แบงก์ไทยกำไรกระฉูด ไตรมาสเดียวโกย 6 หมื่นล้าน ใครอู้ฟู่สุด ?

ดอกเบี้ย

เปิดงบฯ แบงก์ไตรมาสแรกปี 2566 ไตรมาสแรกโกยรวมกัน 6 หมื่นล้าน โตทั้ง YOY และ QOQ เผย 4 แบงก์ใหญ่กำไรทะลุ 1 หมื่นล้านทุกแห่ง ขณะที่ “กสิกรไทย-SCBX” อ่วมตั้งสำรองฯ ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ส่อมีปัญหา ฟาก “บล.ฟิลลิปฯ” ชี้ “KTB” ทำกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ลุยปรับประมาณการใหม่คาดปีนี้กวาดทะลุ 4 หมื่นล้าน

วันที่ 21 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลการดำเนินงานในไตรมาสแรก ปี 2566 ของธนาคารพาณิชย์ไทย ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) พบว่า ธนาคาร 10 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBX (ชื่อหลักทรัพย์ SCB), ธนาคารกรุงไทย (KTB), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY),

ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), ธนาคารทิสโก้ (TISCO), ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB T) และ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (L H Bank) มีกำไรสุทธิรวมกัน 60,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) 13.45% และ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) 46.57%

4 แบงก์ใหญ่ กวาดกำไรทะลุ “หมื่นล้าน”

โดยแบงก์ใหญ่ 4 แห่ง (SCBX, KBANK, BBL, KTB) มีกำไรสุทธิกว่า 10,000 ล้านบาททุกแห่ง นำโดย SCBX กำไร 10,998 ล้านบาท กสิกรไทย กำไร 10,741 ล้านบาท กรุงเทพ กำไร 10,129 ล้านบาท และ กรุงไทย กำไร 10,067 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาการเติบโตของกำไร จะพบว่า หากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) ธนาคารที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในบรรดา 4 แบงก์ใหญ่ ก็คือ ธนาคารกรุงเทพ ที่กำไรเพิ่มขึ้น 42.30%YOY รองลงมาคือ กรุงไทย เพิ่มขึ้น 14.66%YOY ขณะที่ SCBX กำไรเพิ่มขึ้น 9.47%YOY ส่วนกสิกรไทย กำไรลดลง 4.19% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

ส่วนแบงก์อื่น ๆที่ทำผลงานได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา คือ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ กำไรเพิ่ม 59.39%YOY นอกจากนี้ ก็มี ทีทีบี ที่กำไรเพิ่มขึ้น 34.4%YOY

ขณะที่เมื่อเทียบผลงานกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) แบงก์ที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในบรรดา 4 แบงก์ใหญ่ ก็คือ กสิกรไทย ที่กำไรเพิ่มขึ้นถึง 236.60%QOQ รองลงมา SCBX ที่กำไรเพิ่ม 53.93%QOQ ต่อมาธนาคารกรุงเทพกำไรเพิ่ม 33.82%YOY และ กรุงไทย กำไรเพิ่ม 24.15%YOY

ส่วนแบงก์อื่น ๆที่ทำผลงานได้ดีขึ้น QOQ ได้แก่ ซีไอเอ็มบี ไทยที่กำไรโต 273.87%QOQ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ กำไรโต 64.38%QOQ และ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กำไรโต 45.80%QOQ

ภาพรวมแบงก์ตั้งสำรองฯ เพิ่มจากปีก่อน

ขณะที่การตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ ในภาพรวม 10 แบงก์ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 18.6%YOY แต่ลดลง 14.75%QOQ โดยแบงก์ที่ตั้งสำรองสูงสุดเป็นธนาคารกสิรกไทย ที่ 12,692 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.9%YOY แต่ลดลงจากไตรมาสก่อ่นหน้า 44.29% รองลงมา SCBX ตั้งสำรองฯ 9,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5%YOY และ เพิ่มขึ้นถึง 40.23%QOQ

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ กับธนาคารกรุงไทยตั้งสำรองฯ ใกล้เคียงกันที่ระดับ 8,000 ล้านบาท

“กสิกรไทย-SCBX” สำรองพุ่งรับลูกค้าธุรกิจมีปัญหา

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารยังคงตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ตามหลักความระมัดระวัง แม้ว่าจะลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2565 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์เชิงรุกที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่อาจจะส่งผลต่อลูกค้าบางกลุ่มที่ยังมีความเปราะบาง

“นอกจากนี้ ในไตรมาส 1 ปี 2566 ธนาคารพบว่ามีลูกค้ารายใหญ่รายหนึ่งที่คุณภาพหนี้มีสัญญาณความเสื่อมถอย โดยธนาคารได้มีสำรองสำหรับหนี้ส่วนนี้ไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม ธนาคารอาจพิจารณาความเหมาะสมในการกันสำรองเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด”

ด้าน SCBX ระบุว่า บริษัทได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 9,927 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.5% เพื่อเป็นสำรองส่วนเพิ่มสำหรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อดัอยคุณภาพอยู่ในระดับสูงที่ 163.8%

บล.ฟิลลิปฯ ชี้กำไร KTB พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กำไรไตรมาส 1/2566 ธนาคารกรุงไทย (KTB) ออกมาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ มีกำไรสุทธิ 10,067 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14.7%YOY และ 24.1%QOQ เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดมาก จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้ว่าสินเชื่อจะหดตัวลงก็ตาม และรายได้จากเครื่องมือทางการเงินก็เพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการกำไรปี 2566 ของ KTB ขึ้นเป็น 42,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% YOY จากเดิม 35,000 ล้านบาท จากผลตอบแทนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นมาก และปรับราคาพื้นฐานเป็น 20.50 บาท แนะนำ “ซื้อ”