เปิดรายชื่อ “กองทุนไทย” ที่มีการลงทุนใน SVB

เปิดรายชื่อ “กองทุนไทย” ที่มีการลงทุนใน SVB ด้าน บลจ.กสิกรไทย เผยลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนหลัก แต่มีสัดส่วนที่ต่ำมาก ไม่เกิน 0.01% คาดเกิดความผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น

วันที่ 14 มีนาคม 2566 ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า เบื้องต้นเราได้ทำการค้นหาว่า Silicon Valley Bank ถือหุ้นใดในบริษัทจดทะเบียนไทยบ้าง ซึ่งพบว่ายังไม่เห็นติดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ในหุ้นไทย แต่ในอีกมุมเห็นมีกองทุนรวมดัชนี (Exchange Traded Fund : ETF) ที่มีการลงทุนใน SVB ได้แก่

  • SPDR S&P Regional Banking ETF (KRE) 2.34%
  • Financial Select Sector SPDR Fund (XLF) 0.41%

และกองทุนในประเทศไทย ที่มีการลงทุนใน SVB ได้แก่ 1.KT-FINANCE กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส ฟันด์ 2.TUSFIN กองทุนเปิด ทิสโก้ ยูเอส ไฟแนนเชียล 3.ONE-GLOBFIN กองทุนเปิด วรรณ โกลบอล ไฟแนนเชียล และ 4.BFINTECH กองทุนเปิดบัวหลวงฟินเทค

ด้าน บลจ.กสิกรไทย รายงานว่า ประเด็นข่าว Silicon Valley Bank ถูกรัฐบาลสหรัฐสั่งปิดและเข้าควบคุมกิจการเนื่องจากขาดสภาพคล่อง ทำให้กดดันตลาดหุ้นทั่วโลก โดยเฉพาะหุ้นธนาคารของสหรัฐปรับตัวลง และส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาของผู้ลงทุน

ทั้งนี้ อาจทำให้หุ้นของธนาคารในภูมิภาคเอเชีย จะกระทบบ้างแต่ไม่น่ากังวล เพราะเป็นการปรับตัวลงชั่วคราวระยะสั้น อย่างไรก็ดีในภาพรวมหน่วยงานทางการของสหรัฐยังสามารถควบคุมสถานการณ์โดยรวมได้ และคาดว่าจะไม่เกิดการลุกลามไปยังภาคธนาคารและส่วนอื่น

สำหรับสาเหตุที่ SVB ถูกสั่งปิดชั่วคราว ไม่ได้เกิดจาก NPL (Non-Performing Loan หรือหนี้เสีย) หรือมาแต่จากปัญหาจากกลุ่ม Venture Capital และ Startup ซึ่งเป็นลูกค้าหลักจำนวนมากออกมาถอนเงิน หลังประสบปัญหาการระดมทุน จนส่งผลให้ SVB มีปัญหาด้านสภาพคล่อง จนต้องขายสินทรัพย์ที่เป็นตราสารหนี้ออกมา

แต่จากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมาทำให้ราคาตลาดตราสารหนี้ที่เคยซื้อมาเดิมปรับลดลง ทำให้ SVB ขายตราสารหนี้ในราคาต่ำกว่าทุนอย่างมีนัย จนประสบผลขาดทุนทันทีราว 6.24 หมื่นล้านบาท จากการจำหน่ายสินทรัพย์แบบเร่งด่วน (หรือ Fire Sale Loss) และนำไปสู่การขายหุ้นเพิ่มทุน 2.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม การประกาศเพิ่มทุนทำให้ผู้ฝากเงินตกใจ อีกทั้ง Founders Fund มีการแนะนำให้ Venture Capital ต่าง ๆ ให้ถอนเงินออกจาก SVB อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ SVB เผชิญกับปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรงและนำไปสู่ปัญหาในปัจจุบัน

ล่าสุด (13 มี.ค. 66) เฟดประกาศจัดตั้ง “Bank Term Funding Program” (BTFP) เพื่อปกป้องสถาบันการเงินอื่น ๆ ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากกรณีของ SVB ซึ่งช่วยลดความกังวลของนักลงทุนเป็นอย่างมาก ทำให้คาดว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และจะไม่เกิดการลุกลามไปยังภาคธนาคารและส่วนอื่น

ผลกระทบต่อกองทุนนั้น ปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย ไม่มีการลงทุนตรงใน SVB แต่มีการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนหลัก โดยมีสัดส่วนการลงทุนที่ต่ำมาก (ไม่เกิน 0.01%) ซึ่งทำให้เกิดความผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น

โดยมีมุมมองการลงทุนว่า ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงจะยังคงมีความผันผวนและได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อภาคธนาคารของสหรัฐ แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะเข้ามาดูแลปัญหาของ SVB อย่างรวดเร็ว แต่ต้องติดตามต่อว่าจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินและนักลงทุนได้มากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้บริษัทประเมินว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่ลุกลามและอยู่ในกรอบจำกัด เนื่องจากธนาคารของสหรัฐส่วนใหญ่ได้ปรับตัวหลังเกิดวิกฤตในปี 2551 จึงมีฐานทุนและสภาพคล่องที่แข็งแกร่งมาก

คำแนะนำลงทุน

ตลาดหุ้นสหรัฐ : แนะนำให้ชะลอการลงทุนเพื่อประเมินสถานการณ์
ตลาดหุ้นโลก : แนะเลือกภูมิภาคในการลงทุน ปัจจุบันแนะนำ กองทุนหุ้นจีน และเอเชีย
ตลาดหุ้นไทย : สามารถลงทุนเพิ่มได้
ตลาดหุ้นเวียดนาม : หากลงทุนแล้ว สามารถถือต่อไปได้
อสังหาริมทรัพย์ (REIT) : แนะนำให้ชะลอการลงทุน
ตราสารหนี้ไทย : แนะลงทุนเพิ่มได้ ในกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ และ Term Fund
ตราสารหนี้โลก : แนะลงทุนเพิ่มได้ โดยเน้นพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพดี