ดอลลาร์แข็งค่า ตามทิศทางบอนด์ยีลด์ จับตาเงินเฟ้อ-ประชุมเฟด

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าตามทิศทางบอนด์ยีลด์ จับตาเงินเฟ้อ-ประชุมเฟด 13-14 มิถุนายนนี้ ขณะที่ตลาดคาดเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมครั้งนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 7 มิถุนายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/6) ที่ระดับ 34.71/73 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (6/6) ที่ระดับ 34.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุล ในตะกร้าเงิน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.12% แตะที่ระดับ 104.13 ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก

โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวขึ้น โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา (6/6) อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.72% และอัตรผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 30 ปี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.90%

ขณะที่นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐ ได้แก่ ดัชนีราคผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพฤษภาคมในวันอังคารที่ 13 มิถุนายน และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ประจำเดือนพฤษภาคมในวันพุธที่ 14 มิถุนายน โดยดัชนี CPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค และดัชนี PPI เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้ผลิต

และนักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 13-14 มิถุนายนนี้ ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมครั้งนี้

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 75.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% และให้น้ำหนักเพียง 24.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผย ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ลดลงสู่ระดับ 2.4% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.7% โดยระบุว่าเศรษฐกิจโลกยังคงได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวด และวิกฤตการณ์ในภาคธนาคาร

ขณะเดียวกันธนาคารโลกได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 สู่ระดับ 2.1% จาดรัเบ 1.7% แต่ตัวเลขดังกล่าวยังต่ำกว่าการขยายตัวในปี 2565 ที่ระดับ 3.1%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดภาวะการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ยังคงปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรกปรับตัวลง 5-6% แต่ช่วงครึ่งปีหลังยังคงเห็นโอกาสในวิกฤตที่จะเร่งขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวมากขึ้น เพื่อให้ภาพรวมการส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 0-1%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.69-34.81 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.78/79 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/6) ที่ระดับ 1.0703/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (6/6) ที่ระดับ 1.0688/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แม้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่า ยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง 0.4% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน สวนทางนักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับตัวขึ้น 3.0%

และยอดค้าปลีกเดือนเมษายนของยูโรโซนออกมาไม่เปลี่ยนแปลงในเดือนเมษายน เนื่องจากผู้บริโภคใช้จ่ายน้อยลงในด้านอาหารและเชื้อเพลิงรถยนต์ส่งผลให้ผลสำรวจล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยเมื่อวานนี้ (6/6) ว่า ผู้บริโภคในยูโรโซนได้ลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงในเดือนเมษายน ซึ่งนับเป็นสัญญาณผ่อนคลายสำหรับผู้กำหนดนโยบาย หลังคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสูงขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคม

อย่างไรก็ดีประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ประธานธนาคารเยอรมนี หรือ บุนเดสแบงก์ (Bundesbank) ได้กล่าวย้ำการคาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0666-1.0704 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0695/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/6) ที่ระดับ 139.39/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (6/6) ที่ 139.34/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยสำนักข่าว CNBC รายงานว่า การอ่อนค่าของเงินเยนครั้งใหม่ทำให้ตลาดบางส่วนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะใช้มาตรการ open market operation (omo) มากขึ้น เนื่องจาก BOJ ยังคงใช้นโยบายการเงินแบบพิเศษโดยคงอัตราดอกเบี้ยที่ -0.1% ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูง

โดยปีที่แล้ว กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงด้วยเงินประมาณ 68,000 ล้านดอลลาร์เพื่อประคับประคองค่าเงินเยนใน 3 วัน ได้แก่ วันที่ 22 กันยายน 21 ตุลาคม และ 24 ตุลาคม โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 139.11-139.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 139.31/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนเมษายนของสหรัฐ (7/6), ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายนของเยอรมนี (7/6), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือนพฤษภาคมของจีน (7/6) และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (8/6)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11/-10.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10/-8.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