ไทยเครดิตฯ ธุรกิจธนาคารของ “วานิช ไชยวรรณ” เศรษฐีไทยอันดับ 8

ไทยเครดิตฯ ธุรกิจธนาคารของ “วานิช ไชยวรรณ” เศรษฐีไทยอันดับ 8 ที่เตรียมเข้าตลาดหุ้นไทย ตามรอยไทยประกันชีวิต ช่วงปลายปี 2566

วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ปฏิเสธไม่ได้ว่าการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้แต่ละบริษัทสามารถระดมทุนจากประชาชนทั่วไปได้โดยตรง เพื่อนำเงินไปเป็นทุนหมุนเวียนหรือขยายธุรกิจของบริษัทได้ โดยไม่มีภาระที่ต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย

ซึ่งในช่วง 1-2 ปีนี้ เริ่มเห็นความเคลื่อนไหวในกลุ่มธุรกิจการเงินของ “วานิช ไชยวรรณ” มหาเศรษฐีไทยอันดับ 8 ที่มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 3 พันล้านเหรียญ หรือราว 1.05 แสนล้านบาท (อ้างอิงการจัดอันดับ 50 มหาเศรษฐีไทย ประจำปี 2565 โดย Forbes)

โดยได้นำบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ธุรกิจประกันชีวิตที่ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2485 จนถึงปัจจุบัน 81 ปีแล้ว เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยไปเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ใช้ชื่อย่อหุ้นว่า TLI ซึ่งในปีนั้นถือเป็นหุ้นที่มีมูลค่าหลักทรัพย์สูงสุด อยู่ที่ 183,200 ล้านบาท ทุบสถิติมูลค่าเสนอขายสูงสุดในอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2543

จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 มีแผนเตรียมนำธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เข้าตลาดหุ้นในช่วงปลายปี 2566 โดยใช้ชื่อย่อหุ้นว่า CREDIT โดย “วิญญู ไชยวรรณ” ลูกชายที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศแผนว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ได้ยื่น ไฟลิ่ง ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อจะเสนอขายหุ้นไอพีโอไปแล้ว

จำนวนไม่เกิน 347,029,122 หุ้น รวมทั้งหมดไม่เกิน 28.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของธนาคาร ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายโดยธนาคาร จำนวนไม่เกิน 64,705,890 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 5.3% และ 2.หุ้นสามัญเดิมที่เสนอขายโดย OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. จำนวนไม่เกิน 282,323,232 หุ้น คิดเป็นไม่เกิน 23% โดยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)

ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการระดมทุน 1.เสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินกองทุนของธนาคาร เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการขยายพอร์ตสินเชื่อ 2.ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Security and Infrastructure) และ 3.เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และวัตถุประสงค์อื่น ๆ

นอกจากนี้ได้ยื่นขอกระทรวงการคลังยกฐานะจาก “ธนาคารเพื่อรายย่อย” เป็น “ธนาคารพาณิชย์” เต็มรูปแบบ ซึ่งได้รับการอนุมัติแผนในช่วงเดือนกันยายน 2565 โดยธนาคารมีเวลา 1 ปี เพื่อดำเนินการตามแผนที่เสนอกระทรวงการคลังไว้ อาทิ แผนทดสอบระบบงานและความเสี่ยงต่าง ๆ เงินกองทุน และเกณฑ์การให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ที่จะต้องทำให้เป็นไปตามแผน เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเข้ามาตรวจ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566

“จุดประสงค์การยื่นไอพีโอและยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ เพราะเรามีข้อจำกัด เช่น ลูกค้าเอสเอ็มอีบางรายที่เกินนิยาม เราก็ไม่สามารถบริการได้ ส่วนจะขึ้นอันดับเป็นที่เท่าไรของระบบธนาคาร คงไม่มีผล แต่จะช่วยลดข้อจำกัด และเราถือเป็นการสร้างสถิติ 10 ปี ในการเป็นหุ้นธนาคารที่เข้าตลาดหุ้น” นายวิญญูกล่าว

