กรุงไทย เผยส่งออก ม.ค.หดตัว -4.5% คาดทั้งปี’66 มีโอกาสติดลบ

กรุงไทย

Krungthai COMPASS ประเมินการส่งออกปี 2566 มีโอกาสโตติดลบจากตัวเลขประมาณการเดิม หลังตัวเลขเดือนมกราคม 2566 ออกมาหดตัว -4.5% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มากกว่าคาดการณ์ของตลาด -1.0% เหตุสินค้าส่งออกรายการหดตัวจากคู่ค้าตลาดโลกชะลอตัว

วันที่ 3 มีนาคม 2566 ดร.ฉมาดนัย มากนวล นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ส่งออกเดือน ม.ค. ติดลบ 4.5% YOY หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ -1.0% จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว กำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้ายังอ่อนแอ ซึ่งการหดตัวดังกล่าวอยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว

Krungthai COMPASS ประเมินว่าการส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักหลายรายการยังจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 การส่งออกในระยะข้างหน้า จึงยังเผชิญแรงกดดันและมีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกในปี 2566 อาจต่ำกว่าประมาณการที่เคยประเมินไว้เดิม และมีโอกาสจะขยายตัวในอัตราติดลบ

มูลค่าส่งออก ม.ค. 2566 หดตัว 4.5%

มูลค่าส่งออกเดือน ม.ค. อยู่ที่ 20,249.5 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.5% YOY โดยปรับตัวลงต่อเนื่องเมื่อเทียบจากปีก่อนเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้การส่งออกสินค้าทั้งหมวดเกษตรกรรม อุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมต่างหดตัวลง จากผลกระทบของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้ายังอ่อนแอท่ามกลางแรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง ซึ่งการหดตัวดังกล่าวอยู่ในทิศทางเดียวกับประเทศในภูมิภาค สำหรับการส่งออกทองคำเดือนนี้หดตัวต่อเนื่องที่ -14.8% ทำให้เมื่อหักทองคำแล้ว มูลค่าส่งออกเดือนนี้หดตัว 4.4% YOY

ด้านการส่งออกรายสินค้าส่วนใหญ่หดตัวต่อเนื่อง

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัว 4 เดือนติดต่อกัน ที่ -21.7% YOY หดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งหดตัว 15.7% YOY จากการส่งออกเม็ดพลาสติก (-30.0%) เคมีภัณฑ์ (-17.6) เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-21.2%) ผลิตภัณฑ์ยาง (-8.2%) รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ (-3.8%)

อย่างไรก็ตาม สินค้าบางชนิดสามารถขยายตัวได้ โดยเฉพาะรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ซึ่งกลับมาเติบโตอีกครั้ง (+9.2%) ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญบางส่วนยังขยายตัวต่อเนื่อง เช่น อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (+73.3%) รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (+16.4%) และหม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ (+44.9%) เป็นต้น

การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ -2.7% YOY แต่น้อยลงเมื่อเทียบจากเดือนก่อนซึ่งหดตัว -11.2% โดยสินค้าหลักหลายรายการหดตัวต่อเนื่อง อาทิ น้ำตาลทราย (-45.4%) ยางพารา (-37.6%) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (-7.6%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-4.8%) และไก่แปรรูป (-2.2%) อย่างไรก็ตาม สินค้าบางชนิดยังขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว (+72.3%) ไก่สด/แช่เย็น/แช่แข็ง (+50.0%) และผลไม้สด (+2.5%) เป็นต้น

 

รายตลาดส่วนใหญ่หดตัว

• สหรัฐ : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -4.7% YOY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์ และส่วนประกอบ เป็นต้น

• จีน : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ -11.4% YOY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นต้น

• ญี่ปุ่น : หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ -9.2% YOY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ไก่แปรรูป และทองแดง เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ขยายตัว ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

• EU27 : กลับมาขยายตัวที่ +2.2% YOY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

ASEAN5 : กลับมาขยายตัวที่ +2.3% YOY โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และข้าว เป็นต้น ส่วนสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก ยางพารา และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

มูลค่าการนำเข้าเดือน ม.ค. อยู่ที่ 24,899.1 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัว 5.5% YOY จากเดือนก่อนที่หดตัว 11.9% YOY เป็นผลจากการเติบโตของการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง (+84.4% YOY) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (+28.4% YOY) และสินค้าอุปโภคบริโภค (+0.4% YOY) ด้วยแรงหนุนจากการทยอยปรับตัวเป็นปกติมากขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศตามการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุน (-10.3% YOY) และสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (-7.4% YOY) หดตัวลง ตามการผลิตเพื่อการส่งออกที่หดตัว ด้านดุลการค้าเดือน ธ.ค. ขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ที่ระดับ -4,649 ล้านดอลลาร์

ดังนั้น การหดตัวติดต่อกันของมูลค่าส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากหมวดอุตสาหกรรมที่เผชิญแรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อในประเทศคู่ค้าที่อ่อนแรง รวมทั้งความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยที่กระทบต่อความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมหลักหลายหมวด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และอัญมณีฯ ประกอบกับผลสืบเนื่องจากปัญหาของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ กดดันการส่งออกในกลุ่มพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจีน

ขณะเดียวกันการส่งออกคอมพิวเตอร์ยังเผชิญกับวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในช่วงขาลง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การส่งออกของไทยหดตัวในไตรมาสที่ 4/2565 ถึง 8% QOQ โดยกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมข้างต้นมีสัดส่วนทั้งหมดคิดเป็น 32.9% และถือเป็นที่มาของการหดตัวรวมกันถึง 5.2%

Krungthai COMPASS ประเมินว่าการส่งออกยังมีแนวโน้มหดตัวต่ออีกระยะหนึ่ง เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักหลายรายการยังจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รวมถึงการปรับสมดุลระดับสินค้าคงคลังหลังจากความต้องการสินค้าที่เคยได้รับอานิสงส์จากโควิด-19 โดยเฉพาะสินค้าเกี่ยวกับการ work from home ลดลง ซึ่งมีผลให้สินค้าบางประเภทมีแนวโน้มอยู่ในวัฏจักรสินค้าช่วงขาลง

เช่น คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่เศรษฐกิจจีนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และอาจต้องรอให้ปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในไตรมาสที่ 2/2566 ในระยะข้างหน้า การส่งออกจึงยังเผชิญแรงกดดันและมีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกอาจขยายตัวในอัตราที่ติดลบ ตัวเลขการส่งออกของไทยในปี 2566 จึงอาจต่ำกว่าประมาณการที่เคยประเมินไว้เดิม