หากแบงก์ไทยล้ม กฎหมายคุ้มครองเงินฝากอย่างไร ?

เงินบาท ค่าเงินบาท ดอกเบี้ย

หากวิกฤตธนาคารล้มหากเกิดในไทย กฎหมายประเทศไทยคุ้มครองเงินฝากอย่างไร

หลังจากเกิดหตุการณ์ธนาคารซิลิคอนวัลเลย์แบงก์ หรือ SVB (Silicon Valley Bank) ธนาคารในสหรัฐที่เน้นปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทสตาร์ตอัพ ที่ปิดตัวลงหลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องรุนแรงจนลูกค้าแห่ถอนเงินออกจากระบบ นับเป็นการล่มสลายของสถาบันการเงินใหญ่ของสหรัฐ ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้สร้างความกังวลเป็นอย่างมากต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อาจลุกลามเกิดขึ้นกับธนาคารอื่นทั่วโลก และความกังวลนี้ยิ่งทวีคูณมากขึ้น หลังธนาคารเครดิตสวิส ธนาคารเก่าแก่อายุ 167 ปี ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่เกิดปัญหาภายในและกลายเป็นอีกหนึ่งธนาคารที่มีปัญหาสภาพคล่อง

เพียงแค่ภายในระยะเวลา 1 เดือนเกิดปัญหาขึ้น 2 ธนาคารระดับโลกแบบนี้ และแน่นอนว่าเมื่อเกิดปัญหากับธนาคารผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ผู้ที่ฝากเงินอยู่ในระบบของธนาคารนั้น อย่างไรก็ตาม หากมองกับมาที่ประเทศไทย อาจมีคำถามว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นกับธนาคารในประทศไทย ผู้ที่ฝากเงินไว้จะได้รับความคุ้มครองอย่างไรบ้าง “ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมาอ่านบทความนี้

สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA

ประเทศไทย การคุ้มครองเงินฝากนั้น มีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA ซึ่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มาตรา 6 มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงิน

โดยปัจจุบันมีสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง 32 แห่ง, เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน, ดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ทั้งนี้ หากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครอง ถูกเพิกถอนใบอนุญาต สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA จะทำหน้าที่จ่ายคืนเงินฝากภายใน 30 วัน

โดยกำหนดวงเงินคุ้มครองอยู่ที่ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อ 1 สถาบันการเงิน  หมายความว่าไม่ว่าผู้ฝากเงินจำนวนมากแค่ไหน ก็จะได้รับการตุ้มครองรับประกันเงินฝากเพียง 1 ล้านบาทต่อคนต่อสถาบันการเงิน ทำให้ที่ผ่านมา ประชาชนก็มีการกระจายเงินฝากส่วนเกิน 1 ล้านบาทไปสถาบันการเงินต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยง

สำหรับการจ่ายเงินคืน ปัจจุบันมี 2 ช่องทาง คือ พร้อมเพย์ ที่ผูกกับหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือเช็ค

โดยสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้ง 32 แห่ง ต้องเป็นผู้ส่งเงินนำส่งให้ DPA เพื่อเข้ากองทุนสะสมไว้ปีละ 2 ครั้ง เรียกว่ากองทุนคุ้มครองเงินฝาก โดยไม่ใช่เงินฝากของผู้ฝากเงิน

ทั้งนี้ เงินฝากที่จะได้รับความคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 มาตรา 51 ระบุถึงเงินฝากที่ได้รับความคุ้มครอง ได้แก่ เงินฝากทุกประเภทของสถาบันการเงิน ที่นำมาคำนวณยอดเงินฝากถัวเฉลี่ย และดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เกิดจากเงินฝากนั้น จนถึงวันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน

โดยต้องเป็นเงินฝากและดอกเบี้ยที่เป็นเงินบาท อีกทั้งต้องเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากภายในประเทศ ไม่ใช่เงินฝากในบัญชีประเภทบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน

ผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับการคุ้มครอง ?

ทางสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ DPA ได้ระบุว่า ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีทางการเงินได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ฝากเงินควรทราบว่าผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับความคุ้มครอง

โดยเงินฝากที่เปิดไว้ที่สถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก ต้องเป็นสกุลเงินบาทและต้องเป็นบัญชีเงินฝากภายในประเทศ แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  1. เงินฝากกระแสรายวัน
  2. เงินฝากออมทรัพย์
  3. เงินฝากประจำ
  4. บัตรเงินฝาก
  5. ใบรับฝากเงิน

ขณะที่ส่วนที่ได้ไม่รับการคุ้มครอง แบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

  1. เงินฝากประเภทที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
  2. เงินลงทุนในตราสารต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หน่วยลงทุน SSF และ RMF
  3. เงินฝากในสหกรณ์
  4. แคชเชียร์เช็ค ตั๋วแลกเงิน
  5. เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)

อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือหน่วยงานสถาบันด้านการเงินหลายแห่งยังคงมีความเชื่อมั่นว่าธนาคารไทยยังแข็งแกร่งและมีสภาพคล่องที่ดี และไม่กังวลธนาคารต่างประเทศประสบปัญหา เนื่องจากมีธุรกิจที่เชื่อมโยงกับไทยไม่มากและไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย