระทบที่มีการตรึงราคาพลังงาน เพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน

โดยก่อนหน้านี้ ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 เดิม กฟผ.มีการขอกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อการบริหารภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ตามนโยบายรัฐบาล วงเงิน 85,000 ล้านบาท แต่ถึงขณะนี้แม้ว่าราคาพลังงานจะลดลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้องขอสภาพคล่องเพิ่มเติม

ส่วนกองทุนน้ำมันฯที่เดิมใส่วงเงินขอกู้ไว้ที่ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากขณะนั้น พระราชกำหนดผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 วงเงิน 150,000 ล้านบาท ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยปัจจุบันทางกองทุนน้ำมันฯก็ได้กู้เงินตามวงเงิน 30,000 บาท ไปเรียบร้อยแล้ว

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ขณะที่ล่าสุด ครม.ได้อนุมัติต่ออายุมาตรการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง 5 บาท/ลิตร อีก 4 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค. 2566 ส่วนสถานการณ์ของกองทุนน้ำมันฯนั้น ปัจจุบันติดลบน้อยลง จากที่เคยติดลบถึง 130,000 ล้านบาท ลดลงเหลือติดลบราว 111,000 ล้านบาท (ณ 5 ก.พ. 2566)

“จากราคาพลังงานที่ยังอยู่ระดับสูง ทำให้ปรับแผนรอบนี้ รายการหลัก ๆ จะเป็นในส่วนกองทุนน้ำมันฯที่ต้องขอกู้เพิ่มอีก มากกว่า 50,000 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 100,000 ล้านบาท รวมถึง กฟผ.ที่ต้องดูแลเรื่องค่าไฟ ทำให้โดยภาพรวมแล้วอาจทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ขยับขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้มาก จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 60.43%” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวว่า เหตุที่ไม่ได้ใส่วงเงินกู้ของกองทุนน้ำมันฯทีเดียว 150,000 ล้านบาทนั้น เนื่องจากต้องกู้ตามความจำเป็น และความพร้อมเป็นหลัก ซึ่งหากภายหลังต้องการวงเงินเพิ่มอีก ก็สามารถเสนอปรับแผนบริหารหนี้ได้อยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 นั้น เดิมมีแผนการก่อหนี้ใหม่ทั้งสิ้น จำนวน 1,052,785.47 ล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิม จำนวน 1,735,962.93 ล้านบาท และแผนการชำระหนี้ จำนวน 360,179.68 ล้านบาท

ขณะที่ตามแผนการก่อหนี้ใหม่ทั้งสิ้น จำนวน 1,052,785.47 ล้านบาทนั้น แบ่งได้เป็น การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลรวม 819,765.19 ล้านบาท การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจรวม 202,520.28 ล้านบาท และการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ 30,500 ล้านบาท

ด้านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่า การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องของ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และ กฟผ. เป็นผลมาจากความจำเป็นในการตรึงราคาพลังงานในประเทศ เพื่อช่วยเหลือภาระค่าครองชีพของประชาชน

ดังนั้นเพื่อให้การบริหารหนี้สาธารณะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการสร้าง ความชัดเจนของแนวทางการจัดหารายได้เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ดังกล่าว และรัฐบาลควรพิจารณาลดการอุดหนุนราคาพลังงานในโอกาสที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ (energy efficiency) มากขึ้น และยั่งยืนยิ่งขึ้นในระยะยาว