แบงก์ชง “ค่าฟี” ถอนเงินเอทีเอ็ม แบก “ต้นทุนบริหาร” กว่าหมื่นล้านบาท

ATM

ธนาคารพาณิชย์ผลักดันแผนรื้อโครงสร้าง “ค่าธรรมเนียม” การทำธุรกรรมเงินสดผ่านสาขาและเครื่องเอทีเอ็มให้สะท้อนต้นทุน แจงธนาคารแบกต้นทุนการจัดการเงินสดผ่านตู้เอทีเอ็มกว่าหมื่นล้านบาท สวนทางค่าฟีบัตรเอทีเอ็ม-เดบิตลดฮวบต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกระแสที่ธนาคารกรุงไทยมีนโยบายจะเก็บค่าธรรมเนียม “กดเงินสดแบบไม่ใช้บัตร” จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์วงกว้าง ซึ่งทำให้ธนาคารกรุงไทยต้องประกาศเลื่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว อย่างไม่มีกำหนด อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่าธนาคารใหญ่หลายแห่งก็มีนโยบายการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการกดเงินสดเช่นกัน

รื้อโครงสร้างค่าฟีตามต้นทุน

ขณะที่นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาชี้แจงว่า ธปท.มีเป้าหมายจะยกระดับให้การใช้จ่ายผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักในการชำระเงินของประชาชน เพื่อมุ่งสู่การลดใช้เงินสดในระยะยาว ภายใต้แผนกลยุทธ์ระบบการชำระเงินปี 2565-2567

และหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการ คือ การทบทวนโครงสร้างราคาของบริการชำระเงินและค่าธรรมเนียมการชำระเงินรูปแบบต่าง ๆ ทั้งเงินสด เช็ค และบริการชำระเงินดิจิทัล ให้เหมาะสม

นางสาวสิริธิดาระบุว่า ปัจจุบัน ธปท.อยู่ระหว่างพิจารณาวางแนวทางโครงสร้างค่าธรรมเนียมของทั้งระบบการชำระเงินให้สอดคล้องกับหลักการข้างต้น และเป็นสากล โดยจะนำมาใช้ประเมินเพื่อพิจารณาปรับปรุงและหารือกับผู้เกี่ยวข้อง ก่อนนำมาเป็นแนวทางให้สถาบันการเงินนำไปปรับใช้ต่อไป

ขณะที่พฤติกรรมถอนเงินสดลดลงต่อเนื่อง โดยข้อมูลจาก ธปท. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาลดลงถึง 30.9% โดยจากปี 2561 มีการถอนเงินสดถึง 35,364 พันล้านบาท ในปี 2565 ลดลงเหลือเพียง 24,436 พันล้านบาท อย่างไรก็ดีพบว่าเป็นการถอนเงินแบบไม่ใช้บัตร (ผ่าน mobile banking application) สัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีสัดส่วน 32% ของช่องทางการถอนเงินสดทั้งหมด

ttb เสนอเก็บค่าฟีถอนเงินสาขา

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทีเอ็มบีธนชาต หรือทีทีบี เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สำหรับโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม และบริการของธนาคารคงไม่ได้มีการปรับอะไรมากเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่รายได้ค่าธรรมเนียมจะมาจากธุรกิจประกัน กองทุน และรายได้บางส่วนจะมาจากค่าธรรมเนียมบัตรเครดิต และบัตรเดบิต

ซึ่งโดยภาพรวมธนาคารตั้งเป้าเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในปี 2566 เติบโตอยู่ที่ราว 10-15% ส่วนค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม เช่น ถอน โอน จ่าย จะพบว่าค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นกลยุทธ์ของธนาคารภายใต้ “ttb all free” ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมในส่วนนี้

อย่างไรก็ดี หากมีการทบทวนโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการให้สามารถสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง มองว่า ค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนจากการทำธุรกรรมที่สาขา เช่น การถอนเงินสด และการทำธุรกรรมจ่ายบิลที่สาขา ปัจจุบันพบว่าอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการให้บริการ ถือว่าการเรียกเก็บยังต่ำกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงอยู่มากพอสมควร จึงมองว่าธุรกรรมเหล่านี้เป็นจุดที่ควรกลับมาดูและทบทวนกันใหม่

