
ย้อนอดีต STARK เริ่มต้นจากบริษัทผลิตสื่อ SMM แปลงร่างเป็นบริษัทผู้ประกอบธุรกิจสายไฟฟ้ารายใหญ่ กระทั่งไม่ส่งงบฯ การเงิน-โละบอร์ดยกชุด-หุ้นกู้เสี่ยงผิดนัด
วันที่ 7 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ทุกสายตากำลังจับตาการแก้ปัญหาของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ว่าจะมีบทสรุปอย่างไร หลังจากบริษัทไม่ส่งงบฯ การเงินประจำปี 2565 และมีสัญญาณจะผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ทั้ง 5 รุ่น มูลค่าหนี้คงค้างรวม 9,198.4 ล้านบาท
- ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตรวจผลรางวัล งวด 16 พ.ย. 2566
- สถิติหวย ตรวจหวย ผลสลากกินแบ่งรัฐบาล งวด 16 พ.ย. ย้อนหลัง 10 ปี
- ถ่ายทอดสดหวย ตรวจผลรางวัล ผลสลากกินแบ่งรัฐบาลวันนี้ (16 พ.ย. 66)
ขณะเดียวกันยังมีการตรวจพบร่องรอยการ “ทุจริต” ภายในองค์กร จนบริษัทต้องเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญซาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมาย
หลายคนสงสัย STARK มีที่มาอย่างไร ทำไมจึงมาถึงจุดนี้ได้ ?
จาก SMM บริษัทผลิตสื่อก่อนมาเป็น STARK
โดยจากข้อมูลที่บริษัทเคยยื่นกับทางสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สรุปได้ ดังนี้
STARK เดิมชื่อ บริษัท สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ SMM ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2533
โดย SMM เคยประกอบกิจการการผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือและสิ่งตีพิมพ์อื่น ๆ การผลิตรายการทางโทรทัศน์และวิทยุ การจำหน่ายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์และลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดผ่านดาวเทียมและธุรกิจสิ่งพิมพ์อื่น ๆ
ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 SMM ได้เข้าทำสัญญาโอนกิจการทั้งหมด โดยการให้บริษัท ทีม เอ โฮลดิ้ง 2 จำกัด (TAH2) โอนหุ้นที่ TAH2 ถืออยู่ในบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ PDITL และบริษัท พีดีทีแอล เทรดดิ้ง จำกัด (PDTL trading) และโอนหนี้สินของ PDITL ให้แก่ SMM โดย SMM ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงิน จำนวน 13,000 ล้านบาท โดยการชำระเป็นหุ้นมูลค่าเท่ากับ 95.6% ของสัดส่วนความเป็นเจ้าของใน SMM
ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมของ TAH2 คือ “นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” ซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมของ STARK และเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2562 STARK จำหน่ายธุรกิจสื่อออกไปทั้งหมด
เทกโอเวอร์กิจการ PDITL ผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่
ย้อนไปดูที่มาที่ไปของ PDITL พบว่าก่อตั้งขึ้นในปี 2511 โดยเป็นกิจการร่วมค้าระหว่างผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศไทย และ Phelps Dodge Corporation ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจเหมืองแร่ทองแดงรายใหญ่ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2377
ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 TAH2 ได้เข้าซื้อ PDITL ส่งผลให้ TAH2 มีสัดส่วนการถือหุ้นใน PDITL คิดเป็น 75.5% และได้เปลี่ยนคณะกรรมการบริษัท PDITL เป็นสัญชาติไทย อย่างไรก็ตาม PDITL ได้รักษาบุคลากรส่วนใหญ่ ซึ่งมีผลงาน ประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญในธุรกิจสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลเอาไว้
ต่อมาในปี 2562 TAH2 ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน PDITL เป็น 99.3% และ STARK ได้เข้าซื้อกิจการทั้งหมดของ PDITL ในปีดังกล่าว
เมื่อเดือนธันวาคม 2562 STARK ได้เช้าซื้อกิจการทั้งหมดของ ADS ซึ่งประกอบธุรกิจการให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล ให้บริการวิศวกรรม และให้บริการให้เช่าแก่ลูกค้าในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ
โดย STARK เชื่อว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าของ ADS เพื่อเสนอผลิตภัณฑ์สายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลต่อกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมดังกล่าวได้
ขยายธุรกิจสู่ประเทศเวียดนาม
ต่อมาในเดือนมีนาคม 2563 STARK ได้เข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของ Thipha Cables แล: Dovina ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลในประเทศเวียดนาม ขยายธุรกิจสู่ประเทศเวียดนาม
ต่อมาในเดือนเมษายน 2563 PDITL ได้ดำเนินการเข้าลงทุนใน TCI ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตสายไฟฟ้าและสายเคเบิ้ลขนาดเล็ก ผ่านการซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท เอ็น เอ็ม เอ็น โฮลดิ้ง 2 จำกัด (NMN2) ส่งผลให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าและเคเบิ้ลให้ครอบคลุมในผลิตภัณฑ์ที่สำคัญตั้งแต่สายไฟฟ้าและสายเคเบิลขนาดเล็ก จนถึงขนาดใหญ่พิเศษ
คู่สัญญา “เชฟรอน-ปตท.สผ.”
ในวันที่ 14 เมษายน 2563 ADS ได้เข้าทำสัญญาให้บริการด้านทรัพยากรบุคคล (Manpower Services) และบริการด้านวิศวกรรม (Engineering Services) ให้กับกลุ่มบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และกลุ่มบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยมูลค่ารวมของสัญญาทั้งหมดประมาณ 4,330 ล้านบาท
ลงทุนใน TENCOM ธุรกิจพลังงานดิจิทัล
ขณะที่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 6/2564 มีมติอนุมัติให้บริษัทเข้าลงทุนในบริษัท ไทย เอ็นคอม จำกัด (TENCOM) ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานดิจิทัล ร่วมกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) โดยใช้กระแสเงินสดภายในบริษัท เพื่อขยายธุรกิจของบริษัท ส่งผลให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจที่เกี่ยวกับพลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน และระบบการดูแลจัดการต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมพลังงานโดยเฉพาะธุรกิจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมการบริษัทมีมติให้เข้าลงทุนใน บริษัท สตาร์ค ดิจิตอล จำกัด (STARK DIGITAL) โดยบริษัทเข้าถือหุ้นทั้งหมด 99.98% เพื่อขยายธุรกิจของบริษัท
ทุ่มกว่า 2 หมื่นล้นา ขยายลงทุนเยอรมนี
จากนั้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 4/2565 มีมติเห็นชอบให้ซื้อหุ้นในและสิทธิเรียกร้อง ทางการเงินระหว่างบริษัทในเครือของ LEONI Kabel GmbH (LEONI Kabel) ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมนี และ LEONIsche Holding Inc (LEONIsche) ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายของรัฐเดลาแวร์ในสัดส่วน 100% ของหุ้นสามัญทั้งหมด โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 560 ล้านยูโร
และเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/65 ของบริษัทมีมติอนุมัติการซื้อหุ้นใน LEONI Kabel GmbH และ LEONIsche Holding Inc ผู้ผลิตสายไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ และ EV charging solutions อันดับ 1 ของโลกสัญชาติเยอรมัน ในสัดส่วน 100% มูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 560 ล้านยูโร (หรือประมาณไม่เกิน 20,572.89 ล้านบาท)
ปรับโครงสร้างบริษัท-ซึอีโอใหม่ลาออกหลังได้รับแต่งตั้งไม่กี่วัน
ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2566 คณะกรรมการบริษัท มีมติอนุมัติให้บริษัทแต่งตั้งและเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของบริษัท รวมถึงโครงสร้างองค์กรของบริษัท โดยแต่งตั้งนายประกรณ์ เมฆจำเริญ ดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ และ แต่งตั้งนายมงคล ตั้งใจพิทักษ์ ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทนนายประกรณ์ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566
ต่อมานายมงคล ยื่นหนังสือแจ้งขอลาออกอย่างกะทันหัน ด้วยเหตุผลส่วนตัว บริษัทจึงแต่งตั้งให้นายประกรณ์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารอีกครั้ง มีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566
สัญญาณเริ่มไม่ดี-ส่งงบฯ ปี’65 ล่าช้า
จากนั้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 STARK ชี้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯว่า มีความจำเป็นต้องนำส่งงบการเงินรวมและงบการเงินเฉพาะกิจการ ปี 2565 ล่าช้ากว่าที่กฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ เนื่องจากข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินงานของบริษัทและการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวได้ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้นเครื่องหมาย SP
และในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้น STARK กรณีไม่ส่งงบการเงินสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ภายในระยะเวลาที่กำหนด
เปลี่ยนซีอีโอใหม่อีก-เลื่อนส่งงบฯ
ถัดมาช่วงวันที่ 31 มีนาคม 2566 มติบอร์ด STARK อนุมัติแต่งตั้ง นายวรุณ อัตถากร ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทน นายประกรณ์ เมฆจำเริญ และมีมติให้แต่งตั้ง นายกิตติพัฒน์ อินทรเกษตร ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (CFO) แทน นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ และมีมติให้แต่งตั้ง นางสาวพาณิภัค วงษ์เสาวศุภ ดำรงตำแหน่ง รักษาการเลขานุการบริษัท แทน นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ ซึ่งให้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป โดยนายประกรณ์ เมฆจำเริญ ยังคงดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อไป
