สมาคม บลจ. ลั่นเอาผิดตามกฎหมาย กรณี STARK หากพบตกแต่งบัญชี

STARK

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) ย้ำองค์กรทำงานเต็มที่ภายใต้เกณฑ์กำกับดูแลของ ก.ล.ต. มองกรณี STARK เหนือการควบคุม ชี้เป็นบทเรียนให้ตลาดทุนทำงานร่วมกันมากขึ้น ลุ้น STARK เปิดงบการเงิน 16 มิ.ย.นี้ หากพบมีการตกแต่งบัญชี จ่อดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามกฏหมาย

วันที่ 8 มิถุนายน 2566 นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กล่าวในฐานะตัวแทนบริษัทจัดการลงทุนในประเทศไทยว่า ที่ผ่านมาได้มีการทำงานอย่างเต็มที่และถูกต้องภายใต้กฏเกณฑ์การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการดำเนินการคัดเลือกหุ้นที่จะเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นงบการเงินหรือผลประกอบการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีการดำเนินการมาแล้วกว่า 3 ปี และมีการทำงานที่ดี และเห็นการเติบโตมาโดยตลอดและมีการตรวจสอบอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตามจากกรณีที่เกิดขึ้น ทาง บลจ.ไม่เคยนิ่งนอนใจ ได้มีการติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิดและมีการ Take Action ตามบทบาทและสิ่งที่ควรจะต้องทำอย่างดีที่สุด ทั้งนี้อยากให้นักลงทุนมั่นใจในกระบวนการลงทุนที่มีความเป็นมืออาชีพ รัดกุม โปร่งใส ยึดมั่นในความรับผิดชอบต่อผู้ถือหน่วยลงทุน

โดยบริษัทจัดการลงทุนมีกระบวนการลงทุนที่มีมาตรฐาน มีความเป็นมืออาชีพในการกลั่นกรองข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยต่อสาธารณะทั้งตามที่ปรากฏในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและแหล่งอื่น ๆ มีการวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินที่ผ่านการสอบทานจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต ข้อมูลอันดับเครดิตของหุ้นกู้ที่ผ่านการจัดอันดับเครดิตโดยสถาบันจัดอันดับเครดิตที่ได้รับอนุญาต บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ และการเข้าร่วมประชุมสามัญและวิสามัญของบริษัทจดทะเบียนเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนและการบริหารพอร์ตลงทุนของกองทุนรวม โดยมีคณะกรรมการจัดการลงทุน (Investment Committee) เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์และกรอบการลงทุนซึ่งมีนโยบายหลักเกณฑ์ที่สำคัญคือการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน รวมถึงมีคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารความเสี่ยงคอยควบคุมดูแลและตรวจสอบ

อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมให้ความสำคัญในเรื่องความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจที่ได้รับจากผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นหลัก มีการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอย่างมีความรับผิดชอบ อาทิ ทุก บลจ. รวมตัวกันจัดตั้งคณะอนุกรรมการนโยบาย ESG Policy and Collective Action ร่วมกันผลักดันให้บริษัทจดทะเบียนไทยให้ความสำคัญและปฏิบัติตามแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance) และความยั่งยืน การปฏิบัติตามนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน (I-code Policy) และมีความร่วมมือกันของสมาชิกบริษัทจัดการลงทุนเข้าร่วมการจัดทำ Negative List เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้จัดการกองทุนใช้กลั่นกรองบริษัทจดทะเบียน

กองทุนรวมจะมีการกระจายการลงทุนไปในหลักทรัพย์หรือตราสารหนี้หลาย ๆ ตัวเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ในกระบวนการลงทุน ผู้จัดการกองทุนจะวิเคราะห์ ประเมิน คัดเลือก และติดตามตรวจสอบการลงทุนในแต่ละหลักทรัพย์เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ มีการปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัจจัยการลงทุนต่าง ๆ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และภาวะการณ์ที่มาจากหลักทรัพย์นั้น ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการลงทุนตามปกติ

ซึ่งในกรณีการลงทุนใน STARK ก็มีกระบวนการทำงานในลักษณะเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์นอกเหนือจากความสามารถในการควบคุมของผู้จัดการกองทุน อาทิ การยกเลิกแผนการลงทุน การส่งงบการเงินล่าช้า การให้ความเห็นและข้อสังเกตของผู้สอบบัญชีในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นต้น ผู้จัดการกองทุนจะปรับสัดส่วนการลงทุนตามจังหวะที่เหมาะสม

“ในระดับสมาคม บลจ.มีการรวมตัวกันทำงานร่วมกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น ติดตามการทำงานของบริษัท ได้มีการส่งหนังสือขอเข้าพบประธานกรรมการ/ผู้บริหารของ STARK ซึ่งเป็นกระบวนการปกติที่ บลจ. ร่วมกันทำในรูปแบบ collective action เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนอื่น ๆ อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอ STARK ประกาศงบในวันที่ 16 มิถุนายน 2566 นี้ตามไทม์ไลน์ที่เปิดเผย ซึ่งทางสมาคมอาจจะต้องมีความพูดคุยเพิ่มเติม ในการดำเนินการในส่วนอื่น ๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามหากพบว่าบริษัทมีการตกแต่งบัญชี สมาคมฯจะสามารถดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตามกฏหมายต่อไป” นางชวินดากล่าว

ทั้งนี้ สำหรับมุมมองของตลาดหุ้นไทย ยังคงมีความเชื่อว่า จากหุ้นไทยที่มีอยู่ในตลาด 800 ตัว ยังมีหุ้นที่ดีที่น่าสนใจให้ลงทุนอยู่ ทั้งในส่วนของหุ้นไทยและกองทุนหุ้นไทย นอกจากนี้ยังมีนโยบายเรื่องของ ESG ที่กำลังพิจารณาเข้ามาเพิ่มในการคัดเลือกหุ้นมากขึ้น

นายกสมาคมกล่าวทิ้งท้ายว่า กรณีที่เกิดขึ้นนับเป็นบทเรียนที่ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมและต้องมีการพูดคุยร่วมกันมากขึ้น โดย AIMC ก็ได้มีการพูดคุยกับตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึง สำนักงาน ก.ล.ต.ในการปรับปรุงพัฒนาระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้ดีขึ้น

ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจวิเคราะห์หลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ กล่าวว่า ในการวิเคราะห์และให้คำแนะนำของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงิน นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ก็เป็นการปฏิบัติงานโดยอาศัยข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะและข้อมูลที่ได้รับจากบริษัทเป็นหลัก

แต่ละ บล. ให้ความสำคัญกับมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณในการปฏิบัติงาน กรณีที่เกิดขึ้นกับ STARK เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังกระบวนการวิเคราะห์ต่าง ๆ ข้างต้น ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการควบคุม