
ส่อง 3 บริษัทใหญ่ชื่อดัง “AIS-โลตัส-แอร์เอเชีย” เสนอขายหุ้นกู้ในเดือน เม.ย.นี้ ดอกเบี้ยสูงสุด 7%
วันที่ 1 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสของการเปิดขายหุ้นของธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงมีออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ซึ่งต่างได้รับความสนใจจากบรรดานักลงทุนเป็นอย่างมาก ล่าสุดเดือนเมษายน 2566 เบื้องต้นมี 3 บริษัทใหญ่ชื่อดังที่ประกาศระดมทุนเปิดขายหุ้นกู้ คือ บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด ผู้ประกอบกิจการห้างค้าปลีก “โลตัสส์” , บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS (ADVANC) และ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด (TAA)
- เปิดภาพโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดถนนวิภาวดีรังสิต
- บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 1 มิ.ย.นี้ ใครมีสิทธิรับวงเงินค่าซื้อสินค้า 900 บาท
- ป.ป.ช.เปิดบัญชีทรัพย์สินอนุทิน-คู่สมรส รวย 4,411 ล้าน จ่ายค่าหย่า 50 ล้าน
โลตัสส์ เสนอขาย 5 ชุด 17-19 เม.ย.นี้
คาดว่าออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน เสนอขายให้แก่เสนอขายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (ไม่รวมถึงบุคคลธรรมดาที่จองซื้อในฐานะผู้ลงทุนสถาบัน) หุ้นกู้ดังกล่าวแบ่งออกเป็นดังนี้
- ชุดที่ 1 อายุ 1 ปี 6 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2567 อัตราดอกเบี้ย 2.80-2.95% ต่อปี
- ชุดที่ 2 อายุ 3 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2569 อัตราดอกเบี้ย 3.20-3.30% ต่อปี
- ชุดที่ 3 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2571 อัตราดอกเบี้ย 3.50-3.60% ต่อปี
- ชุดที่ 4 อายุ 8 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2574 อัตราดอกเบี้ย 3.75-3.85% ต่อปี
- ชุดที่ 5 อายุ 10 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2576 อัตราดอกเบี้ย 4.00-4.15% ต่อปี
เปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 17 – 19 เมษายน 2566 จัดอันดับความน่าเชื่อถือโดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 โดยองค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ “A+” และหุ้นกู้จัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ “A+”แนวโน้ม “A+”
โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ นำไปชำระเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยเงินกู้ยืมดังกล่าวมีกําหนดชําระคืนภายใน 3 ปี นับจากวันกู้ยืม (วันที่ 21 ตุลาคม 2567) และไม่มีหลักทรัพย์คํ้าประกัน ซึ่งประกอบด้วย
- เงินกู้ยืมจํานวน 1,700 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ย LIBOR 3 เดือน บวกร้อยละ 1.95 ต่อปี
- เงินกู้ยืมจํานวน 26,000 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ย MLR ลบ ร้อยละ 2.25 ต่อปี สําหรับธนาคารที่เป็นผู้จัดการการจัดจําหน่ายหุ้นกู้ และให้สินเชื่อเงินกู้ยืมระยะยาวแก่บริษัทฯ มีมูลหนี้รวม 24,400 ล้านบาท และ 99 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) ,ธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) ,ธนาคารทหารไทยธนชาต จํากัด (มหาชน) , ธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) และ United Overseas Bank Limited
ปัจจุบัน บมจ. เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ และบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าในประเทศไทย ภายใต้แบรนด์ “โลตัส” (Lotus’s) ถือเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกแบบออมนิแชนแนล ที่มีช่องทางจัดจำหน่ายหลายรูปแบบ โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 “โลตัส” (Lotus’s) มีร้านค้าปลีกจำนวน 2,578 แห่งทั่วประเทศไทย ประกอบด้วยร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 223 แห่ง ซูเปอร์มาร์เก็ต 202 แห่ง และมินิซูเปอร์มาร์เก็ต 2,153 แห่ง
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเป็นผู้นำในธุรกิจบริหารพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า โดยมีพื้นที่เช่าในศูนย์การค้า 200 แห่ง (ไม่รวมศูนย์การค้าที่มีการลงทุนโดยกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าโลตัสส์ รีเทล โกรท หรือ LPF จำนวน 23 แห่ง) มีพื้นที่ให้เช่าสุทธิถาวรรวมประมาณ 806,081 ตารางเมตร โดยมีร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตของ “โลตัส” (Lotus’s) เป็นร้านค้าหลัก โดยในจำนวนศูนย์การค้าทั้งหมด บริษัทฯ ถือกรรมสิทธิ์ (Freehold) ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ตั้งของศูนย์การค้าจำนวน 70 แห่ง ขณะที่อัตราการเช่าพื้นที่ (Occupancy Rate) ของศูนย์การค้าอยู่ที่ประมาณ 90% และบริษัทฯ ถือหน่วยลงทุน 25% ในกองทุนรวม LPF ที่ลงทุนในศูนย์การค้า 23 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ให้เช่าสุทธิถาวรรวมประมาณ 339,700 ตารางเมตร
ทั้งนี้ ผลประกอบการในปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวม 183,791.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ซึ่งสะท้อนสัญญาณในทิศทางบวกจากการฟื้นตัวกลับมาของธุรกิจ อันเป็นผลจากการที่สามารถเปิดให้บริการศูนย์การค้าได้ตามปกติ และประชาชนมีความต้องการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น
AIS ขาย 3 รุ่น รอเคาะดอกเบี้ย
คาดว่าออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน จ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ (โดยไม่รวมถึงบุคคลธรรมดา) หุ้นกู้ดังกล่าวแบ่งออกเป็นดังนี้
- ชุดที่ 1 อายุ 5 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2571 อัตราดอกเบี้ย [ ]% ต่อปี
- ชุดที่ 2 อายุ 7 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2573 อัตราดอกเบี้ย [ ]% ต่อปี
- ชุดที่ 3 อายุ 10 ปี ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ.2576 อัตราดอกเบี้ย [ ]% ต่อปี
เปิดให้จองซื้อในเดือนเมษายน 2566 จัดอันดับความน่าเชื่อถือโดย บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 องค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ “AA+(tha)” และหุ้นกู้จัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ “AA+(tha)”
โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ดังนี้ 1. เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ของ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ครั้งที่ 1/2559 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอน ปี พ.ศ. 2566 (AWN235A) ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 2. เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
ปัจจุบัน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ประกอบธุรกิจหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปี 2565 มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 1.9 ล้านราย ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวม 46 ล้านเลขหมาย ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการรายเดือน ในส่วนของการให้บริการ 5G ที่วันนี้มีลูกค้าอยู่ที่ 6.8 ล้านราย เติบโตก้าวกระโดดจาก 2.2 ล้านราย ในปี 2564 ด้วยการพัฒนาคุณภาพให้บริการบนเครือข่าย 5G ที่เร่งขยายโครงข่ายครอบคลุม 85% ของพื้นที่ประชากรทั่วประเทศ และมากกว่า 99.95% ในพื้นที่กรุงเทพฯ
ด้านธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เอไอเอส ไฟเบอร์ มีรายได้เติบโตกว่า 19% ในปี 2565 นับเป็นการเติบโตเหนืออุตสาหกรรม ด้านลูกค้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 390,000 ราย ทำให้ลูกค้ารวมอยู่ที่ 2.2 ล้านราย ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 16%
ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทั้งในมุมการรับรู้ที่ AIS Business ครองแชมป์อันดับ 1 ผู้ให้บริการสำหรับองค์กรและธุรกิจ ด้านธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส ยังคงมุ่งนำศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยี มาออกแบบบริการดิจิทัลที่สอดรับกับพฤติกรรมของลูกค้าและคนไทย
ทั้งนี้ ผลประกอบการปี 2565 มีกำไรสุทธิ 26,011 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 3.4% ส่วนรายได้รวม 185,485 ล้านบาท เติบโต 2.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน
แอร์เอเชีย จ่ายดอกสูง 7% ขาย 24-26 เม.ย.
คาดออกและเสนอขายหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีประกัน ซึ่งผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนหุ้นกู้ก่อนกำหนด อายุ 2 ปี ดอกเบี้ย 7.00% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่
โดยมีผู้ค้ำประกัน คือ บริษัท เอเชีย เอวิชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 100% ตกลงเป็นผู้ค้ำประกันการชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และจำนวนเงินอื่นใดที่บริษัทต้องชำระภายใต้ข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้
เปิดให้จองซื้อในระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2566 จัดอันดับความน่าเชื่อถือโดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด องค์กรจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ที่ “BB” และหุ้นกู้ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
โดยบริษัทมีวัตถุประสงค์ที่จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนมิถุนายน 2566 และเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
โดยปัจจุบัน ไทยแอร์เอเชีย มีบริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AAV เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ซึ่งประกาศผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2565 มีรายได้รวม 12,498.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 481 เทียบกับปีก่อน (YOY) และร้อยละ 155 เทียบกับไตรมาสก่อน (QOQ)
ซึ่งเมื่อพิจารณาผลประกอบการตลอดปี 2565 บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น มีรายได้รวม 18,290.8 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 26,766.4 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและตราสารอนุพันธ์จำนวน 1,460.0 ล้านบาท ทำให้รายงานผลขาดทุนสุทธิ 8,214.4 ล้านบาท
ผลประกอบการปี 2565 ดีขึ้นกว่าปี 2564 ที่มีผลขาดทุน 11,958.0 ล้านบาท บรรลุเป้าหมายขนส่งผู้โดยสารตลอดปีรวม 9.95 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขนส่งผู้โดยสารเพียง 2.93 ล้านคน มีอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 84
นอกจากนี้ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ยังเน้นเรื่องการเติบโตอย่างยั่งยืน ชูแผนปฏิบัติการบินสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปีที่ผ่านมามากกว่า 7,000 ตัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นโกงกางใบใหญ่กว่า 514,000 ต้น รวมทั้งร่วมโครงการวิภาวดีฯ ไม่มีขยะ สำหรับการจัดการขยะไม่อันตราย ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง