กอบศักดิ์ ชี้รัฐขับเคลื่อน 5 นโยบาย กระตุ้นเศรษฐกิจ ก่อนเลือกตั้งใหม่

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO)

ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ชี้รัฐต้องขับเคลื่อน 5 นโยบายสำคัญในระยะสั้นก่อนการเลือกตั้งใหม่ เตือนสงครามเฟดกับเงินเฟ้อยังไม่จบ ขึ้นดอกเบี้ยเขย่าตลาดทุนโลกผันผวนรอบใหม่ ความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” 

 

วันที่ 8 มีนาคม 2566 นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2-3 ของปี 2566 ประเทศไทยจะไม่มีความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากนัก การใช้เงินของภาครัฐในช่วงเข้าสู่การเลือกตั้งจะเป็นอย่างจำกัด ประกอบกับเมื่อเราเห็นเศรษฐกิจโลกเริ่มซบเซาและส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างมีนัย เราต้องเตรียมการให้เศรษฐกิจไทยมีแรงเคลื่อนมากขึ้น

5 นโยบายสำคัญต้องทำก่อนเลือกตั้งใหม่

โดยนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยของภาครัฐในระยะสั้นก่อนการเลือกตั้งใหม่ มองว่าควรมุ่งเน้น 5 เรื่องสำคัญคือ 1.จัดสรรงบประมาณให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ใช้โฆษณาการท่องเที่ยวที่เมืองจีนและประเทศอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น แม้ว่าดีอยู่แล้ว แต่เชื่อว่ายังดีได้อีก และเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดในขณะนี้ หรือแม้กระทั่งการลดเงื่อนไขการทำวีซ่าในการเข้าเมือง เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในปี 2566 ซึ่งภาคท่องเที่ยวจะเป็นเซ็กเตอร์หลักที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ภาคส่งออกไปไม่ได้

2.ควรเปิดกว้างให้นักลงทุนต่างประเทศยกขบวนมาลงทุนในประเทศไทย โดยต้องประกาศเรื่องนโยบายการลงทุนให้ชัดเจนก่อนเข้าสู่การเลือกตั้ง โดยเฉพาะกรอบของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการจะส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ เพื่อชี้ชัดว่าไม่ได้มาจากพรรคการเมืองไหน ซึ่งตอนนี้การลงทุนจากต่างประเทศกำลังเริ่มเข้ามา แม้ว่าจะไม่มีเงินเข้ามาทันทีทันใด แต่จะสามารถช่วยเพิ่มความมั่นใจและพยุงเศรษฐกิจได้เช่นกัน

3.การควบคุมค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป โดยล่าสุดค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจจะอ่อนค่าลงได้อีกเล็กน้อย เพื่อทำให้ภาคส่งออกที่ส่งออกได้ไม่มาก ยังสามารถแปลงเป็นเงินบาทกลับมาได้ดีอยู่ ซึ่งช่วยทำให้ภาคส่งออกยังพอเลี้ยงตัวเองและลูกจ้างได้ ขณะเดียวกัน ยังช่วยภาคเกษตรและภาคท่องเที่ยวได้ผลตอบรับที่ดีเช่นกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะช่วยทำให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้าได้

4.ควรอนุมัติโครงการสำคัญ ๆ ให้หมดก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้ง และเตรียมการให้เหมาะสมกับปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้า

5.ควรเตรียมมาตรการเรื่องสภาพคล่องให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีในช่วงคับขันจากผลพวงเศรษฐกิจโลกซบเซา ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลได้เตรียมการเรื่องการค้ำประกัน โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกโครงการใหม่วงเงินกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดี จึงอยากให้ดำเนินการในช่วงก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

สงครามเฟดกับเงินเฟ้อยังไม่จบ

นายกอบศักดิ์กล่าวต่อว่า ในส่วนสถานการณ์นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ถือว่าสงครามของเฟดกับเงินเฟ้อยังไม่จบ ยังสร้างความผันผวนกับตลาดทุนทั่วโลก โดยล่าสุดประธานเฟดออกมาให้สัมภาษณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยในการประชุมวันที่ 22 มี.ค.นี้ เฟดอาจจะมีการกลับไปขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ก็ได้ ซึ่งเป็นการเขย่าตลาดมาก โดยตลาดปรับน้ำหนักที่เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ย 0.5% เป็น 70% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่อยู่แค่ระดับ 20% ดังนั้น ปีนี้ให้ทุกคนทำใจว่าเฟดอาจจะมีรอบสองของการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นการสร้างความผันผวนรอบใหม่ให้กับตลาดทุนโลก

“ในอดีตเฟดเคยขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เพื่อสู้เงินเฟ้อในช่วงปี 2548-2549 ทั้งหมด 17 ครั้ง เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งทำให้ดอกเบี้ยขึ้นไปทั้งหมด 4.25% โดยขณะนี้ดอกเบี้ยเฟดอยู่ที่ 4.5% และคาดว่าเฟดยังขยับดอกเบี้ย 0.25% ได้อย่างน้อยในปีนี้อีก 3 ครั้งถึงกลางปี และหลังจากนั้นเฟดจะดูสถานการณ์เงินเฟ้อ ตลาดแรงงาน เศรษฐกิจที่เริ่มอ่อนตัว เพื่อเฟดจะประเมินครึ่งหลังของปีในอีก 4 การประชุมว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยเฟดอาจขึ้นไปได้เกือบถึง 6% ในปีนี้” นายกอบศักดิ์กล่าว

ความเชื่อมั่นนักลงทุน “ร้อนแรง”

นายกอบศักดิ์ยังเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน ก.พ. 2566 พบว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือน พ.ค. 2566) อยู่ที่ระดับ 121.13 ปรับตัวลดลง 24.3% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในช่วงต่ำของเกณฑ์ “ร้อนแรง” โดยความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว

โดยนักลงทุนมองว่าปัจจัยสำคัญที่หนุนตลาดมากสุดคือการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รองลงมาคือการเลือกตั้งในประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นทั้งผลบวกจากช่วงเลือกตั้งที่ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู และอาจเป็นผลลบได้จากความกังวลใจของผลการเลือกตั้ง

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากสุดคือ ความกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น รองลงมาคือสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน และสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง