คนไทย 25 ล้านคน มีหนี้ยอดพุ่ง 2 เท่า พีโลน-บัตรเครดิต มากสุด

หนี้ สินเชื่อ ขึ้นดอกเบี้ย เงิน
Photo by Towfiqu barbhuiya on Unsplash

ธปท.-สถาบันวิจัยป๋วยฯ เปิดบทวิจัย “หนี้ครัวเรือน วิกฤติแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม” พบคนไทยมีหนี้สูงขึ้น 37% หรือราว 25 ล้านคน คาดยังพุ่งไม่หยุด ชี้ในช่วง 10 ปีมูลค่าหนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า “สินเชื่อส่วนบุคคล-บัตรเครดิต” ครองแชมป์สูงสุด

วันที่ 6 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) เปิดบทวิจัยเรื่อง “หนี้ครัวเรือนไทย วิกฤติแค่ไหน ทำไมถึงไม่ควรมองข้าม” ว่า หนี้ครัวเรือน เป็นปัญหาคู่สังคมไทยที่หลายคนคงคุ้นหูกันอยู่แล้ว แต่ถามว่าปัญหาหนี้ของบ้านเราน่ากังวลหรือไม่ คงต้องมาดู 2 เรื่อง คือ 1.คนไทยมีหนี้เยอะแค่ไหน และ 2.สถานการณ์หนี้คนไทยรุนแรงแค่ไหน

โดยคนไทยมีเยอะแค่ไหน พบว่า จากข้อมูลสินเชื่อในระบบที่อยู่ในเครดิตบูโร ณ เดือนมีนาคม 2565 มีคนที่มีหนี้สูงถึง 37% หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรไทย หรือราว 25 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่สัดส่วนอยู่ที่ 30% และสัดส่วนคนที่มีหนี้ก็เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

นอกจากนี้ คนไทยยังมีหนี้ในปริมาณสูง โดยประมาณ 57% ของคนไทย ที่มีหนี้ มีหนี้เกิน 100,000 บาท และกลุ่มที่มีหนี้เกิน 1 ล้านบาท มีถึง 14% โดยมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 520,000 บาท และในภาพรวมมูลค่าหนี้ของคนไทยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากดดูสัดส่วนคนมีหนี้แยกตามจำนวนบัญชีหนี้ที่มี พบว่า คนไทยที่มีหนี้โดยเฉลี่ย 3 บัญชีต่อคน และ 32% ของคนไทยที่มีหนี้ 4 บัญชีขึ้นไป

Advertisment

และหากดูสัดส่วนบัญชีหนี้ แยกตามผลิตภัณฑ์ พบว่า คนไทยมีหนี้แยกตามผลิตภัณฑ์ ดังนี้

  • สินเชื่อส่วนบุคคล 39%
  • บัตรเครดิต 29%
  • การเกษตร 12%
  • รถยนต์ 10%
  • บ้าน 4%
  • ธุรกิจ 2%
  • มอเตอร์ไซค์ 2%

โดย 2 ใน 3 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดของไทย อาจเป็นสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ ประกอบด้วย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่หนี้ที่สามารถสร้างรายได้ หรือความมั่งคั่งอย่างหนี้เพื่อธุรกิจและหนี้บ้านกลับมีสัดส่วนจำนวนบัญชีเพียงอย่างละ 4% เท่านั้นจากบัญชีทั้งหมด

Advertisment

ซึ่งหากเทียบสัดส่วนมูลค่าหนี้บ้านของไทยและประเทศต่าง ๆ พบว่า ไทยมีสัดส่วนประมาณ 35% ญี่ปุ่น 62% สหรัฐ 73% แคนนาดา 73% และสหราชอาณาจักร 91% อย่างไรก็ดี ถึงแม้สัดส่วนหนี้บ้านของไทยจะเป็น 35% ของมูลค่าหนี้รวมทั้งหมด แต่เมื่อเทียบกลับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีใกล้เคียงกับไทย จะเห็นว่ามูลค่าหนี้ส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านั้นเป็นหนี้บ้าน

ขณะเดียวกัน หากดูสัดส่วนคนไทยที่มีหนี้เสีย จากคนไทยที่เป็นหนี้ พบว่า 1 ใน 5 ของคนไทยเป็นหนี้เสีย โดย 20% ของคนไทยที่เป็นหนี้ในเครดิตบูโรกำลังประสบปัญหาเป็นหนี้เสีย และเมื่อเปรียบเทียบกลุ่มต่าง ๆ พบว่า เกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย เป็น 2 กลุ่มผู้ที่มีสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้สูง โดยกลุ่มเกษตรมีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้อยู่ที่ 34% และกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอยู่ที่ 41% ซึ่งเป็น 2 กลุ่มสำคัญที่ปัญหาหนี้อยู่ในระดับที่น่ากังวล