ธปท.ตอบ 3 คำถาม “สแกนใบหน้า” ทำธุรกรรมการเงิน แบงก์ไหนเริ่มเมื่อไหร่ ไม่อัปเดตข้อมูลผลกระทบเป็นอย่างไร
วันที่ 3 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการ “สแกนใบหน้า” เพื่อยืนยันตัว โดยตอบ 3 คำถามที่ประชาชนสงสัย ดังนี้
คำถาม 1 : ใครต้องสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตนบ้าง
คำตอบ 1 : เฉพาะคนที่ทำธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่น Mobile banking ตามเงื่อนไขดังนี้
1. โอนเงิน ตั้งแต่ 50,000 บาทต่อครั้งขึ้นไป หรือ โอนเงินรวมตั้งแต่ 200,000 บาทต่อวันขึ้นไป
2.ปรับเพิ่มวงเงินการทำธุรกรรมต่อวัน ตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป
ซึ่งหากในอนาคต ต้องโอนเงินจำนวนมากแบบนี้ ก็ไปจัดเก็บข้อมูลใบหน้าเตรียมพร้อมไว้ก่อน
คำถาม 2 : รู้ได้อย่างไรว่าเรามีข้อมูลใบหน้า ที่ธนาคารหรือยัง ?
คำตอบ 2 : ตรวจสอบได้ด้วยตนเองผ่านแอป Mobile banking ของธนาคารที่ใช้บริการ (ข้อมูล ณ 30 พ.ค.2566)
- แบงก์ที่เช็กผ่านแอปได้แล้ว ประกอบด้วย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารทีทีบี, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ ธนาคารออมสิน
- แบงก์ที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแอป ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย, ธนาคารทิสโก้ และ ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (L H BANK)
ทั้งนี้ ถ้ายังไม่มีข้อมูลใบหน้าในระบบ สามารถไปอัปเดตได้ที่สาขาธนาคาร หรือสอบถามเพิ่มเติมที่คอลเซ็นเตอร์ของธนาคารที่ใช้บริการ
อย่างไรก็ดี ธนาคารบางแห่งมีการแจ้งเตือนไปยังลูกค้าที่ยังไม่มีข้อมูลใบหน้าผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Mobile banking และ อีเมล เป็นต้น
คำถาม 3 : เริ่มใช้เมื่อไหร่ และ ถ้าไปอัปเดตข้อมูลไม่ทันจะมีผลกระทบอย่างไร
คำตอบ 3 : ธนาคารส่วนใหญ่จะเริ่มใช้เงื่อนไขการสแกนใบหน้า ตั้งแต่ 1 ก.ค.2566 เป็นต้นไป
- ไม่มีผลกระทบ ถ้าไม่ได้ทำธุรกรรมผ่านแอป Mobile banking เกินกว่าเงื่อนไขที่กำหนดไว้
- แต่หากเข้าข่ายต้องทำธุรกรรมดังกล่าว ยังสามารถทำได้ผ่านช่องทางอื่นของธนาคาร เช่น Intetnet banking สาขา หรือ ATM
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแบงก์ที่ประกาศเริ่มใช้การ “สแกนใบหน้า” ทำธุรกรรมตามเงื่อนไขดังกล่าวแล้ว ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพที่แจ้งว่า จะเริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค., ธนาคารออมสิน ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2566 และ ธ.ก.ส. ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2566