ทำความรู้จัก IC Bond ตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทประกันภัย

การเงิน ตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ กราฟ เศรษฐกิจ
บทความโดย : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)

 IC Bond : ตราสารหนี้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของบริษัทประกันภัย

ปัญหาของธนาคาร Credit Suisse ในช่วงที่ผ่านมาจนนำไปสู่การตัดมูลค่าของตราสารหนี้ AT1 ลงเหลือศูนย์น่าจะทำให้ผู้ลงทุนได้รู้จักตราสารหนี้ Basel III ทั้งประเภท AT1 และ Tier 2 กันมากขึ้น ซึ่งนอกจากธนาคารพาณิชย์แล้ว ยังมีบริษัทประกันภัยที่สามารถออกตราสารหนี้ในลักษณะเดียวกันนี้ได้ ซึ่งตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทประกันภัยเพื่อนำเงินไปใช้เป็นเงินกองทุนของตนเองจะเรียกว่า ตราสารหนี้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของบริษัทประกันภัย (Insurance Capital Bond) หรือ IC Bond

โดย IC Bond มี 2 ประเภทตามชั้นของเงินกองทุน คือ

  • IC Bond tier I หรือตราสารหนี้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยชั้นที่ 1
  • IC Bond tier II หรือตราสารหนี้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยชั้นที่ 2 (IC Bond tier II) ซึ่งคล้ายกับหุ้นกู้ Basel III ที่แบ่งเป็นประเภท AT1 และ Tier 2

IC Bond tier I

ตราสารหนี้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยชั้นที่ 1 เป็นตราสารด้อยสิทธิ ที่ไม่มีอายุหรือไม่มีกำหนดวันไถ่ถอน ที่บริษัทประกันภัยผู้ออกตราสารจะมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดเมื่อครบอายุ 5 ปี เมื่อได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยตราสารหนี้ประเภทนี้สามารถถูกลดมูลค่า (ทั้งหมดหรือบางส่วน) หรือแปลงเป็นหุ้นสามัญ (ทั้งจำนวนแทนการได้รับเงินต้นคืน) ได้ทันทีเมื่อเงินกองทุน (CET1 ratio) ของบริษัทประกันภัยต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่ต้องรอให้ทางการตัดสินใจเข้าให้ความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยยังสามารถยกเว้นการจ่ายดอกเบี้ยเมื่อใดก็ได้และไม่ต้องสะสมดอกเบี้ยไปสมทบจ่ายในครั้งถัดไป โดยในกรณีที่บริษัทประกันภัยล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ลงทุนจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้คืนเป็นลำดับที่ 4 ภายหลังจากเจ้าหนี้มีประกัน ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย เจ้าหนี้ ไม่ด้อยสิทธิ และผู้ถือ IC Bond tier II

IC Bond tier II

ตราสารหนี้เพื่อนับเป็นเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยชั้นที่ 2 เป็นตราสารด้อยสิทธิที่มีกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 10 ปี โดยผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดเมื่อครบปีที่ 5 และเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยได้โดยจะสะสมดอกเบี้ยจ่ายไปชำระในวันใดก็ได้ สำหรับการถูกลดมูลค่าหรือแปลงเป็นหุ้นสามัญของ IC Bond tier II จะเกิดขึ้นเมื่อบริษัทประกันภัยประสบปัญหาทางการเงินที่ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้จนทางการตัดสินใจเข้าให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ในกรณีที่บริษัทประกันภัยล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ลงทุนจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้คืนเป็นลำดับที่ 3 หลังเจ้าหนี้มีประกัน ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย และเจ้าหนี้ไม่ด้อยสิทธิ แต่จะมีลำดับก่อนหน้าผู้ถือ IC Bond tier I

สำนักงาน กลต. ได้มีการอนุญาตให้บริษัทประกันภัยสามารถออก IC Bond เพื่อนับเป็นเงินกองทุนได้ตั้งแต่ปี 2564 โดยจนถึงปัจจุบันมีการออก IC Bond tier II แล้ว 2 รุ่น โดยบริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือบริษัท แรบบิท ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)) มูลค่า 100 ล้านบาท ที่เป็นการเสนอขายในประเทศให้แก่ผู้ลงทุนวงแคบไม่เกิน 10 ราย (PP10) เมื่อปลายเดือน ม.ค. ปี 2564 และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ที่ได้เสนอขายให้แก่นักลงทุนในต่างประเทศไปเมื่อเดือน พ.ย. 2564 ด้วยมูลค่าการออกที่ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันบริษัทประกันภัยของไทยมีฐานะเงินกองทุนค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมีระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงไว้ตามกฎหมาย ณ ไตรมาส 1/2566 สูงถึงร้อยละ 329 ในธุรกิจประกันชีวิต และร้อยละ 180 ในธุรกิจประกันวินาศภัยเทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของ คปภ. ที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 140 ดังนั้น บริษัทประกันภัยของไทยจึงอาจจะยังไม่มีความต้องการที่จะออก IC Bond

ทั้งนี้ การมีหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติการออกที่ชัดเจนย่อมเป็นประโยชน์แก่บริษัทประกันภัยที่จะมีทางเลือกในการระดมทุนเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินของตนเอง ในด้านผู้ลงทุนก็ได้มีตัวเลือกในการลงทุนมากขึ้นซึ่งให้ผลตอบแทนสูงด้วย แต่ความเสี่ยงก็สูงขึ้นเช่นกันโดยผู้ลงทุนมีโอกาสที่จะได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยเพียงบางส่วนหรือไม่ได้รับชำระหนี้เลย นอกจากนี้สภาพคล่องในตลาดรองก็น่าจะจำกัดกว่าตราสารหนี้ปกติ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า IC Bond จะสามารถเสนอขายได้กับผู้ลงทุนทุกประเภทแต่อาจไม่ได้เหมาะสำหรับ ผู้ลงทุนทั่วไป สำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง ก็อาจเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจ