
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
“หุ้น MGC จะเป็นหุ้นที่ค่อนข้าง unique เพราะเป็นส่วนผสมของแบรนด์พันธมิตรระดับโลก ซึ่งมีความน่าเชื่อถือ และธุรกิจของเรายังสะท้อนถึง Lifestyle Mobility ซึ่งมีฐานลูกค้าที่มีเอกลักษณ์และมีสถานะ Independent ค่อนข้างสูง”
ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) หรือ MGC-ASIA ให้นิยามหุ้นของบริษัทที่จะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในอีกไม่กี่วันนี้ ในการให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ล่าสุด
3 เหตุผลนำ MGC เข้าตลาดหุ้น
“ดร.สัณหวุฒิ” เล่าย้อนว่า เดิมมิลเลนเนียม กรุ๊ปฯ ไม่ใช่บริษัทแรกที่คิดจะนำเข้าตลาดหุ้น โดยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เคยมีแผนจะนำบริษัท มาสเตอร์ คาร์ เร้นเทิล (MCR) ที่เป็นบริการเช่ารถยนต์และคนขับ เข้าตลาดหุ้นก่อน เนื่องจากรถเช่าองค์กร (Fleet) ขยายตัวมาก ทำให้ส่วนทุนจำเป็นจะต้องขยายตามไปด้วย ไม่อย่างนั้นหนี้สินต่อทุน (D/E) จะสูง แต่สุดท้าย ก็เปลี่ยนแผน เพราะสามารถหาเงินทุนได้ กระทั่งปัจจุบันตัดสินใจนำ MGC เข้าตลาดหุ้น ด้วย 3 เหตุผลหลัก
คือ 1.บริษัทได้ร่วมทุนกับ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCBX) ทำธุรกิจการเงินผ่านบริษัท อัลฟ่า เอกซ์ จำกัด (Alpha X) ให้บริการทางการเงินครบวงจร ครอบคลุมสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่ง และสินเชื่อรีไฟแนนซ์ สำหรับยานยนต์และมารีนในระดับลักเซอรี่ ซึ่งธุรกิจพวกนี้จำเป็นต้องใช้เงินทุนในการขยายกิจการค่อนข้างสูง 2.ต้องการขยายธุรกิจให้บริการหลังการขายและให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระ โดยมีแผนขยายเอาต์เลต MMS Bosch Car Service เพิ่มค่อนข้างมาก และ 3.ต้องการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนภายในบริษัท เพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตทางด้านยอดขาย
“เราเชื่อว่าหลังเข้าตลาดหุ้นแล้วจะทำให้เราเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นได้มากขึ้น จากเดิมที่ควักเงินส่วนตัวลงทุนเองและกู้ยืมเงินจากแบงก์ ซึ่งจะทำให้เราโตแบบก้าวกระโดด เพราะสามารถขยายธุรกิจได้ทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน ตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่เรากำลังสร้างเนื้อสร้างตัว กำลังลุยขยายกิจการ”
อีโคซิสเต็ม Lifestyle Mobility
โดยจุดแข็งของ MGC คือ การมีธุรกิจที่ครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ ภายใต้
อีโคซิสเต็ม Lifestyle Mobility ทั้งทางบก (รถยนต์, บิ๊กไบก์) ทางน้ำ (เรือยอชต์, เรือแม่น้ำ) ทางอากาศ (ให้เช่าเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว VistaJet, ตัวแทนจำหน่ายบัตรโดยสารสายการบินชั้นนำ)
ซึ่ง 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจจำหน่ายยานยนต์ ภายใต้ยี่ห้อชั้นนำที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น BMW, Mini, Honda, Rolls-Royce, BMW Motorrad, Harley-Davidson เรือยอชต์ Azimut และเรือแม่น้ำ Chris Craft รวมถึงแบรนด์พาร์ตเนอร์ทั้ง Peugeot, Jeep, Maserati, Aston Martin นอกจากนี้ ยังได้รับความไว้วางใจให้เป็นพาร์ตเนอร์ศูนย์ซ่อมสีตัวถังของ “Tesla” เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียว
2.กลุ่มธุรกิจให้บริการหลังการขายและให้บริการซ่อมบำรุงรถยนต์อิสระ ภายใต้แบรนด์ศูนย์ซ่อมบำรุง MMS 3.กลุ่มธุรกิจให้บริการเช่ารถยนต์และคนขับ (Master Car Rental) รวมถึงรถเช่าระยะสั้นแบรนด์ (Sixt) และ 4.กลุ่มธุรกิจทางการเงินสำหรับยานยนต์ (Alpha X) รวมถึงธุรกิจนายหน้าประกันภัย (Howden Maxi, Sabuy Maxi)
ตั้งเป้ากำไรปี’66 โตสองหลัก
ซีอีโอ MGC-ASIA กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจจำหน่ายยานยนต์ที่ทำมานานกว่า 22 ปี ยังคงเป็นพอร์ตหลักที่สร้างรายได้ถึงกว่า 80% ขณะที่กลุ่มธุรกิจให้บริการหลังการขายและให้บริการเช่ารถยนต์์จะเป็นพอร์ตหลักในการสร้างกำไรส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ ในเครือ โดยบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่ทั้งหมดกว่า 2 ล้านราย แอ็กทีฟอยู่มากกว่า 5 แสนราย (เข้ามาใช้งานทุกเดือน)
โดยตั้งเป้าปี 2566 นี้คาดว่ากำไรจะสามารถเติบโตได้ในระดับตัวเลข 2 หลัก จากปี 2565 บริษัทมีรายได้ 23,076 ล้านบาท และมีกำไร 595 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะเผชิญสถานการณ์โควิด แต่บริษัทเติบโตและมีกำไรเพิ่มขึ้นมาตลอด
“มารีน” ธุรกิจเรือธง-มาร์จิ้นดีสุด
สำหรับแผนลงทุนต่อจากนี้ เงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO จะถูกใช้ 3 ส่วน คือ ระยะสั้น จะใช้ลงทุนเพื่อให้เกิดผลตอบแทน (ROE) ที่รวดเร็วทันที ทั้งผ่านแบรนด์ BMW, Honda หรือธุรกิจรถยนต์มือสอง ขณะที่ระยะกลางต้องรอให้ธุรกิจบางตัวสุกงอมก่อน ซึ่งเป็นโอกาสให้โตเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่ธุรกิจมารีนจะเป็น New Ecosystem หรือ Rising Star ในกลุ่ม
“มารีนเป็น Blue Ocean ซึ่งตอนนี้มีมาร์จิ้นดีที่สุด อย่างธุรกิจเรือแม่น้ำ เราจะขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคด้วย”
ส่วนระยะยาวจะเป็นภาพใหญ่ที่จะร่วมทำงานกับพาร์ตเนอร์ระดับโลก
ลุยขยายสาขา
ทั้งนี้ เงินลงทุนประมาณ 2,152 ล้านบาท จะถูกใช้เพิ่มจำนวนรถยนต์ Fleet และประมาณ 204-304 ล้านบาท ใช้เพิ่มเอาต์เลต MMS โดยอีกไม่ต่ำกว่า 14 สาขา ให้ครบ 35 สาขาทั่วประเทศ ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า เฟสแรกจะเปิดเพิ่มในปีนี้ 6 สาขา อย่างที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี จะเปิดในช่วงปลายเดือน มิ.ย. นี้ จากเดิมที่มีเปิดอยู่แล้วที่ภูเก็ตและหาดใหญ่ ซึ่งจะเติมเต็ม Southern Model ให้ครบทั้งพื้นที่อ่าวไทยและอันดามัน
นอกจากนี้ เตรียมเงินไว้เติมทุน Alpha X ในช่วง 2 ปี (2566-2567) ประมาณ 500 ล้านบาท หลังปี 2565 พอร์ตสินเชื่อโตขึ้นอย่างมีนัย โดยช่วง 8 เดือนแรกที่ดำเนินธุรกิจ พอร์ตสินเชื่อก็เพิ่มเป็น 3,800 ล้านบาทแล้ว ส่วนปี 2566 นี้จะวิ่งสู่ระดับ 10,000 ล้านบาท
“การมีพาร์ตเนอร์ SCBX ถือเป็นโอกาสของ MGC ที่จะร่วมดีไซน์สร้างโมเดลการทำธุรกิจที่ไม่เหมือนคนอื่น โดยเบื้องต้นได้มีการพูดคุยเรื่อง Synergy ในหลาย ๆ เรื่อง เพื่อให้ Alpha X เติบโตขึ้น ตัวอย่างเช่น การออฟเฟอร์สิทธิประโยชน์ผ่านกลุ่มลูกค้า MGC-ASIA และ Julius Bear ในการเข้าไปขยายฐานลูกค้าเวลท์ผ่านสินค้าในเครือต่าง ๆ ของเรา”
ส่วนสุดท้ายเตรียมเงินบางส่วนไว้ชำระคืนหนี้ ซึ่งหลังเข้าตลาด MGC จะมี D/E ที่ต่ำลง
นักลงทุนแห่จองซื้อ IPO
สำหรับการเปิดให้จองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน ไม่เกิน 280 ล้านหุ้น ที่ได้กำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่ 7.95 บาทต่อหุ้น ซึ่งเปิดให้นักลงทุนจองซื้อระหว่างวันที่ 18-20 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้รับความสนใจอย่างมาก ทั้งนักลงทุนสถาบันที่เข้ามาจองซื้อหุ้นมากพอสมควร และ ลูกค้ารายย่อยที่ส่วนใหญ่กว่า 50% ที่สนใจเป็นลูกค้าในเครือ MGC ที่รู้จักธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี
ทั้งนี้ ที่ปรึกษาการเงิน (FA) คาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET ได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งน่าจะในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้นั่นเอง