ศาลล้มละลายกลาง อนุญาต SMK ขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการครั้งสุดท้าย

SMK

SMK แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทขยายเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ถึง 25 มิ.ย.2566 ระบุเป็นการขยายครั้งสุดท้ายตามกฎหมาย

วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 ตามที่บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ SMK แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท เมื่อวันที่ 18 ฤษภาคม 2565 ต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัท ดำเนินการพื้นฟูกิจการ และตั้งบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ทำแผน เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2565

โดยคำสั่งตั้งผู้ทำแผนในราชกิจจานุเบกษาได้ถูกจัดพิมพ์และแจกจ่ายเล่มให้สมาชิกหรือประชาชนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2566 อันเป็นวันเริ่มนับกำหนดระยะเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามกฎหมาย โดยผู้ทำแผนต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ภายในวันที่ 25 เมษายน 2566 นั้น

บริษัทขอแจ้งว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการตามมาตรา 90/43 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติลัมละลาย พ.ศ. 2483 อีกครั้งหนึ่ง โดยขอขยายระยะเวลาส่งแผนออกไปอีกเป็นเวลา 1 เดือนนับแต่วันครบกำหนดเดิม ด้วยเหตุผลและความจำเป็นดังต่อไปนี้

ขณะนี้ ผู้ทำแผนอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อยื่นส่งแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ควบคู่ไปกับการเจรจากับผู้ที่สนใจร่วมทุน ประกอบกับผู้ทำแผนต้องศึกษาเงื่อนไขและรายละเอียดที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะกำหนดรูปแบบการจัดหาแหล่งเงินทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการที่มีความเหมาะสม และอยู่ระหว่างหารือกับที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ปรึกษากฎหมาย

และนักลงทุนที่สนใจหลายราย เพื่อที่จะกำหนดข้อสรุปเกี่ยวกับรูปแบบการปรับโครงสร้างทุน การปรับโครงสร้างหนี้ เงื่อนไข ในการจ่ายชำระหนี้ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนอื่น ๆ ที่สำคัญอีกหลายส่วน

นอกจากนี้ ผู้ทำแผนยังมีความจำเป็นต้องตรวจสอบคำขอรับชำระหนี้ประเภทต่าง ๆ ของเจ้าหนี้ที่ยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาตามกฎหมายรวมทั้งสิ้นกว่า 295,000 คำขอ ประกอบกับต้องจัดทำประมาณการทางการเงิน มูลค่าการชำระหนี้ และการจัดกลุ่มเจ้าหนี้อย่างรอบคอบ

อีกทั้งยังปรากฏว่าปัจจุบันมีผู้ร้องอีกจำนวนมากกว่า 100 รายยื่นคำร้องเป็นคดีสาขาของคดีฟื้นฟูกิจการคดีนี้ต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอรับชำระหนี้ภายหลังจากล่วงพ้นระยะเวลาตามกฎหมาย ทำให้ผู้ทำแผนไม่อาจจัดทำประมาณการทางการเงินได้อย่างชัดเจนและแน่นอนเนื่องจากจำนวนภาระหนี้ของบริษัท ที่ต้องนำมาปรับโครงสร้างหนี้ตามแผนจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น

ซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนเกี่ยวกับยอดหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ ผู้ทำแผนจึงมีความจำเป็นต้องรอคำสั่งศาลเกี่ยวกับคดีสาขาฟื้นฟูกิจการดังกล่าวเพื่อนำข้อมูลไปจัดทำแผนพื้นฟูกิจการต่อไป

ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการฟื้นฟูกิจการของบริษัท เป็นอย่างยิ่ง ภายหลังจากที่ผู้ทำแผนได้รับหลักการที่ได้ข้อสรุปสำหรับจัดเตรียมร่างแผนฟื้นฟูกิจการด้านต่าง ๆ แล้วผู้ทำแผนจำเป็นต้องนำเสนอร่างแผนฟื้นฟูกิจการต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เพื่อพิจารณาและให้ความเห็นในการปรับแก้และเพิ่มเติมร่างแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนต่าง ๆ ให้สมบูรณ์

และครอบคลุมเพื่อให้มั่นใจได้ว่าแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท จะได้รับการยอมรับโดยที่ประชุมเจ้าหนี้และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ศาลจะพิจารณาเห็นชอบด้วยแผนได้ต่อไป

ดังนั้นเหตุผลและความจำเป็นข้างต้นทำให้ผู้ทำแผนจึงขอขยายระยะเวลาส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ออกไปอีก 1 เดือน อันจะเป็นการขยายระยะเวลาครั้งสุดท้ายตามกฎหมาย และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามมาตรา 90/43 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2566


โดยหลังจากนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลาง จะพิจารณามีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผน และบริษัท จะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและจะแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าใด ๆ ในการฟื้นฟูกิจการรวมถึงความคืบหน้าอื่นเพิ่มเติมต่อไป