STARK สะเทือนตลาดหุ้นกู้ นักลงทุนเกือบ 5 พันรายช็อกเจอเบี้ยวหนี้

Stark

วิบากกรรม STARK เขย่าตลาดทุน สะเทือนผู้ถือหุ้น-หุ้นกู้-เจ้าหนี้แบงก์เสียหายนับหมื่นล้าน “วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ” รักษาการซีอีโอยื่นหลักฐานดีเอสไอ-สอบสวนกลางเอาผิดผู้บริหาร ตามล่าทรัพย์สินคืน  ด้านผู้ถือหุ้นกู้ 4,528 ราย วงเงิน 9,198 ล้านบาท ช็อกบริษัทเบี้ยวหนี้หยุดจ่าย “ดอกเบี้ย” วงการยอมรับกระทบเชื่อมั่นตลาดหุ้นกู้ เผยสัญญาณเตือน “ไฮยีลด์บอนด์-หุ้นกู้ไม่มีเรตติ้ง” ขายไม่หมด ชี้กรณีบริษัทไม่มีเงินคืนแบงก์-หุ้นกู้ ต้องยื่นศาลฟื้นฟูกิจการ  ตลท. ยอมรับฝ่ายกำกับต้องปรับตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีปัญหาบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK กลายเป็นอีกกรณีที่ส่งผลสะเทือนตลาดทุน เพราะถือเป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่มีทรัพย์สินตามที่ระบุเกือบ 4 หมื่นล้านบาท และผู้ถือหุ้นก็เป็นนักลงทุนสถาบันรายใหญ่หลายราย แต่มีกลิ่นของขบวนการทุจริตที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อทั้งผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นกู้และเจ้าหนี้มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

โดยเมื่อบริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินปี 2565 ได้ กระทั่งถูกตลาดหลักทรัพย์ฯระงับการซื้อขายตั้งแต่ 28 ก.พ. 2566 พร้อมกับมีการเปลี่ยนทีมผู้บริหาร และคณะกรรมการยกชุด โดยนายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้เข้ามานั่งตำแหน่ง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2566

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (special audit) เกี่ยวกับการขาย ลูกหนี้ รายการบัญชีอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการรับโอนเงินของกลุ่มบริษัทหลังมีรายงานบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ของผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหม่ถึงความผิดปกติ

ขณะที่หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯได้เปิดให้ซื้อขายหุ้น STARK เป็นการชั่วคราวตั้งแต่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา วันแรกราคาหุ้น STARK ก็ลดลงกว่า 89.49% ลดลงจาก 2.13 บาท มาอยู่ที่ราคา 0.25 บาท เรียกว่านักลงทุนเทขายหนีตาย  โดยล่าสุดวันที่ 6 มิ.ย. ราคาแกว่งอยู่ในแดนลบทั้งวัน ลงไปจุดต่ำสุด 0.17 บาท

ยืน DSI ฟ้องตามล่าทรัพย์สินคืน

ขณะที่ล่าสุดวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ STARK รายงานตลาดหลักทรัพย์ฯว่า หลังจากที่คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้รับทราบจากหนังสือของผู้สอบบัญชี บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ว่าได้ตรวจพบพฤติการณ์อันควรสงสัยในประเด็นการดำเนินงาน และได้ปฏิบัติหน้าที่ของ “กรรมการผู้จัดการ” และหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท ตามมาตรา 89/25 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2565 โดยประธานกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้มีหนังสือแจ้งสำนักงาน ก.ล.ต. ถึงการตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (special audit)

และได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สืบสวนและสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายจนถึงที่สุด

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท ผู้ถือหุ้น ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท บริษัทขอเรียนว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงการดำเนินการขั้นต้น บริษัทมีความเชื่อมั่นต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ (บก.ปอศ.) ว่าจะสามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีลงโทษได้ตามกฎหมาย ตลอดจนสามารถติดตามเอาทรัพย์สินจากผู้กระทำความผิดคืนกลับให้แก่บริษัทเพื่อเป็นการเยียวยาบรรเทาความเสียหายที่บริษัทได้รับ

พร้อมกันนี้บริษัทระบุว่า เนื่องจากขณะนี้กระบวนการทางกฎหมายอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ บก.ปอศ. บริษัทจึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียด ตลอดจนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. ตามที่ขอได้

