คลัง-ธปท. ลุยแก้ปัญหาหนี้ต่อ สั่งแบงก์รัฐเคาะประตูบ้านเจรจาลูกค้า

คลัง-ธปท. ลุยแก้ปัญหาหนี้

คลัง-แบงก์ชาติ เดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ต่อเนื่องปี 2566 “อาคม” รมว.คลัง สั่งแบงก์รัฐเพิ่ม กำชับต้องรู้จักลูกหนี้ตัวเอง-ต้องไปเคาะประตูบ้านเจรจาลูกหนี้เข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ด้วย พร้อมกำหนดผลการแก้ไขหนี้เป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินงานของแบงก์รัฐ ด้าน ธปท.เผยยอดลงทะเบียนแก้หนี้ผ่านออนไลน์กว่า 4 แสนรายการ แก้ไขสำเร็จ 5 หมื่นรายการ มีลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถติดต่อได้กว่า 1 แสนรายการ

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปี 2566 การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินให้แก่ประชาชนยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง แม้จะสิ้นสุดโครงการมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ไปแล้ว เพราะยังมีลูกหนี้อีกเป็นจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้ของลูกหนี้ที่มากกว่าการขยายระยะเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้อย่างแท้จริง และคำนึงถึงขึดภาระความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในแต่ละสัญญา

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง
อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง

โดยได้ให้นโยบายสถาบันการเงินของรัฐไปแล้วว่าต้องดำเนินการต่อเนื่อง และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการในส่วนธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ดีนอกจากที่ลูกหนี้เดินเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เองแล้ว ยังเพิ่มเติมว่าทุกธนาคารของรัฐจะต้องรู้จักลูกหนี้ของตนเองด้วย หมายถึงว่าถ้าเขามีปัญหาแบงก์ต้องเดินเข้าไปเคาะประตูบ้านเพื่อเรียนเชิญให้เขาไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เลย นอกจากนี้ได้กำหนดตัวชี้วัดแบงก์รัฐในการเข้าไปช่วยเหลือแก้หนี้ภาคประชาชนอีกด้วย

ส่วนความกังวลต่อทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นนั้น รมว.คลัง กล่าวเสริมว่า ตอนการเจรจาแก้หนี้เราก็ได้พิจารณาคำนึงถึงภาระของลูกหนี้ไว้แล้วจากภาวะดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดีอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นถือว่ายังไม่มากตามแนวทาง ธปท. ประกอบกับการปรับดอกเบี้ยของแบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์คงจะไม่มาก

ทั้งนี้สำหรับลูกหนี้ภายใต้สัญญาเดิมสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ในเงื่อนไขเดิมได้ ส่วนลูกหนี้ใหม่ต้องพิจารณาขีดความสามารถการชำระหนี้ โดยจะให้ผ่อนชำระยาวที่สุดภายใต้เงื่อนไขของแบงก์จะทำได้

เปิดผลงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจร

ทั้งนี้สำหรับผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้สัญจรทั้งหมด 5 ครั้ง (กรุงเทพ, ขอนแก่น, เชียงใหม่, ชลบุรี, สงขลา) พบว่ามีประชาชนและผู้ประกอบการขอรับบริการมากกว่า 34,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 24,000 ล้านบาท

แบ่งเป็นการขอรับคำปรึกษาด้านการเงินและแนวทางในการประกอบอาชีพ มากที่สุด 13,000 รายการ รองลงมาคือการขอแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่เดิมมากกว่า 10,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 10,000 ล้านบาท

การขอสินเชื่อเพิ่มเติมมากกว่า 4,000 รายการ คิดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 8,000 ล้านบาท และการเข้าร่วมกิจกรรมอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์เงินฝากเพื่อส่งเสริมการออม การตรวจข้อมูลเครดิตโดยบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

การแนะแนวอาชีพโดยสำนักงานจัดหางาน การขอคำแนะนำจากสำนักงานพัฒนาชุมชน การจำหน่ายทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของทั้งสถาบันการเงินและบริษัทเอกชน เป็นต้น จำนวนประมาณ 7,000 รายการ

ขณะที่ผลการจัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้รูปแบบออนไลน์ มีผู้ลงทะเบียนเพื่อขอแก้ไขหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทั้งสิ้นมากกว่า 188,000 ราย คิดเป็นจำนวนรายการสะสมมากกว่า 413,000 รายการ ประกอบด้วย ลูกหนี้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 35% ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 31% และภาคอื่น ๆ อีก 34% ของลูกหนี้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด

โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้บัตรเครดิตและ บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล 75% ตามมาด้วยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 6% สินเชื่อรายย่อยอื่น 5% สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย 4% และสินเชื่อประเภทอื่น ๆ อีก 10%

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

แบงก์ชาติเผยผลสำเร็จปรับโครงสร้างหนี้

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในเบื้องต้นผลการจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ในรูปแบบออนไลน์ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนขอปรับโครงสร้างหนี้สะสมมากกว่า 413,000 รายการ ทั้งนี้พบว่าสามารถแก้ไขได้สำเร็จแล้วจำนวนกว่า 50,000 รายการ วงเงินประมาณ 12,000 ล้านบาท โดยมีลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ 100,000 รายการ และไม่เข้าเงื่อนไขประมาณ 100,000 รายการ (กรณีไม่พบบัญชี, ลูกหนี้ยกเลิกคำขอเอง) โดยคงเหลือลูกหนี้ที่ต้องช่วยเหลือประมาณ 150,000 รายการ

“อยากเข้าไปมาติดต่อเจ้าหนี้ หรือหากไม่พอใจก็สามารถโต้แย้งได้ โดยเราเปิดให้โต้แย้งจนถึงสิ้นเดือน ก.พ.66 นี้”

นอกจากนี้ ธปท.ยังได้จัดช่องทางเสริมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้อย่างต่อเนื่องคือ 1.ทางด่วนแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางเสริมออนไลน์สำหรับประชาชนที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้หรือติดต่อแล้วแต่ยังไม่สามารถตกลงเงื่อนไขกันได้ โดยเปิดมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 จนถึงสิ้นปี 2565 มีลูกหนี้เข้ามาผ่านช่องทางนี้จำนวน 280,000 รายการ

2.หมอหนี้เพื่อประชาชน ซึ่งเป็นช่องทางให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างครบวงจรแก่ลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบธุรกิจ SMEs โดยเปิดมาแล้วตั้งแต่ปี 2564 จนถึงสิ้นปี 2565 มีลูกหนี้เข้ามาปรึกษาเกือบ 7,100 รายการ

และ 3.คลินิกแก้หนี้ ซึ่งเป็นช่องทางปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียจากบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ไม่มีหลักประกัน โดยมีลูกหนี้ผ่านช่องทางนี้กว่า 100,000 บัญชี (ทั้งที่ยังไม่ถูกฟ้องดำเนินคดีและถูกฟ้องดำเนินคดี)

นอกจากนี้ ธปท.ได้เผยแพร่เอกสารทิศทาง (Directional Paper) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสื่อสารแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน รวมทั้งช่วยให้ทุกภาคส่วนเห็นทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้นด้วย

โดยเอกสารดังกล่าวประกอบด้วยแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิม และการปล่อยหนี้ใหม่ให้มีคุณภาพในลักษณะการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (responsible Lending) รวมถึงการวางรากฐานที่จำเป็นอื่น ๆ เช่นการพัฒนาฐานข้อมูลให้มีข้อมูลหลากหลายสะท้อนความเสี่ยงที่แท้จริงของลูกหนี้ การปลูกฝังให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน เป็นต้น

ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) 
ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

นายฉัตรชัย นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แบงก์รัฐได้ร่วมแก้ปัญหาหนี้เดิมที่เข้ามาติดต่อประมาณ 10,000 รายการ มูลหนี้ที่สามารถแก้ไขได้ประมาณ 9,600 ล้านบาท แม้เม็ดเงินอาจจะดูไม่มาก แต่จำนวนปริมาณลูกหนี้จะค่อนข้างสูงโดยลูกหนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง

และกลุ่มเติมเงินเงินทุนเพิ่ม 100,351 รายการ วงเงินสินเชื่อประมาณ 3,100 ล้านบาท และกลุ่มเข้ามาให้คำปรึกษา หาความรู้เพิ่มเติม และแนวทางประกอบอาชีพประมาณ 13,200 รายการ วงเงินสินเชื่อราว 2,900 ล้านบาท


“เป็นนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งแบงก์รัฐให้ความร่วมมือและเห็นความสำคัญอย่างมาก เพราะกลุ่มลูกหนี้ของแบงก์รัฐเป็นลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง จะกลัวในการเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งครั้งนี้เป้นครั้งแรกที่เขาเข้ามาคุยกับเรา และเราเข้าไปดูแลเขาได้ตามที่ข้างต้น” นายฉัตรชัย กล่าว