ค่าเงินบาทแกว่งไซด์เวย์ จับตาขยายเพดานหนี้สหรัฐ และ MOU จัดตั้งรัฐบาล

ค่าเงินบาท-ธนบัตร-bank note
ภาพ : REUTERS

ค่าเงินบาทแกว่งไซด์เวย์ จับตาผลการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐ หลังการเจรจาประสบภาวะชะงักงัน และผลลงนาม MOU จัดตั้งรัฐบาลนำโดยพรรคก้าวไกล

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/5) ที่ระดับ 34.27/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/5) ที่ระดับ 34.37/39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หลังนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวในงานเสวนาว่าด้วยนโยบายการเงินที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ในเชิงค่อนข้าง Dovish (Dovish หรือนกพิราบ สื่อถึงนโยบายกรเงินความประนีประนอม ยืดหยุ่น)

โดยเขากล่าวว่าสภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวในปัจจุบันส่งผลให้เฟดอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับที่มากเท่ากับกรณีที่ไม่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เขาได้เน้นย้ำว่าเฟดจะดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวังและตัดสินใจกำหนดนโยบายในการประชุมแต่ละครั้งไป เพื่อพิจารณาว่าอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ณ ขณะนั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อเงินเฟ้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการทำให้เงินเฟ้อลดลงเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา

               

รวมถึงนายนีล แคชคารี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ สาขามินนีแอโพลิส ได้กล่าวสนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงควบคู่ไปกับการบรรเทาความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย แต่นายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานธนาคารกลางงสหรัฐสาขาเซนหลุยส์ กล่าวสนับสนุนการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง เนื่องจากเขาประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงช้ากว่าที่คาด และผลกระทบจากภาวะวิกฤตในภาคธนาคารนั้นถูกให้ความสำคัญมากเกินไป

นอกจากนี้ นักลงทุนยังวิตกเกี่ยวกับปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมา การเจรจาระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรสเกี่ยวกับการเพิ่มเพดานหนี้ประสบภาวะชะงักงัน จากการวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมของฝ่ายรีพับลิกัน เนื่องจากไม่สามารถหาข้อยุติในการเจรจาเรื่องการกำหนดงบฯการใช้จ่ายของรัฐบาล โดยฝ่ายรีพับลิกันต้องการให้รัฐบาลตัดลดงบฯการใช้จ่ายในปีหน้าลง ขณะที่ฝ่ายเดโมแครตไม่พอใจกับแนวทางดังกล่าวเพราะการใช้จ่ายที่ลดลงของภาครัฐอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายของพรรค

ทางด้านนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้เตือนว่า หากไม่มีการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ก็อาจก่อให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดการเงิน เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐจะผิดนัดชะระหนี้อย่างเร็วที่สุดในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุม G7 ที่ประเทศญี่ปุ่นสิ้นสุดลง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเดินทางกลับสหรัฐ และเจรจากับนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐเกี่ยวกับการปรับเพิ่มเพดานหนี้อีกครั้งในคืนวันนี้ (22/5)

Advertisement

ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอยู่ในกรอบระหว่าง 34.27-34.52 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.44/46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรสุทธิกว่า 8,584 ล้านบาท รวมถึงนักลงทุนยังติดตามการแถลงข่าวการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกลร่วมกับอีก 7 พรรคการเมือง ได้เสียงพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาลทั้งหมด 313 เสียง และทุกพรรคจะมีการเซ็น MOU ในช่วงเย็นวันนี้

โดยพรรคก้าวไกลจะผลักดันวาระสำคัญที่แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.วาระร่วมของทุกพรรคร่วรัฐบาล (ถูกระบุใน MOU) คือวาระและนโยบายที่ทุกพรรคเห็นตรงกัน พร้อมผลักดันร่วมกันผ่านกลไกบริหารและนิติบัญญัติ และรับผิดชอบร่วมกัน และ 2.วาระเฉพาะของแต่ละพรรคการเมือง (ไม่ถูกระบุใน MOU) ซึ่งเป็นวาระและนโยบายที่แต่ละพรรคขับเคลื่อนเอง โดยไม่ขัดแย้งซึ่งกันและกัน

นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการอ่อนค่าของเงินหยวนจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาด อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีนได้ประกาศในช่วงวันศุกร์ ว่าจะดูแลเสถียรภาพของค่าเงินหยวน ผ่านการสกัดกั้นการเก็งกำไรในค่าเงินเพื่อไม่ให้เกิดการอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/5) ที่ระดับ 1.0822/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/5) ที่ระดับ 1.0800/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ซึ่งตลาดจับตาการเปิดเผยข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของประเทศในแถบยุโรปที่จะเปิดเผยในวันอังคารนี้ (23/5)

Advertisement

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0794-1.0829 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0819/23 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/5) ที่ระดับ 137.66/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/5) ที่ระดับ 138.06/08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในวันนนี้ สำนักคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่ายอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันสู่ระดับ 3.9% ในเดือนมีนาคม ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7% บ่งชี้ถึงการชะลอตัวของการใช้จ่ายในภาคเอกชนท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.48-138.04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 137.90/93 เยน/ดอลลาร์หรัฐ

ส่วนข้อมูลเศรษฐิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหรัฐ และประเทศในเขตยูโรเดือนพฤษภาคม (23/5), ยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ ในเดือนเมษายน (23/5), ดัชนีราคาผู้ผลิต (CPI) ของสหราชอาณาจักร (24/5), การประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐ (GDP) ไตรมาส 1/2566 (25/5), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (25/5),

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของโตเกียว (Tokyo CPI) (26/5), ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เดือนเมษายน (26/5), และดัชนีวามเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐ ในเดือนพฤษภาคมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (26/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -12.00/-11.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.60/-8.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