ผิดนัดชำระหนี้หั่นเครดิต

จากกรณีดังกล่าวนอกจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ “ผู้ถือหุ้น” ของ STARK แล้ว นอกจากนี้ก็เกิดปัญหาการ “ผิดนัดชำระหนี้” กับผู้ถือหุ้นกู้ STARK ซึ่งมีการขายออกไปทั้งสิ้น 5 รุ่น มูลค่ารวม 9,198.4 ล้านบาท และผลจากกรณีที่บริษัทไม่ส่งงบการเงินปี 2565 ทำให้เมื่อ 31 พ.ค. 2566 ผู้ถือหุ้นกู้ 2 รุ่น (STARK239A และ STARK249A) มีการประชุมลงมติ ให้ถือเป็นเหตุผิดนัดชำระหนี้ พร้อมเรียกร้องให้ชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ยถึงกำหนดชำระโดยพลัน รวมวงเงิน 2,241 ล้านบาท หมายความว่าบริษัทต้องหาเงินมาชำระหนี้หุ้นกู้ 2 รุ่นดังกล่าวภายใน 30 วัน

อย่างไรก็ดี ในวันที่ 2 มิ.ย. 2566 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่บริษัทต้องจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 2 รุ่นดังกล่าว บริษัท STARK ได้ตัดสินใจระงับการชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นการผิดนัดชำระหนี้ เป็นผลให้ทางบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ออกมาประกาศปรับลดอันดับเครดิตองค์กร STARK เป็น “D”

ทั้งนี้ เครดิตเรตติ้ง D หมายถึง องค์กรที่ภาระหนี้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดอยู่ในสภาวะผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ STARK มี 2 ราย คือ ธนาคารกสิกรไทย และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน)

STARK กระทบเชื่อมั่น

แหล่งข่าวผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ STARK กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีของ STARK ถือว่าค่อนข้างกระทบต่อความเชื่อมั่นพอสมควร ไม่ใช่แค่ตลาดหุ้นกู้ แต่กระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อผู้ถือหุ้นกู้และผู้ถือหุ้น STARK เนื่องจากเป็นปัญหาของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทย ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่เกิดจากการทำธุรกิจปกติ

โดยขณะนี้หุ้นกู้ 2 รุ่นเกิด call default ไปแล้ว แต่ 3 รุ่นที่ถูก wave ไปนั้น ถามว่าจะเกิดเหตุผิดนัดไขว้ (cross default) เลยหรือไม่ ต้องบอกว่านักกฎหมายตีความว่า ยังไม่ cross default ทั้งหมด เนื่องจากมองว่ามีโอกาสผิดนัด แต่ต้องรอให้ STARK ไม่ชำระเงินก่อนตามข้อกำหนดที่ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เรียกให้ชำระเงินภายใน 30 วัน ซึ่งตอนนี้ได้ว่าจ้างที่ปรึกษากฎหมายให้ช่วยพิจารณาด้วยว่า กรณีดังกล่าวจะเป็นการผิดนัดหุ้นกู้ 3 รุ่นที่ผ่อนผันไปหรือไม่

ไม่เห็นข้อมูลเสียหายจริง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นาทีนี้พิจารณาว่า STARK คงจะไม่จ่ายหนี้คืนแล้ว เพราะนอกจากภาระะหุ้นกู้แล้ว บริษัทยังมีภาระหนี้สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ 2 รายใหญ่ วงเงินประมาณ 8-9 พันล้านบาท เท่าที่ทราบมาก็ไม่จ่ายหนี้แบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อมาสักพักหนึ่งแล้ว เพราะกระแสเงินไม่พอ ที่ผ่านมาจ่ายเฉพาะดอกเบี้ยหุ้นกู้ไปก่อนเพื่อไม่ให้ default แต่หลังจากหุ้นกู้ 2 รุ่น โหวต cross default ทำให้เป็นเหุตให้บริษัทสั่งระงับหรือประวิงจ่ายดอกเบี้ยไป

ตอนนี้รอข้อมูลที่ยังไม่เห็นคือความเสียหายจริงมีมูลค่าเท่าไร ซึ่งตามกระแสข่าวออกมา คือเงินหายไปจากบัญชีเกือบหมื่นล้าน ทั้งนี้คงต้องรอหลักฐาน ข้อเท็จจริงออกมาก่อน ตามที่ STARK ได้ไปแจ้งความ DSI ซึ่งโดยหลักการควรจะต้องมีหลักฐานที่เอาผิดได้ ต้องรอดูว่ามีอะไรจะมาชี้แจงบ้าง ซึ่งก็ต้องรอว่าทางบริษัทจะมีการประกาศงบการเงิน ภายในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ ตามที่เคยชี้แจงไว้หรือไม่

เพราะล่าสุดบริษัทที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อ 6 มิ.ย.ระบุว่า เนื่องจากอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ บก.ปอศ. บริษัทจึงไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียด และพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่ ก.ล.ต.ได้ขอข้อมูล