ต่อมา STARK แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯอีกครั้งว่า บริษัทส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้ากว่าที่ได้คาดไว้ก่อนหน้านี้ (ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2566) อ้างว่าเนื่องจากข้อมูลบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินงานของบริษัท และการตรวจสอบของผู้สอบบัญชี โดยบริษัทคาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวได้ภายในวันที่ 21 เมษายน 2566
อาการหนัก-บอร์ดลาออกยกชุด
ถัดมาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2566 บริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ และกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของบริษัท ของนายชินวัฒน์ อัศวโภคี ซึ่งระบุว่ามีข้อจำกัดด้านสุขภาพ โดยให้การลาออกมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2566
และเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 ทาง STARK ได้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ และผู้บริหารของบริษัทใหม่ยกชุด สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 18-19 เมษายน 2566 บริษัทได้รับหนังสือแจ้งความประสงค์ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการและกรรมการชุดย่อยของบริษัทจากกรรมการทั้งสิ้น 7 ราย อ้างว่า “ติดภารกิจส่วนตัว” ประกอบด้วย
- นายชนินทร์ เย็นสุดใจ ประธานกรรมการ
- นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ กรรมการ
- นายกุศล สังขนันท์ กรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบ/ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
- นายประกรณ์ เมฆจำเริญ กรรมการผู้จัดการใหญ่/กรรมการ
- นายนิรุทธ เจียกวธัญญ กรรมการ
- นายทรงภพ พลจันทร์ กรรมการอิสระ/ประธานกรรมการตรวจสอบ
- นายนิติ จึงนิจนิรันดร กรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบ/กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่กรรมการของบริษัทได้อย่างเต็มความสามารถ
ซึ่งที่ประชุมบอร์ด มีมติรับทราบการลาออกดังกล่าว และแต่งตั้งกรรมการเข้าใหม่แทนที่กรรมการที่ลาออก ประกอบด้วย
- พันตำรวจโทปกรณ์ สุชีวกุล ประธานกรรมการบริษัท/กรรมการอิสระ
- นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ กรรมการ/กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
- นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต กรรมการ/กรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
- นายเสนธิป ศรีไพพรรณ กรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบ/ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
- นายสุวัฒน์ เชวงโชติ กรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบ
- นายนพดล ธีระบุตรวงศ์กุล กรรมการอิสระ/ประธานกรรมการตรวจสอบ
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดได้มีมติอนุมัติเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนอำนาจกรรมการและผู้บริหาร โดยให้ นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ และนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต ลงลายมือชื่อร่วมกัน และประทับตราสำคัญของบริษัท
“วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” รักษาการซีอีโอ
พร้อมกันนั้น ยังได้แต่งตั้ง นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ เข้าดำรงตำแหน่งรักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท แทนนายวรุณ อัตถากร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 และแต่งตั้ง นายอภิชาติ ตั้งเอกจิต เข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงินของบริษัท แทนนายกิตติพัฒน์ อินทรเกษตร โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 เช่นเดียวกัน
และยกเลิกตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในบริหารจัดการบริษัท และเพื่อลดความซับซ้อนในโครงสร้างของทีมบริหารของบริษัท และแต่งตั้งนายวิฑูร สุริยารังสรรค์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชีของบริษัท แทน นายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ แต่งตั้งนายอภิชาติ ตั้งเอกจิต เข้าดำรงตำแหน่งรักษาการเลขานุการของบริษัท แทนนางสาวพาณิภัค วงษ์เสาวศุภ
เลื่อนส่งงบฯ ปี’65 อีกรอบ-ทริสหั่นเรตติ้งเหลือ “BB-“
และต่อมาได้ชี้แจงการส่งงบฯ การเงินปี 2565 ล่าช้ากว่าที่ได้คาดไว้ก่อนหน้านี้ (ภายในวันที่ 21 เมษายน 2566) โดยให้เหตุผลว่าคณะกรรมการและผู้บริหารชุดใหม่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นไปอย่างเรียบร้อยมีประสิทธิภาพ
