CIMBT ควักงบฯลงทุน 15-20% เร่งพัฒนาไอที-ลุยช่องทางดิจิทัลสู่อาเซียน 

CIMBT

ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กางแผนปี’66 เร่งพัฒนาช่องทางดิจิทัล-พาลูกค้าลุยอาเซียน ตั้งงบประมาณด้านไอทีเพิ่ม 15-20% พร้อมดันลูกค้าใช้บริการช่องทางดิจิทัลเพิ่ม 20% จากลูกค้า 6 แสนราย ด้านสินเชื่อขอโต 8-9% เจาะรายใหญ่ลงทุนอาเซียน หนี้เสียคุมไม่เกิน 3.3% เดินหน้าปรับโฉมสาขาสู่ Wealth Center เพิ่มอีก 1-2 แห่ง จากสาขาทั้งหมด 53 แห่ง

วันที่ 1 มีนาคม 2566 นายพอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ธนาคารให้ความสำคัญในเรื่องของดิจิทัลควบคู่กับการเติบโตในอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “To be a digital-led bank with ASEAN reach : ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล”

โดยธนาคารได้มีการลงทุนพัฒนาช่องทางดิจทัลและแพลตฟอร์มให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การบริการไม่สะดุด ธนาคารได้ตั้งงบประมาณการลงทุนไว้ราว 15-20% จากปีก่อน และขยายการให้บริการการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR Payment

รวมถึงสนับสนุนการค้าและลงทุนระหว่างประเทศ (Cross border) ตามแผนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เช่น ประเทศสิงคโปร์ กัมพูชา เป็นต้น สอดคล้องกับประเทศที่คนลดใช้เงินสด

นอกจากนี้ ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าให้ไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มากขึ้น จากปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าบุคคลราว 6 แสนราย ซึ่งมีประมาณ 50% ที่ใช้บริการและทำธุรกรรมบนช่องทางดิจิทัล หรือ CIMB TH Digital Banking และในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าให้ไปอยู่บนช่องทางดิจิทัลอีกราว 20%

และจากแนวโน้มดังกล่าว ธนาครจะมีการปรับปรุงสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบันราว 53 แห่ง ให้เป็นรูปแบบ “Wealth Center” ซึ่งตอนนี้ได้ปรับโฉมไปแล้วประมาณ 10 แห่ง คาดว่าปีนี้จะทำเพิ่มเติมอีกราว 1-2 แห่ง และจะทยอยปรับปรุงสาขาต่อเนื่อง โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า อย่างไรก็ดี คาดว่าจำนวนสาขา 53 แห่ง ถือว่าเหมาะสมกับปริมาณุรกรรมและฐานลูกค้าที่มีอยู่ จึงไม่มีแผนการเปิดสาขาเพิ่มเติม

และพร้อมตั้งเป้าธุรกรรมด้านตราสารหนี้ผ่านช่องทางดิจิทัลในปีนี้เติบโต 20% พร้อมกันนั้น ธนาคารยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนการเติบโตและความต้องการเงินทุนของลูกค้าองค์กร ในฐานะผู้ออกหุ้นกู้เอกชน หุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน และติดอันดับ Top 5 ของการเป็นผู้จัดการจำหน่ายตราสารหนี้ของประเทศไทย

สำหรับทิศทางการปล่อยสินเชื่อในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อราว 8-9% ซึ่งส่วนใหญ่จะขยายตัวในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่มีการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ โดยธนาคารจะสนับสนุนลูกค้าที่ต้องการออกไปลงทุนในประเทศอาเซียน

และลูกค้าอาเซียนเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากธนาคารมีเครือข่ายสาขาที่ค่อนข้างแข็งแรงในภูมิภาคนี้ ขณะที่ในกลุ่มลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ธนาคารยังคงให้การดูแลต่อเนื่อง

ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประเมินว่าทิศทางน่าจะยังคงทรงตัว หรือปรับลดลงเล็กน้อยใกล้เคียงเดิมที่ 3.3% จากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และการตัดขายหนี้

“เมื่อเราให้ความสำคัญกับช่องทางดิจิทัล ก็ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความสะดวกของลูกค้าเป็นหลัก โดยในปีนี้งบฯลงทุนด้านไอทีจะเพิ่มขึ้นประมาณ 15-20%”

นายพอล วอง ชี คิน กล่าวต่อไปว่า ธนาคารจะก้าวต่อไปในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นทางการเงินที่ดีที่สุดในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสนามที่ธนาคารถนัดอย่างการบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management)

ซึ่งการยกระดับและปรับปรุงช่องทางให้บริการการลงทุนที่หลากหลายช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ครอบคลุมครบวงจรและไม่ยุ่งยาก นอกจากนี้ ในปี 2565 ได้เพิ่ม Open Architecture บนแอป CIMB TH Digital Banking เพื่อคัดสรรกองทุนรวมดี ๆ จาก บลจ.ชั้นนำให้ลูกค้าเลือกลงทุนง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว

ขณะเดียวกันบัญชีเงินฝากดิจิทัล CHILL D และ Speed D+ ที่เปิดบัญชีได้ผ่านแอปได้รับการตอบรับอย่างมาก โดยภาพรวมเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวัน (CASA) และเงินลงทุน (AUM) จากช่องทางดิจิทัลเติบโตมากกว่า 200%

นอกจากนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จะมุ่งเน้นการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยยึด 4 แกนหลัก ได้แก่

1. Sustainable Action การดำเนินการที่ยั่งยืน

2. Sustainable Business ธุรกิจที่ยั่งยืน

3. Governance and Risk การกำกับดูแลและความเสี่ยง

4. Stakeholder Engagement and Advocacy การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการสนับสนุน นอกจากนี้ ด้านวัฒนธรรมองค์กร ธนาคารมีค่านิยมหลัก “EPICC” ช่วยให้พนักงานก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับลูกค้า ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสังคม

“ก้าวเข้าสู่ปี 2566 ด้วยยุทธศาสตร์ Forward23+ โดยธนาคารจะขับเคลื่อนการเติบโตสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ ‘To be a digital-led bank with ASEAN reach : ธนาคารอาเซียนขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล’ ผ่าน 7 กลยุทธ์หลัก ปรับพอร์ตโฟลิโอ กระจายผลิตภัณฑ์เงินฝาก ขับเคลื่อนต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างคุณค่าผ่านดิจิทัล บริหารความเสี่ยงอย่างแข็งขัน สร้างเสริมพัฒนาทรัพยากรบุคคล และความยั่งยืน”

สำหรับผลงานในปี 2565 ธนาคารยังคงมีความสามารถในการทำกำไร (PBT) ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการบริหารจัดการการตั้งสำรอง และความพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งคุณภาพสินทรัพย์และการบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้นช่วยลดต้นทุนความเสี่ยงของสินเชื่อ (Credit Cost) และอัตราส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม (NPL ratio) ปรับตัวลดลง ด้านสินเชื่อเติบโต 11.0% และเงินฝาก 21.0%