กรุงศรีฯ ชี้ปัจจัยการเมืองไม่กระทบบริษัทญี่ปุ่นลงทุนในไทย ลุยปล่อยกู้โต 3%

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เผยบริษัทญี่ปุ่น-บรรษัทข้ามชาติสนใจลงทุนในไทยติดท็อป 3 ยันปัจจัยการเมืองไม่กระทบการลงทุน ลุยให้บริการเชื่อมโยงในภูมิภาค หลังครองมาร์เก็ตแชร์ 75% มีฐานลูกค้า 4.3 พันราย หนุนสินเชื่อทั้งปีขยายตัว 3% เจาะเซ็กเตอร์ยานยนต์-ปิโตรเคมี

วันที่ 30 พฤษภาคม 2566 นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ (JPC/MNC Banking) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติในไทยยังคงเห็นการเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการลงทุนในไทยติดอันดับ 1 ใน 3

เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้าน ทั้งในส่วนของทักษะแรงงาน โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม และความสะดวกในการลงทุน จึงคาดว่ายังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาจากบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทข้ามชาติต่อเนื่อง

บุนเซอิ โอคุโบะ
บุนเซอิ โอคุโบะ

ทั้งนี้ ปัจจุบันธนาคารกรุงศรีฯ มีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของบริษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติประมาณ 75% ของบริษัทที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 4,500 บริษัท โดยธนาคารมีฐานลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นราว 3,400 บริษัท และบรรษัทข้ามชาติอีก 300 บริษัท ซึ่งธนาคารยังคงเป็นผู้นำในตลาดนักลงทุนญี่ปุ่น

โดยหากดูการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ พบว่าส่วนใหญ่จะเข้ามาเปิดสำนักงานใหญ่ในไทย เพื่อเชื่อมต่อไปยังตลาดอาเซียน (Asean Link) ซึ่งธนาคารมีเครือข่ายในการให้บริการลูกค้าต่อเนื่อง ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการขยายการลงทุนในอาเซียน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศอินโดนีเซียและอินเดีย อุตสาหกรรมเกษตรในประเทศกัมพูชา และอิเล็กทรอนิกส์ในเวียดนาม ส่วนการลงทุนในเมียนมาอาจจะชะลอตัว เนื่องจากมีความไม่แน่นอนอยู่

สำหรับเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติในปี 2566 ธนาคารตั้งเป้าเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 3% สอดคล้องกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่ 1/2566 สินเชื่อปรับลดลง เนื่องจากราคาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ปรับสูงขึ้น ทำให้ลูกค้าชะลอตัวการตัดสินใจในการขอสินเชื่อเพื่อขยายการลงทุน แต่คาดว่าแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ความต้องการสินเชื่อจะเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้จากการให้บริการลูกค้าจะปรับเพิ่มขึ้นตามการให้บริการทางการเงินที่ครอบคลุม

“ไทยยังเป็นที่สนใจของนักลงทุนญี่ปุ่นและต่างชาติ เพราะมีข้อได้เปรียบหลายประการ ซึ่งมองว่าไม่ว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามาเป็นใคร เชื่อว่าจะสามารถดำเนินนโยบายได้ต่อเนื่อง และไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุน โดยในส่วนของธนาคารกรุงศรีฯ ก็พร้อมให้การสนับสนุนลูกค้าผ่านกลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่ ESG, Start Up และ Asean Link โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ และปิโตรเคมี”

สำหรับบริการ Krungsri ASEAN LINK นับเป็นศูนย์กลางบริการด้านการทำธุรกิจในระดับภูมิภาคอาเซียนผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของกรุงศรี และ MUFG มีความรู้ความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่แตกต่างและหลากหลาย พร้อมนำเสนอโซลูชั่นทางการเงินให้กับลูกค้าแบบ Tailor-made

โดยเริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษา วิเคราะห์ และสนับสนุนข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจเพื่อการควบรวมกิจการและการขยายการลงทุนในต่างประเทศ การพัฒนาและจัดตั้งสำนักงานธุรกิจในระดับภูมิภาค การให้บริการที่ปรึกษาทางกฎหมายและภาษีอากร และการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น

นอกจากนี้ กรุงศรีฯ ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์ในการต่อยอดการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน และร่วมเป็นส่วนช่วยผลักดันสตาร์ตอัพสู่เวทีอาเซียนผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

การสนับสนุนธุรกิจที่ดำเนินการตามกรอบความยั่งยืน (ESG) ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านเครือข่ายพันธมิตร พร้อมต่อยอดความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) และ Zeroboard Inc. สตาร์ตอัพสัญชาติญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญด้านคลาวด์เทคโนโลยีเกี่ยวกับการคำนวณและการแสดงผลลัพธ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจและ Supply chain เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวอย่างเป็นรูปธรรม

การสร้างเครือข่ายและสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจสตาร์ตอัพผ่านความร่วมมือกับพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ Techo Startup Center หน่วยงานภายใต้รัฐบาลกัมพูชาซึ่งส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ตอัพ เพื่อสร้างโอกาสทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับอาเซียน โดยในปีนี้กรุงศรีฯได้ร่วมจัดงาน Japan-ASEAN Start-up Business Matching Fair 2023 ร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น (METI) depa และ Techo ซึ่งเป็นงานจับคู่ธุรกิจ

สำหรับกลุ่มสตาร์ตอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีสตาร์ตอัพเข้าร่วมงานมากกว่า 60 บริษัท จาก 9 ประเทศ และจากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยมีนักลงทุนเข้าร่วมถึง 160 บริษัท จาก 6 ประเทศ นับเป็นการผนึกกำลังภายใต้เครือข่าย MUFG ในการสร้างโอกาสครั้งสำคัญให้กับสตาร์ตอัพ