ก.ล.ต.อนุมัติตั้งกองทุนแบบ fast track เพิ่มความยืดหยุ่น-สอดคล้องตลาด

ก.ล.ต.
ภาพจาก PIXABAY

คณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงาน ก.ล.ต. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมแบบ fast track และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราส่วนการลงทุนให้มีความยืดหยุ่น-เสนอขายกองทุนรวมได้สอดคล้องกับสภาวะตลาด ล้อไปกับแนวทางสากล

วันที่ 27 มีนาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์การยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมในลักษณะที่จะได้รับการอนุมัติเป็นการทั่วไป (แบบ fast track)

ซึ่งปัจจุบันการยื่นคำขออนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมสามารถทำได้ 2 แบบ คือ 1.การยื่นคำขอแบบปกติ ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. จะดำเนินการพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และ 2.การยื่นคำขอแบบ fast track โดยต้องเป็นกองทุนรวมที่มีเงื่อนไขครบถ้วนตามที่ประกาศกำหนด

ทั้งนี้เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) สามารถเสนอขายกองทุนรวมได้สอดคล้องกับสภาวะตลาด และเป็นการส่งเสริมให้ บลจ. ควบคุมการดำเนินงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องด้วยตนเอง (self-compliance) รวมทั้งยังคงหลักการด้านการคุ้มครองผู้ลงทุน

อีกทั้งสำนักงาน ก.ล.ต. มีแนวคิดปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราส่วนการลงทุน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการกองทุนให้แก่ บลจ.

ทั้งนี้ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในการประชุม ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ที่ใช้กับการจัดการลงทุน ตามที่ สำนักงาน ก.ล.ต. เสนอ ดังนี้

1.เพิ่มประเภทกองทุนรวมที่สามารถยื่นคำขอแบบ fast track ได้ โดยให้ครอบคลุมถึงกองทุนฟีดเดอร์ (กองทุนรวมที่นำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมอื่นเพียงกองทุนเดียว) และกองทุนรวมที่มีลักษณะคล้ายกับกองทุนรวมที่ได้รับการอนุมัติแบบปกติจาก สำนักงาน ก.ล.ต. แล้ว

โดยเพิ่มมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มั่นใจว่ากองทุนรวมดังกล่าวมีคุณภาพที่เพียงพอ ได้แก่ การเพิ่มคุณสมบัติของ บลจ.ที่สามารถยื่นคำขอ การปรับปรุงระยะเวลาในการอนุมัติคำขอ เพื่อให้ สำนักงาน ก.ล.ต. มีระยะเวลาในการคัดกรอง (screening) การปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลประเภทและความเสี่ยงของกองทุนรวม และการระงับสิทธิในการยื่นคำขอ กรณีพบข้อบกพร่องสำคัญจากการตรวจสอบ

2.เพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการลงทุน โดยปรับปรุงหลักการพิจารณาการผิดอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกที่ บลจ.ควบคุมไม่ได้ ได้แก่ การไถ่ถอนหน่วยลงทุนของผู้ลงทุน และการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนมีการลงทุน

จากเกณฑ์เดิมที่อาจถูกพิจารณาเข้าข่ายเป็นความผิด (active breach) ให้เป็นการลงทุนผิดอัตราส่วนที่เกิดจากเหตุการณ์ที่กำหนด (passive breach) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการลงทุนแก่ บลจ. ในขณะที่ผู้ลงทุนยังคงได้รับความคุ้มครองเช่นเดิม

ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนเกี่ยวกับการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมและหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอัตราส่วนการลงทุนดังกล่าวต่อไป