ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจซบเซา

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า หลังสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจซบเซา ล่าสุดนักลงทุนให้น้ำหนักถึงร้อยละ 90 ต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอีกร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 5.00-5.25 ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 25 เมษายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/4) ที่ระดับ 34.25/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/4) ที่ระดับ 34.38/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงภายหลังสหรัฐเผยข้อมูลเศรษฐกิจซบเซา ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟดเริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความคิดเห็น หรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout period) ก่อนที่ Fed จะจัดการประชุมกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ในวันที่ 2-3 พ.ค.

ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่า ดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ยังคงอยู่ที่ระดับ -0.19 ในเดือน มี.ค. ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ก.พ. แต่ดีกว่าคาดการณ์ไว้ที่ระดับ -0.25 โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน

อย่างไรก็ดี การที่ดัชนียังคงมีค่าเป็นลบ บ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต

ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาดัลลัส เปิดเผยผลสำรวจระบุว่า ดัชนีชี้วัดกิจกรรมในภาคการผลิตของรัฐเท็กซัสปรับตัวลงสู่ระดับ -23.4 ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2565 และต่ำกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ -11.0 จากระดับ -15.7 ในเดือน มี.ค.และถือเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 12 ติดต่อกัน ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตในเท็กซัส โดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน ขณะที่ภาคธุรกิจยังคงขาดความเชื่อมั่นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

ทั้งนี้นักลงทุนจับตาการเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) 1/2566 ของสหรัฐในวันที่ 27 นี้ โดยหาก GDP ออกมาต่ำเกินคาดก็อาจเป็นแรงกระตุ้นให้เข้าซื้อทองเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ทั้งนี้นักลงทุนปรับเพิ่มน้ำหนักการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดในการประชุมเดือนพฤษภาคม

ล่าสุดให้น้ำหนักร้อยละ 90 สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 สู่ระดับร้อยละ 5.00-5.25 และให้น้ำหนักร้อยละ 10 ในการคงอัตราดอกเบี้ยเฟดที่ระดับร้อยละ 4.75-5.00 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.25-34.41 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.37/38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาด ภายหลังวานนี้บาทอ่อนค่าใกล้แนวต้าน 34.50 บาท/ดอลลาร์ ก่อนที่จะย่อตัวจากแรงขายทำกำไรระยะสั้น ทั้งนี้ตลาดยังจับตาดูตัวเลขการส่งออกและรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน มี.ค.ของไทยในวันที่ 28 นี้

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/4) ที่ระดับ 1.1063/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/4) ที่ระดับ 1.1004/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ได้รับปัจจัยการอ่อนค่าของดอลลาร์เนื่องจากการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

รวมถึงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 4 พ.ค. จากนั้นจะปรับขึ้นอีกจนแตะ 3.50% หรือสูงกว่านั้นในเดือน มิ.ย. เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) ของ ECB ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 4% โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1023-1.1055 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1036/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน เปิดตลาดเช้าวันนี้ (25/4) ที่ระดับ 134.09/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (24/4) ที่ระดับ 134.36/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนยังคงจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 28 นี้

ซึ่งก่อนหน้านี้นายอุเอดะ ผู้ว่าการ BOJ รวมถึงเจ้าหน้าที่อีกหลายราย ได้สัญญาว่าจะคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษต่อไป จนกว่าจะมีหลักฐานเพิ่มเติมว่าภาวะเงินเฟ้อจะคงระดับไปอีกนานและเงินเฟ้อที่ว่า ต้องเกิดจากดีมานด์ของตลาดที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่เกิดจากแรงกดดันด้านซัพพลาย ซึ่งเป็นที่คาดกันว่า BOJ จะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ และจะคงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนคลายไว้ตามเดิม

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.80-134.47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 133.82/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือน เม.ย.จาก Conference Board (25/4), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์สหรัฐ (27/4), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐ (GDP) ไตรมาส 1/2566 (ประมาณการเบื้องต้น) (27/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. EU (27/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย. EU (27/4)

ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐ (PCE) เดือน มี.ค. (28/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (28/4), ธนาคารกลางญี่ปุ่นประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (28/4), รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน มี.ค.ของไทย (28/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ประเทศจีนภาคการผลิตและบริการเดือน เม.ย. (29/4)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.00/-10.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -12.00/-11.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