ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่า หลังมีสัญญาณขยายเพดานหนี้

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่า หลังมีสัญญาณขยายเพดานหนี้ ล่าสุดประธานาธิบดีโจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เห็นพ้องกันว่าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันอาทิตย์นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤษภาคม 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/5) ที่ระดับ 34.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (17/5) ที่ระดับ 34.25/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าหลังจากการถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้นยังส่งสัญญาณสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อ โดยนายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก กล่าวว่า เฟดสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกหากเงินเฟ้อยังไม่ปรับตัวลง และเขายังมองไม่เห็นเหตุผลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ทางด้านนางเลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์ได้แถลงว่า เธอสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไป ขณะที่นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตากล่าวว่า เขาคาดว่าเฟดจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้นักลงทุนยังคงติดตามความคืบหน้าในการเจรจาเพดานหนี้ของสหรัฐ โดยรายงานล่าสุดระบุว่า ประธานาธิบดีของสหรัฐ นายโจ ไบเดน และนายเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เห็นพ้องกันว่าทั้งสองฝ่ายจะบรรลุข้อตกลงเพิ่มเพดานหนี้ภายในวันอาทิตย์นี้ (21/5) เพื่อช่วยให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธนาคารและเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนที่ผ่านมา (17/5) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือนเมษายน สู่ระดับ 1.4 ล้านยูนิต สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ จากระดับ 1.37 ล้านยูนิตในเดือนมีนาคม

ขณะที่เฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.9% ในไตรมาส 2/2566 หลังจากขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1 ขณะที่การคาดการณ์ครั้งใหม่ของตัวเลข GDP นั้นจะประกาศในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศนั้นยังจับตาดูการจัดตั้งรัฐบาล

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/5) ที่ระดับ 1.0835/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (17/5) ที่ระดับ 1.0826/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนหลังทางสหรัฐแสดงความมั่นใจว่าการหารือระหว่างนายโจ ไบเดน และประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐนั้นจะสามารถตกลงบรรลุการขยายเพดานหนี้ได้ภายในสัปดาห์นี้ ส่งผลให้นักลงทุนลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ทองคำ และกลับเข้ามาถือสินทรัพย์เสี่ยง (High beta asset) มากขึ้น

อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ของสหภาพยุโรปประจำเดือนเมษายนที่ออกมานั้นยังอยู่ในระดับสูง โดยตัวเลขดังกล่าวออกมาที่ระดับ 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน (Core CPI) ออกมาที่ระดับ 5.6%

โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0836-1.0812 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0812/13 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (18/5) ที่ระดับ 137.36/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (17/5) ที่ 136.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนยังได้รับแรงกดดันหลังกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยยอดส่งออกประจำเดือนเมษายน ซึ่งขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยยอดส่งออกปรับตัวขึ้น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือนมีนาคม ที่มีการขยายตัว 4.3% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะขยายตัว 3.0%

นอกจากนี้ สำหรับยอดนำเข้าในเดือนเมษายนปรับตัวลดลง 2.3% ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.3% และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 27 เดือนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบและสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ปรับตัวลง โดยญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้าในเดือนเมษายนทั้งสิ้น 4.324 แสนล้านเยน (3.20 พันล้านดอลลาร์) ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 6.138 แสนล้านเยน

โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 137.36-137.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 137.81/84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (18/5), ดัชนีการผลิตของฟิลาเดเฟียในเดือนพฤษภาคมของสหรัฐ (18/5), ยอดขายบ้านมือสองเดือนเมษายนของสหรัฐ (18/5), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนเมษายนของสหรัฐ จาก Conference Board (18/5) และถ้อยแถลงของเฟด นายเจอโรม พาวเวลล์ ณ กรุงวอชิงตัน (19/5)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -10.70/-10.40 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -9.50/-7.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