“หากต้องสะท้อนค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เกิดขึ้น ทางเรามองเรื่องการทำธุรกรรมที่สาขาตอนนี้เรียกเก็บต่ำกว่าต้นทุนจริงอยู่มากพอสมควร ตัวนี้น่าจะเป็นอีกจุดที่ควรกลับมาดูกันใหม่”

ค่าฟีไม่สะท้อนต้นทุน

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงิน เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้โครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมของระบบธนาคารพาณิชย์ยังไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยธุรกรรมที่มีต้นทุนสูง แต่สามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้บริการต่ำกว่าเป็นจริง เช่น บริการเบิกถอนเงินสดจากสาขา และบริหารจัดการเครื่องเอทีเอ็ม-CDM เป็นต้น จึงเป็นที่มาของการกลับมาเรียกเก็บค่าธรรมเนียม “กดเงินไม่ใช้บัตร” ของธนาคาร

ทั้งนี้ จะเห็นว่ารายได้ค่าธรรมเนียมจากบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตของระบบธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมดิจิทัล ทำให้ลูกค้าหันไปทำธุรกรรมทางการเงินบนโมบายแบงกิ้งเพิ่มขึ้น ประกอบกับบริการ “ถอนเงินไม่ใช้บัตร” ที่ธนาคารอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า ส่งผลให้ลูกค้าสมัครบัตรเอทีเอ็มและเดบิตน้อยลง ทำให้รายได้ส่วนนี้หายไปค่อนข้างมาก

แบงก์แบกต้นทุนเงินสดหมื่นล้าน

อย่างไรก็ดี หากมองในแง่ “ต้นทุน” การบริหารจัดการเงินสดของธนาคารในการให้บริการผ่านเครื่องเอทีเอ็มยังสูงเท่าเดิม ซึ่งโดยรวมทั้งระบบต้นทุนสูงเป็นหมื่นล้านบาท เช่น ค่าเช่าพื้นที่ ค่าขนส่งเงินสด ค่าจัดการเงินสดผ่านศูนย์บริหารเงินสด หรือค่าเสียโอกาสของเงินสดที่ค้างอยู่ในเครื่องเอทีเอ็ม เป็นต้น ซึ่งสวนทางกับรายได้ค่าธรรมเนียมจากบัตรเอทีเอ็มและเดบิตที่ลดลงต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากประชาชนจำนวนมากเลิกทำบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต และเลือกใช้ช่องทางการถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรแทน ซึ่งปัจจุบันไม่มีค่าใช้จ่ายและสะดวกต่อการใช้บริการ

“ปัจจุบันรายได้ค่าฟี ส่วนที่เป็นบัตรเอทีเอ็มและเดบิตลดลง เพราะคนถอนเงินสดแบบไม่ใช้บัตรมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะเป็นบริการกดเงินไม่ใช้บัตร แต่ก็เป็นการถอนเงินออกจากเครื่องเอทีเอ็ม ซึ่งยังเป็นต้นทุนที่แบงก์ยังต้องแบกอยู่ ทำให้มีแนวคิดว่าจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตรงนี้ รวมถึงค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งทางการควรจะนำมาพิจารณาร่วมกัน”

อย่างไรก็ดี หากไม่สามารถเรียกเก็บได้ แต่ละธนาคารก็ต้องมานั่งคิดว่าจะบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งมองไปข้างหน้าต่อไปตู้เอทีเอ็มกรณีหมดอายุ เชื่อว่าแบงก์เองก็จะไม่ลงทุนซื้อเครื่องใหม่ หรือลงทุนใหม่เพิ่มเติม เพราะเป็นต้นทุนที่ต้องแบกรวมทั้งคนใช้ลดลง

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาในที่ประชุมสมาคมธนาคารไทยได้มีการหารือถึงประเด้นการพิจารณาปรับขึ้นค่าธรรมเนียมธุรกรรมเงินสดมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้มีการหารือร่วมกับ ธปท.ถึงประเด็นดังกล่าวเพื่อให้สะท้อนต้นทุนการดำเนินการ และสอดคล่องกับการส่งเสริมสังคมไร้เงินสด

รายได้ค่าฟีแบงก์

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ 17 แห่งในปี 2566 ประเมินว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.5-2.5% คิดเป็นเม็ดเงินอยู่ที่ 180,500 ล้านบาท จากปี 2565 ที่เติบโต 1.5% คิดเป็นเม็ดเงินราว 177,074 ล้านบาท

โดยสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการในปี 2565 ที่มีการขยายตัวได้ดี พบว่า รายได้จากบัตรเครดิตมีสัดส่วนสูงถึง 22.2% หรือคิดเป็น 39,298 ล้านบาท รองลงมา คือ รายได้จากนายหน้า 18.9% มูลค่า 33,432 ล้านบาท และรายได้จากบริการบัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิตอยู่ที่ 27,691 ล้านบาท สัดส่วน 15.6%

ทั้งนี้ จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น จะเป็นแรงหนุนให้รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการปีนี้ฟื้นตัวดีขึ้นในหลายตัว โดยเฉพาะรายได้จากค่าธรรมเนียมในส่วนของบัตรเครดิต

“หากดูแนวทางของ ธปท. ในส่วนของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ จะเห็นว่า ธปท.ต้องการดูแลโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมให้เป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงทั้งในส่วนของผู้ให้บริการและผู้บริโภค โดยสนับสนุนช่องทางการการชำระเงินไปสู่ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งอะไรที่ไม่เป็นธรรม อะไรที่เก็บสูงเกินจริง หรือต่ำเกินไป เรื่องเหล่านี้ที่ ธปท.จะมาดูโครงสร้างให้เป็นธรรม”

บัตร “ATM-เดบิต” ลดวูบ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า จำนวนบัตรพลาสติก ทั้งในส่วนของบัตรเอทีเอ็ม และบัตรเดบิต ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุด ณ เดือนมกราคม 2566 จำนวนบัตรเอทีเอ็มอยู่ที่ 10,062,201 ใบ ลดลงต่อเนื่องจากเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 11,219,440 ใบ ส่วนบัตรเดบิต เดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ 60,791,982 ใบ ซึ่งลดลงจากเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 64,846,431 ใบ

สอดคล้องกับจำนวนเครื่องเอทีเอ็มที่ปรับลดลงต่อเนื่องเช่นกัน โดย ณ เดือน มกราคม 2566 มีจำนวน 60,000 เครื่อง จากเดือนธันวาคม 2565 อยู่ที่ 60,500 เครื่อง และธันวาคม 2564 อยู่ที่ 63,300 เครื่อง และธันวาคม 2563 อยู่ที่ 65,100 เครื่อง

ขณะที่ปริมาณการเบิกถอนเงินสด ณ เดือนมกราคม 2566 พบว่า การทำธุรกรรมผ่านเครื่องเอทีเอ็ม เฉลี่ยถอนเงินวงเงิน 3,150 บาทต่อรายการ โดยมีปริมาณธุรกรรม 175.5 ล้านรายการ ลดลง 1.6% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีปริมาณวงเงินอยู่ที่ 5.53 แสนล้านบาท ลดลง 1.5% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

และปริมาณเบิกถอนเงินสดผ่านเคาน์เตอร์ เฉลี่ยวงเงิน 193,100 บาทต่อรายการ โดยมีปริมาณธุรกรรม 8.6 ล้านรายการ ปรับลดลง 3.1% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นปริมาณวงเงิน 1.66 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เทียบช่วงเดียวของปีก่อน

ค่าธรรมเนียม Q1 ต่ำกว่าปีก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลผลประกอบการไตรมาส 1 ของปี 2566 ของธนาคารพาณิชย์ พบว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิของธนาคาร 8 แห่ง (ข้อมูล ณ วันที่ 21 เม.ย. 66) พบว่า ภาพรวมมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิรวม 39,608 ล้านบาท ลดลง 2.69% เมื่อเทียบไตรมาส 1/2565 ที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ที่ 40,701 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1.58% หรืออยู่ที่ 38,993 ล้านบาท


โดยหากดูพบว่าธนาคารที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้นมากที่สุด จะเป็นธนาคารทีเอ็มบีธนชาต (ทีทีบี) ปรับเพิ่มขึ้น 3.94% จาก 2,462 ล้านบาทในไตรมาส 1/2565 มาอยู่ที่ 2,559 ล้านบาท และธนาคารที่มีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงเยอะที่สุด คือ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ลดลง 14.88% จาก 383 ล้านบาท เหลือ 326 ล้านบาท