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” จะพาไปส่องผลการดำเนินงานของธนาคารไทยเครดิตฯ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2563-2565) ว่ามีการเติบโตเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจลงทุน

กำไรโตปีละ 30%

สำหรับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานในช่วงปี 2563-2565 ของธนาคารไทยเครดิตฯ พบว่ามีกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 30.9% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

  • ปี 2563 มีกำไรสุทธิ 1,372 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีกำไรสุทธิ 1,935 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีกำไรสุทธิ 2,352 ล้านบาท

รายได้ดอกเบี้ยปี 2565 แตะหมื่นล้าน

ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในช่วงปี 2563-2565 พบว่าเติบโตปีละ 30-33%

  • ปี 2563 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 8,493 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 11,052 ล้านบาท

เงินให้สินเชื่อลูกหนี้แสนล้าน

ในส่วนเงินให้สินเชื่อลูกหนี้ในช่วงปี 2563-2565 มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) อยู่ที่ 32.7% ต่อปี

– ปี 2563 มีเงินให้สินเชื่อลูกหนี้ 68,456 ล้านบาท
– ปี 2564 มีเงินให้สินเชื่อลูกหนี้ 97,728 ล้านบาท
– ปี 2565 มีเงินให้สินเชื่อลูกหนี้ 121,298 ล้านบาท

โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเติบโตในทุกกลุ่มสินเชื่อหลักของธนาคาร ทั้งสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี สินเชื่อนาโน และไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย และสินเชื่อบ้าน โดยเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของธนาคาร สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์คือ 1.เงินให้สินเชื่อสำหรับสินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี 2.เงินให้สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย 3.สินเชื่อบ้าน 4.สินเชื่อหมุนเวียนส่วนบุคคล และ 5.สินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ

ทั้งนี้สิ้นปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 143,189 ล้านบาท รวมหนี้สิน 128,807 ล้านบาท รวมส่วนของผู้ถือหุ้น 14,381 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ 18.9% มีอัตราผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้น (ROA) ที่ 1.82% และมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ที่ 9.4 เท่า มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 15.2% และอัตราค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income Ratio) ปรับลดลงต่อเนื่องจากเดิมอยู่ 49.9% ในปี 2563 ลดลงมาอยู่ 39.5% ในปี 2565

ผู้ถือหุ้นใหญ่พี่น้องตระกูล “ไชยวรรณ”

โดย 5 อันดับผู้ถือหุ้นใหญ่หลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอ 1.กลุ่ม วี.ซี.สมบัติ ถือหุ้น 735.60 ล้านหุ้น สัดส่วน 59.8% แยกเป็นบริษัท วี เอ็น บี โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 617.23 ล้านหุ้น สัดส่วน 50.2% และบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 118.25 ล้านหุ้น สัดส่วน 9.6%

2.OCA Investment Holdings I Pte. Ltd. (โฮลดิ้งคอมปะนีในสิงคโปร์ โดยมี Olympus Bolt Holdings L.P. เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด) ถือหุ้น 45.26 ล้านหุ้น สัดส่วน 3.7% (ภายใต้สมมุติฐานว่าผู้จัดหาหุ้นส่วนเกินไม่ใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวน) 3.นายวิญญู ไชยวรรณ ถือหุ้น 78.34 ล้านหุ้น สัดส่วน 6.4%

4.นางมิจิตรา กุนารา ถือหุ้น 44.70 ล้านหุ้น สัดส่วน 3.6% และ 5.กลุ่มนายวีรเวท ไชยวรรณ ถือหุ้น 23.60 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.9%

ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ นั่งประธานบอร์ด

ปัจจุบัน คณะผู้บริหาร ประกอบด้วย 1.นายวานิช ไชยวรรณ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมการธนาคาร 2.ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ 3.นายวิญญู ไชยวรรณ ดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการกำกับความเสี่ยง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ 4.นายรอยย์ ออกุสตินัส กุนารา ดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมการกำกับความเสี่ยง และกรรมการผู้จัดการ