เล็งปรับเงื่อนไขประกัน พ.ร.บ. เพิ่มคุ้มครองตัวรถ-ทรัพย์สิน

ประกันภัยรถ

คปภ.เล็งเพิ่มความคุ้มครองภัยทรัพย์สินในประกันรถภาคบังคับ เร่งศึกษา-ฟังความเห็นก่อนผลักดันแก้ พ.ร.บ. วงในชี้เบี้ยส่อขยับขึ้นหลักร้อยบาท

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดในการเพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สิน เข้าไปในเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เพื่อให้สอดคล้องไปกับในหลายประเทศที่ได้ปรับเพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สินเข้าไปแล้ว ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

ขณะที่ในปัจจุบัน ประกันภัย พ.ร.บ.ในประเทศไทยจะให้ความคุ้มครองเฉพาะเหตุที่เกิดต่อชีวิตและการบาดเจ็บของร่างกาย กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง ซึ่งจะได้รับค่าสินไหมทดแทนสูงสุด 5 แสนบาท

“เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ แต่เราคงต้องหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน เพราะเป็นเรื่องต้องแก้ไขกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. และทุกครั้งที่มีการแก้ไขจะค่อนข้างใช้เวลา และต้องมีความพร้อมในหลาย ๆ ฝ่ายด้วย อย่างไรก็ดี ตอนนี้กำลังศึกษาอยู่ จากการพูดคุยกันหลายฝ่ายก็ค่อนข้างจะเห็นด้วย”

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สิน จะมีผลต่ออัตราเบี้ยประกันที่จะแพงขึ้น ซึ่งประกันภัย พ.ร.บ.เป็นประกันภาคบังคับ ถ้าประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้น ก็อาจจะดูด้วยว่าจะมีความคุ้มค่าแค่ไหน ซึ่งต้องทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ จะได้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และจะได้สอดคล้องกับแนวทางการประกันภัยการเดินทางข้ามพรมแดนในประเทศอาเซียน ที่มีความคุ้มครองถึงตัวทรัพย์สินด้วย

“ปีนี้อาจจะยังเป็นแค่ช่วงกำลังศึกษา เพราะกระบวนการเสนอกฎหมายต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน”

เลขาธิการ คปภ. กล่าวอีกว่า ดังนั้น คปภ.จึงพยายามปรับในส่วนที่มีอำนาจทำได้ และคาดว่าเกิดประโยชน์กับประชาชน ก็จะรีบทำก่อน โดยช่วงที่ผ่านมาได้ใช้อำนาจนายทะเบียนปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองจาก 3 แสนบาทเป็น 5 แสนบาทไปแล้ว โดยไม่มีการปรับเพิ่มค่าเบี้ยประกัน มีผลไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2563 อย่างไรก็ดี เรื่องการเพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สินเข้าไปนั้น อยู่เกินอำนาจนายทะเบียน

แหล่งข่าววงในธุรกิจประกันภัยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเพิ่มความคุ้มครองทรัพย์สินเข้าไปในเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัย พ.ร.บ.ยังเคาะตัวเลขเบี้ยประกันที่ชัดเจนไม่ได้ คาดว่าเบี้ยอาจจะเพิ่มขึ้นหลักร้อยบาท โดยยังมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอีกค่อนข้างมาก ซึ่งหากทำจริง วงเงินความคุ้มครองจะคล้ายกับประกันรถประเภท 3 (ชั้น 3) แต่วงเงินจะไม่สูง คุ้มครองแค่เฉพาะการเฉี่ยวหรือการชน เป็นต้น ซึ่งจะไม่ได้ครอบคลุมเต็มทุนประกันรถ

“ปัจจุบันค่าเบี้ยประกัน พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ที่ราคา 323.14 บาทต่อปี คนยังไม่ค่อยทำกันเลย โดยพบว่ารถจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนในระบบกว่า 22 ล้านคัน ทำประกัน พ.ร.บ.แค่ 64% ซึ่งถือว่าต่ำมาก และเป็นประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุดด้วย ในขณะที่รถยนต์ทุกประเภทที่จดทะเบียนในระบบกว่า 42 ล้านคัน ทำประกัน พ.ร.บ.สูงกว่า 90% โดยค่าเบี้ยประกัน พ.ร.บ.รถยนต์อยู่ที่ราคา 645 บาทต่อปี”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ส่วนปัญหาการเดินทางข้ามแดนประเทศอาเซียนในขณะนี้ เบื้องต้นได้มีการพูดคุยกันและมีแนวคิดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบ one product ที่สามารถใช้สำหรับเดินทางข้ามประเทศอาเซียนให้ได้รับความคุ้มครองถึงกันได้ แต่แนวทางนี้ไม่ง่ายและยังค่อนข้างยาก