ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ก็ล้มละลายได้

พันธบัตรรัฐบาล
คอลัมน์ : คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
ผู้เขียน : พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่ แอคชัวรี)

โดยปกติแล้วธนาคารจะได้รับเงินเข้ามาจากการที่มีลูกค้ามาฝากเงินไว้ ซึ่งเงินที่ฝากจะถือเป็นเจ้าหนี้กับธนาคาร ดังนั้นธนาคารจำเป็นต้องตั้งเป็นหนี้สินสำรองเอาไว้ เพราะมันคือ ภาระที่ธนาคารต้องจ่ายคืนเงินให้ลูกค้าในอนาคต และจะต้องนำเงินที่ได้มาไปลงทุนให้เกิดดอกผลขึ้นมา เพื่อพยุงให้ธนาคารอยู่รอดต่อไป

การลงทุนกับธนาคารสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นการปล่อยกู้สินเชื่อ โดยระยะเวลาการปล่อยกู้สินเชื่อก็มีระยะเวลาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของการปล่อยกู้

หรือถ้าธุรกิจของธนาคารไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อปล่อยสินเชื่อเพียงอย่างเดียว ธนาคารต้องนำเงินที่ได้มานั้นไปลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินแบบอื่นด้วย ซึ่งพันธบัตรรัฐบาลถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อย

เมื่อไม่นานมานี้ ข่าวเรื่องของธนาคารในอเมริกาล้ม ซึ่งธนาคารเองก็ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงน้อย แต่ก็กลับมาพัง เพราะถือพันธบัตรรัฐบาลมากไป และเกิดการขาดทุนจากภาวะของอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ดันไปสอดคล้องกับธุรกิจประกันชีวิตที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ และหนึ่งในตราหนี้ที่บริษัทประกันชีวิตต้องมีไว้คือ พันธบัตรรัฐบาล

ธุรกิจประกันชีวิตถือว่าเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่ง ที่รับเงินเข้ามาจากลูกค้า ซึ่งบริษัทประกันต้องเอาเงินที่ได้มาตั้งเป็นหนี้สินของตัวเอง เผื่อวันที่ลูกค้าเข้ามาขอยกเลิกกรมธรรม์และรับเงินมูลค่าเวนคืนเงินสดกลับไป และอีกส่วนหนึ่งก็ประเมินอนาคตว่าจะต้องจ่ายเงินสดออกไปเท่าไร และต้องจ่ายออกในช่วงไหน

เพื่อคำนวณและตั้งเป็นหนี้สินสำรองออกมา โดยเรียกสิ่งนั้นว่า เงินสำรองกรมธรรม์ประกันภัย และหลังจากที่ได้รับเงินมาแล้ว บริษัทนำเงินมาลงทุนเพื่อให้เกิดดอกผล ซึ่งกลไกเหล่านี้ ดูไม่ต่างกับธนาคารทั่วไปมากนัก ที่รับเงินฝากจากลูกค้ามาแล้วก็นำเงินไปปล่อยกู้หรือลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอื่น ๆ

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต่างกันระหว่างธนาคารกับบริษัทประกันชีวิตคือ “ระยะเวลาของการลงทุนในสินทรัพย์ที่จะได้เงินต้นคืนมาเมื่อครบกำหนดสัญญา” กับ “ระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินก้อนคืนให้ลูกค้าเมื่อครบกำหนดสัญญา”

บริษัทประกันชีวิตมีระยะเวลาของหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์ ซึ่งแตกต่างจากธนาคารที่หนี้สินของธนาคารจะมีระยะเวลาสั้นกว่า ยกตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อพันธบัตรระยะเวลา 5 ปี มันก็จะล็อกอัตราดอกเบี้ย และผลตอบแทนไว้ได้ เมื่อถือจนครบกำหนดสัญญาถึง 5 ปี

แต่ถ้าหนี้สินนั้นมีคนถอนเงินออกมาก่อน ทำให้ต้องขายพันธบัตรฉบับนั้นก่อน จากที่ธนาคารต้องถือให้ครบกำหนดสัญญา ซึ่งราคาของพันธบัตรในตอนนั้นอาจจะไม่ได้มีราคาที่มากนัก

ในกรณีสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นช่วงดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น สามารถวิเคราะห์กลไกของธนาคารได้ดังนี้

1.ตราสารหนี้ระยะยาว จะถูกด้อยมูลค่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในมุมของการลงบัญชีนั้น ถ้าธนาคารตั้งใจที่จะถือให้ครบกำหนดสัญญาแล้ว การถูกด้อยมูลค่าจากอัตราดอกเบี้ยนั้น จะยังไม่ถือว่าเป็นการขาดทุนที่แท้จริง

2.หนี้สิน จะไม่ได้ถูกด้อยมูลค่า หรือได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นเท่าไร

3.เมื่อเกิดกรณีที่คนมาถอนเงินฝาก ทำให้ธนาคารต้องขายตราสารหนี้ที่ตัวเองเคยลงทุนไว้ออกมาก่อนกำหนด ซึ่งทำให้เกิดการขาดทุนจากสินทรัพย์ลงทุนในกรณีที่ดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นได้

โดยสรุปแล้วจะเห็นได้ว่าบริษัทประกันชีวิตจะมีทิศทางการดำเนินงานตรงข้ามกับธนาคาร ตรงที่ระยะเวลาของหนี้สินนั้นมีระยะเวลานานกว่าสินทรัพย์ ทำให้เวลาดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นแล้ว และแม้ว่าสินทรัพย์จะมีมูลค่าลดลง แต่หนี้สินจะถูกด้อยมูลค่าลงไปอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า และทำให้เกิดกำไรขึ้นมาได้