กลุ่มทรู เรตติ้งพุ่งยกแผง ควบรวม “ดีแทค” เสร็จสมบูรณ์

ทรู-ดีแทค

พลันที่การควบรวมกิจการ ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUEE (บริษัทเดิม) กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (DTAC) เสร็จสมบูรณ์ กลายเป็นบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “TRUE” (บริษัทใหม่) และนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา

“ทริสเรทติ้ง” ได้ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ “TRUE” (บริษัทใหม่) เป็นระดับ “A+” จากเดิมอยู่ที่ระดับ “BBB+”

เรตติ้ง “TRUE” ขยับสู่ “A+”

“การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเสี่ยงทางด้านการเงินและทางด้านธุรกิจที่ดีกว่าของบริษัทที่เกิดการควบรวม พร้อมกันนี้ ทริสเรทติ้งยังยกเลิก ‘เครดิตพินิจ’ ที่ให้ไว้สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TRUEE ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 ด้วย”

กราฟฟิกทรู-ดีแทค

สำหรับ TRUEE สิ้นสภาพการเป็นนิติบุคคล โดยสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดของ TRUEE ซึ่งรวมถึงหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่จัดอันดับโดยทริสเรทติ้งได้ถูกโอนไปเป็นของ TRUE นอกจากนี้ บริษัทย่อยทั้งหมดของ TRUEE ยังได้กลายมาเป็นบริษัทย่อยของ TRUE ในปัจจุบันอีกด้วย

เพิ่มเครดิต “TUC” เท่าบริษัทแม่

ขณะที่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ก็ได้รับการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทเป็นระดับ “A+” จากเดิมที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “stable” หรือ “คงที่” พร้อมทั้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” ที่ให้ไว้สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของบริษัทด้วย

โดยอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทแม่คือ TRUE ซึ่งในมุมมองของ “ทริสเรทติ้ง” เห็นว่า TUC มีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ TRUE

ดังนั้น อันดับเครดิตของ TUC จึงมีระดับเท่ากับอันดับเครดิตของ TRUE ซึ่งเป็นบริษัทแม่

หั่นเครดิต “DTN” เหลือ “A+”

ส่วน บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ที่กลายเป็นบริษัทย่อยของ TRUE “ทริสเรทติ้ง” ได้ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทลงมาอยู่ที่ระดับ “A+” จากเดิมที่ระดับ “AA” พร้อมทั้งยกเลิก “เครดิตพินิจ” สำหรับอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ทั้งหมดของบริษัท และกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “stable” หรือ “คงที่” เนื่องจากตาม “เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตกลุ่มธุรกิจ” ของ “ทริสเรทติ้ง” อันดับเครดิตของ DTN ในฐานะที่เป็นบริษัทย่อยหลัก จึงเท่ากับอันดับเครดิตของ TRUE ซึ่งเป็นบริษัทแม่

“แข็งแกร่ง” ในอุตฯโทรคม

โดย “ทริสเรทติ้ง” ชี้ว่า การควบรวมกิจการ ทำให้ TRUE กลายเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแกร่งมากในธุรกิจโทรคมนาคมและบริการดิจิทัลของประเทศไทย ด้วยการมีช่องทางธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งบริการของบริษัทครอบคลุมธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สาย ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก (pay-TV) ธุรกิจโทรทัศน์ดิจิทัลและการเผยแพร่เนื้อหาความบันเทิง ตลอดจนธุรกิจให้บริการด้านดิจิทัล

ขณะที่บริษัทมีสินทรัพย์ที่เกิดจากการควบรวมกิจการทั้งสิ้นประมาณ 8 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ใบอนุญาตที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ของทั้งสองบริษัท คลื่นความถี่ที่หลากหลาย ตลอดจนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่สูงกว่า 8 หมื่นล้านบาทด้วย

“ในมุมมองของทริสเรทติ้ง เห็นว่าการควบรวมธุรกิจจะทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันที่มีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สาย โดยก่อให้เกิดความครอบคลุมของตลาดและฐานลูกค้าที่กว้างขวาง เครือข่ายการดำเนินงานที่กว้างใหญ่ และจำนวนคลื่นความถี่ที่หลากหลาย ทริสเรทติ้งเห็นว่าการมีขอบเขตธุรกิจขนาดใหญ่เป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันที่สำคัญสำหรับผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมเพราะจะช่วยให้สามารถขยายการลงทุนได้อย่างต่อเนื่องในโครงข่าย คลื่นความถี่ และมีความพร้อมในการเข้าสู่การให้บริการในระบบดิจิทัลได้เป็นอย่างดี”

ด้วยฐานลูกค้าที่กว้างขวางและสินทรัพย์การดำเนินงานขนาดใหญ่จากผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 รายเดิม “ทริสเรทติ้ง” จึงคาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการประหยัดจากขนาดและการผสานพลังทางธุรกิจภายในกลุ่มเป็นผู้นำตลาดในอุตสาหกรรมการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่

“จากการควบรวมกิจการ TRUE จึงกลายเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมแบบไร้สายของไทย โดยการควบรวมกิจการในครั้งนี้ ทำให้ตลาดเหลือผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่เพียง 2 ราย คือ TRUE และ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS)”

ซึ่ง TRUE จะมีฐานลูกค้ารวมอยู่ที่ 55 ล้านราย กลายเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาดที่ระดับ 54% สูงกว่า AIS ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ที่ 46%

ผู้นำตลาดบริการสื่อสารไร้สาย

“ทริสเรทติ้ง” คาดว่า บริษัทจะยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำตลาดในด้านบริการสื่อสารแบบไร้สายเอาไว้ได้ โดยมองว่าคลื่นความถี่ที่บริษัทมีเป็นจำนวนมากนั้น เป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในเชิงกลยุทธ์ ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในการให้บริการข้อมูลความเร็วสูงให้แก่ลูกค้า

ทั้งนี้ บริษัทจะยังคงใช้ชื่อแบรนด์ทั้ง “TRUE” และ “DTAC” ต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า โดยแบรนด์ทั้งสองนี้เป็นที่ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้บริโภคและคาดว่าจะช่วยเสริมสร้างความผูกพันกับลูกค้าได้

ขณะที่การมีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่แข็งแกร่ง คือ กลุ่มบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) รวมทั้ง Telenor ASA (Telenor) และบริษัทที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต่างถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของบริษัท นอกจากนี้ ยังมี China Mobile International Holdings Ltd. ซึ่งเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ของบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 10% บริษัทจะได้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางธุรกิจเหล่านี้

รายได้ 3 ปีข้างหน้า 2 แสนล./ปี

ทั้งนี้ “ทริสเรทติ้ง” คาดว่า รายได้จากการดำเนินงานรวมของ TRUE ในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 1.96-2.01 แสนล้านบาทต่อปี โดยประเมินสมมุติฐานกรณีพื้นฐาน ปี 2566-2568 คาดว่า EBITDA ของ TRUE จะอยู่ในช่วง 8.2-9.8 หมื่นล้านบาทต่อปี และจะมีอัตรา EBITDA ต่อรายได้รวม (EBITDA margin) อยู่ที่ระดับ 42-49% โดยที่กระแสเงินสดจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และคาดว่าเงินทุนจากการดําเนินงานจะอยู่ในช่วง 5.8-7.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

ขณะที่เงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.4-4.3 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อใช้ขยายโครงข่าย ส่วนภาระในการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ตามกำหนดจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2.3 หมื่นล้านบาทต่อปี