และด้วยความโปร่งใส ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะสามารถนำส่งงบการเงินดังกล่าวได้ภายในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566
ต่อมา วันที่ 22 เมษายน 2566 ทริสเรทติ้ง ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ลงสู่ระดับ “BB-” จาก “BBB+” ในขณะที่ยังคง “เครดิตพินิจ” (outlook) แนวโน้ม “Negative” หรือ “ลบ” เช่นเดิม
แบงก์เจ้าหนี้ “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย” ตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ
ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ 2 แห่งได้ดำเนินการตั้งสำรองหนี้สงสัญจะสูญจากกรณี STARK ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย
จากนั้นวันที่ 24-25 เมษายน 2566 กรรมการที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งขอลาออกอีก 3 ราย ประกอบด้วย
1.นายนพดล ธีระบุตรวงศ์กุล กรรมการอิสระ/ประธานกรรมการตรวจสอบ
2.นายสุวัฒน์ เชวงโชติ กรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบ
3.นายเสนธิป ศรีไพพรรณ กรรมการอิสระ/กรรมการตรวจสอบ/ประธานกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทน
ซึ่งคณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้งกรรมการใหม่เข้ามา 2 ราย ได้แก่
1.นายอภิวุฒิ ทองคำ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และประธานกรรมการตรวจสอบ
2.นายอรรถพล วัชระไพโรจน์ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสระ และกรรมการตรวจสอบ
ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2566 เป็นต้นไป
หุ้นกู้ 5 ชุด เสี่ยงผิดนัดกว่า 9 พันล้าน
ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK จำนวน 5 ชุด มูลค่ารวม 9,198.4 ล้านบาท มีมติยกเว้นเหตุผิดนัดอันเกิดจากการที่ผู้ออกหุ้นกู้ส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด
ไม่ชอบมาพากล-ก.ล.ต.สั่งจัดทำ special audit
ขณะที่ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า ได้สั่งการให้ STARK ชี้แจงข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการดำเนินการต่าง ๆ รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เกี่ยวกับการขาย ลูกหนี้ รายการบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้อง และการรับโอนเงินของกลุ่มบริษัทโดยให้นำส่งคำชี้แจงภายใน 7 วัน และนำส่งผลการตรวจสอบเพิ่มเติมภายใน 30 วัน พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วย
ตลาดหลักทรัพย์ฯ แขวนเครื่องหมาย C
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ได้ขึ้นเครื่องหมาย C หลักทรัพย์ STARK ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เหตุผลจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งให้บริษัทจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เกี่ยวกับการขาย ลูกหนี้ รายการบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้อง และการรับโอนเงินของกลุ่มบริษัท
หุ้นกู้ 2 รุ่น ไม่ยกเว้นเหตุผิดนัด
วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ผู้ถือหุ้นกู้ 2 ชุด มีมติไม่ยกเว้นเหตุผิดนัดชำระหนี้ พร้อมเรียกให้หนี้เงินต้นและดอกเบี้ยถึงกำหนดชำระโดยพลัน รวม 2,241 ล้านบาท
เปิดเทรดชั่วคราวหุ้นร่วงหนัก
ขณะที่วันที่ 1 มิถุนายน 2566 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดให้ซื้อขายหุ้น STARK ชั่วคราว เป็นระยะเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายน 2566 ภายใต้ 4 หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญ โดยกำหนดต้องซื้อด้วยบัญชี Cash Balance (ผู้ซื้อต้องชำระเงินทั้งจำนวนก่อนการซื้อหุ้น) ซึ่งปรากฏว่า มีการเทขายออกจนราคาร่วงถึงราว 95% ในวันเดียว
เครดิตเรตติ้งรูดเป็น “D”
โดยในวันที่ 1 มิถุนายน 2566 ทริสเรทติ้ง ก็ได้ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กร STARK เป็น “C” จาก “BB-” พร้อมคงเครดิตพินิจ แนวโน้ม “Negative” โดยมองว่าเป็นไปได้ยากที่บริษัทจะสามารถชำระหนี้ได้อีกต่อไป
แต่ถ้ดมาในวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ทริสเรทติ้ง ก็ประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ STARK ลงสู่ระดับ “D” เนื่องจากบริษัทผิดนัดชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้หมายเลข STARK239A และ STARK249A
ขณะที่ในปัจจุบัน บริษัทได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด
นอกจากนี้ คงต้องรอติดตามการเปิดเผยงบฯ การเงิน ปี 2565 ที่คาดว่าจะออกมาได้ในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะชี้ชะตา STARK และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป