ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจซบเซา

US Dollars ดอลลาร์สหรัฐ
FILE PHOTO: U.S. dollar banknotes REUTERS/Dado Ruvic

ดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจซบเซา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาส 1/2566 ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.5%

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/4) ที่ระดับ 34.12/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/4) ที่ระดับ 34.19/20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีดอลลาร์สหรัฐซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ปรับตัวลดลง 0.39% แตะที่ระดับ 101.42 หลังกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน เช่น เครื่องบิน รถยนต์ และเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ปรับตัว 3.2% ในเดือนมีนาคม หลังจากลดลง 1.2% ในเดือนกุมภาพันธ์

               

โดยยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อเครื่องบิน ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบิน และอาวุธ โดยเป็นสิ่งบ่งชี้แผนการใช้จ่ายของภาคธุรกิจ ปรับตัวลดลง 0.4% ในเดือนมีนาคม ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าลดลงเพียง 0.1% หลังจากปรับตัวลง 0.7% ในเดือนกุมภาพันธ์

อีกทั้งธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวเพียง 1.1% ในไตรมาส 1/2566 ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 2.5%

นักลงทุนยังคงจับตาดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ที่จะมีการเปิดเผยในวันที่ 28 เมษายนนี้ โดยดัชนีดังกล่าวเป็นข้อมูลเงินเฟ้อสำคัญตัวสุดท้ายก่อนที่เฟดจะจัดการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 2-3 พฤษภาคม

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 79.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมประจำเดือนพฤษภาคมนี้ และให้น้ำหนักเพียง 20.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนมีนาคม 2566 ว่าการส่งออกมีมูลค่า 27,654 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 4.2% ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 24,935 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.1% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2,718 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการกลับมาเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน

ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 การส่งออกมีมูลค่า 70,280 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ระดับ 4.5% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 73,324 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.5% ขาดดุลการค้า 3,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่งผลให้รัฐมนตรีการคลังปรับคาดการณ์ว่าการส่งออกของไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีนี้เป็นต้นไป แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในช่วงชะลอตัว เนื่องจากเชื่อว่าประชาชนเริ่มปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายให้เหมาะสมกับกำลังซื้อ ซึ่งจะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อในตลาดโลก ให้เพิ่มขึ้น พร้อมเชื่อว่า ภาคการท่องเที่ยวยังมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในระหว่างวันบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 34.02-34.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/4) ที่ระดับ 1.1047/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/4) ที่ระดับ 1.1044/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังมีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -25.7 ในช่วงเข้าสู่เดือนพฤษภาคม จากระดับ -29.3 ในเดือนเมษายน ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 เนื่องจากราคาพลังงานที่ลดน้อยลง และการปรับขึ้นค่าจ้าง ช่วยบรรเทาความกังวลเบื้องต้นเกี่ยวกับการสูญเสียกำลังซื้อของภาคครัวเรือน

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1033-1.1063 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1050/54 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (27/4) ที่ระดับ 133.58/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (26/4) ที่ 133.42/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดย The Business Times รายงานว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังวางแผนที่จะทบทวนและตรวจสอบนโยบายที่ใช้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเริ่มการหารือในการประชุมสองวันซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 27 และ 28 เมษายน 2566 ภายใต้การนำของผู้ว่าการ BOJ นายคาซูโอะ อูเอดะ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้ง ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์ Sankei เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

โดยเขาได้กล่าวในการปราศรัยครั้งแรกในฐานะผู้ว่าการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนของธนาคารและอัตราดอกเบี้ยติดลบนั้นเหมาะสมแล้วในตอนนี้ พร้อมเสริมว่าเขาเปิดรับแนวคิดเรื่องการทบทวนนโยบายระยะยาว โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.38-133.93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 133.82/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (27/4), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 (ประมาณการเบื้องต้น) ของสหรัฐ (27/4), ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนมีนาคมของสหรัฐ (27/4), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE ) เดือนมีนาคมของสหรัฐ (28/4) และผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1/2566 (ประมาณการเบื้องต้น) ของยุโรป (28/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.5/-10.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -11.50/-10.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