6 ความเสี่ยงต้องรู้ก่อนลงทุน “หุ้นกู้”

หุ้น-ลงทุน

การลงทุนหุ้นกู้แต่ละประเภทมีความเสี่ยงแตกต่างกันไป นักลงทุนไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพหรือมือสมัครเล่น ควรศึกษาความเสี่ยงก่อนลงทุน 

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงทุนหุ้นกู้กลายเป็นหลักทรัพย์ที่ได้รับความสนใจและเป็นหนึ่งในวิธีระดมทุนของบริษัทเอกชนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่สำหรับนักลงทุนไม่ว่ามืออาชีพหรือสมัครเล่นจำเป็นต้องทำความเข้าใจหุ้นกู้ เนื่องจากหุ้นกู้แต่ละประเภทมีความเสี่ยงแตกต่างกันไป ดังนั้นนักลงทุนควรศึกษาความเสี่ยงเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุน

โดยความเสี่ยงหลัก ๆ  จากการลงทุน “หุ้นกู้” มีอยู่ 6 ด้าน ดังนี้

1.ความเสี่ยงของผู้ออกหุ้นกู้ (Issuer Risk)

อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทผู้ที่ออกหุ้นกู้ ที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างรายได้จนทำให้กระทบต่อความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยหรือไม่สามารถคืนเงินต้นหรือเงินลงทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ได้

ซึ่งเมื่อผู้ออกหุ้นกู้ไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยหรือเงินต้นได้ตามกำหนด ก็จะถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ (default) ทำให้ผู้ลงทุนอาจจะสูญเสียเงินต้นทั้งหมดที่ลงทุนไปได้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด

2.ความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้(Credit/Default Risk)

ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ เป็นความเสี่ยงที่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้เกิดวิกฤติที่ทำให้ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนได้ ทำให้นักลงทุนอาจจะไม่ได้รับเงินคืนหรือได้รับไม่เต็มจำนวน ความเสี่ยงนี้ถือเป็นความเสี่ยงหลักของการลงทุนหุ้นกู้

3.ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง (Liquidity Risk)

ความเสี่ยงนี้เป็นอีกสิ่งที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นจากการที่หุ้นกู้นั้นไม่มีสภาพคล่องในตลาดในกรณีที่นักลงทุนต้องการจะขาย  ก็อาจขายไม่ได้ในเวลาที่ต้องการ หรือขายไม่ได้ ณ ราคาที่ต้องการ เช่น ราคาที่ขายจริงต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็น

แต่ถ้าหากนักลงทุนมีความประสงค์ที่จะถือตราสารหนี้ไปจนครบกำหนด ก็ไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงนี้

4. ความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย (Interest rate Risk)

ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยคือ ความเสี่ยงจากการที่ราคาตราสารหนี้จะลดลงเมื่ออัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลง เนื่องจากราคาตราสารหนี้จะแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ยแต่ถ้าถือตราสารจนครบกำหนดอายุ จะไถ่ถอนได้ตามราคาหน้าตั๋วเสมอ

ดังนั้นนักลงทุนสามารถที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอัตาดอกเบี้ยนี้ได้โดยการถือตราสารจนครบกำหนดอายุ

5.ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation Risk)

ความเสี่ยงที่เกิดจากอำนาจซื้อของเงิน (Purchasing Power) ลดลง หากลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ ในขณะที่เงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงลดลง

ความเสี่ยงนี้นักลงทุนสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยการลงทุนในตราสารหนี้ชดเชยเงินเฟ้อ หรือตราสารหนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นต้น

6.ความเสี่ยงจากการนำเงินไปลงทุนต่อ (Reinvestment Risk)

ความเสี่ยงนี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่นักลงทุนได้รับเงินต้นหรือดอกเบี้ยแล้วนำไปลงทุนต่อได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำลง  หรือนักลงทุนไม่สามารถนำดอกเบี้ยหรือเงินต้นที่ได้รับไปลงทุนต่อแล้วได้ผลตอบแทนเท่าเดิม  ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่มีจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงดอกเบี้ยขาลง

ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ต้องศึกษาพื้นฐานของบริษัท หนี้สิน สภาพคล่อง เพื่อประเมินโอกาสในการถูกผิดชำระหนี้ รวมถึงประเมินความเสี่ยงที่ต้นเองสามารถรับได้