“ตั้งแต่เกิดเรื่องได้ไปคุยกับเจ้าของ (วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ) ครั้งหนึ่ง สีหน้าดูไม่ค่อยดี รู้ว่าขาดทุน โดนโกงไปเยอะ แต่ไม่รู้ว่าตัวเลขเท่าไหร่ เคสนี้อาจจะไม่เหมือน EARTH เพราะมองว่าเจ้าของน่าจะต้องประคองบริษัทไว้ ซึ่งถ้าเขาประคองบริษัทไว้ ก็น่าจะต้องไปยื่นเข้ากระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้กฎหมายล้มละลาย แนวทางคล้ายการบินไทย ยกเว้นว่าจะถอดใจไปก่อน”

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุด STARK ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นจะคล้ายกับกรณี บมจ.การบินไทย คือต้องเข้าสู่กระบวนการขอฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลรับคำร้องจะเข้าสู่ “สภาวะพักชำระหนี้” แล้วนำกองหนี้-สินทรัพย์ มารวมแล้วมาปรับโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ดี คงต้องพิจารณาส่วนทุนของ STARK ที่จะเปิดเผยในวันที่ 16 มิ.ย.นี้ก่อน ซึ่งหากออกมาแล้วไม่เพียงพอ คาดว่า STARK น่าจะต้องเจรจาปรับโครงสร้างหนี้

สะเทือนหุ้นกู้ไฮยีลด์ขายไม่ออก

นางสาวศิรินารถ อมรธรรม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีหุ้นกู้ STARK ผิดนัดชำระหนี้ ตอนนี้ปัญหาของตัวผู้ออกหุ้นกู้ ถือว่ายังจำกัดขอบเขตอยู่ในกลุ่มผู้ออกหุ้นกู้ที่เคยยืดหนี้ไปแล้ว เช่น บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) และ บมจ. ช ทวี (CHO) เป็นต้น รวมถึงหุ้นกู้ของกลุ่มบริษัทที่ไม่ได้ถูกจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (nonrated)

แต่ในแง่ของนักลงทุน ถือว่าเริ่มเห็นสัญญาณความกังวลหรือขาดความเชื่อมั่น สะท้อนได้จากหุ้นกู้อันดับเครดิตต่ำ ๆ เช่น อันดับเครดิตของหุ้นกู้ BB เริ่มขายไม่หมด โดยมีหุ้นกู้บางรุ่นที่ออฟเฟอร์ด้วยวงเงิน 800 ล้านบาท แต่ขายได้แค่ 550 ล้านบาท รวมถึงหุ้นกู้ระดับลงทุน (investment grade) ในกลุ่ม BBB- บางรายก็ขายไม่หมดด้วย แต่ถ้ามีชื่อเสียงหรือเป็นที่รู้จักของนักลงทุนก็ยังขายหมด

“ตอนนี้อาจจะเริ่มเห็นสัญญาณพวกหุ้นกู้อันดับเครดิตต่ำ ๆ หรือไม่ค่อยเป็นที่รู้จักจะเริ่มขายหุ้นกู้ไม่หมด ฉะนั้นบริษัทผู้ออกหุ้นกู้เหล่านี้ต้องเตรียมแผนกันเงินสำรองของคณะกรรมการไว้ หรือขอวงเงินสำรองจากธนาคารไว้ด้วย เพราะเวลาตลาดทุนเกิดสถานการณ์ลักษณะนี้จะยังมีเงินทุนระยะสั้นจากแบงก์ไว้ใช้ได้อยู่ และพอเหตุการณ์สงบค่อยสวิตช์นำเงินที่ได้จากระดมทุนขายหุ้นกู้ไปชำระคืนหนี้แบงก์” นางสาวศิรินารถกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากผลกระทบ STARK ในแง่ของแผนการระดมทุนหุ้นกู้นั้น ขณะนี้ยังไม่มีผู้ออกรายใดที่จะเลื่อนแผนการระดมทุนออกไป เพราะถือว่ายังไม่ได้ลุกลามจนถึงขนาดทำให้นักลงทุนลดการลงทุนในหุ้นกู้

หุ้นกู้มีปัญหารวมแสนล้าน

นางสาวศิรินารถกล่าวต่อว่า ข้อมูลจนถึงวันที่ 26 พ.ค. 2566 พบว่า มูลค่าคงค้างหุ้นกู้ไฮยีลด์ (ผลตอบแทนสูง-เสี่ยงสูง) รวม 329,213 ล้านบาท โดยเป็นหุ้นกู้ nonrated จำนวน 242,683 ล้านบาท ส่วนใหญ่กว่า 50% อยู่ในเซ็กเตอร์อสังหาริมทรัพย์

ขณะที่มูลค่าคงค้างหุ้นกู้ที่มีปัญหามีจำนวน 110,356 ล้านบาท เป็นของหุ้นกู้ บมจ.การบินไทย (THAI) ที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ (rehabilitation) จำนวน 71,608 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ (restructure) จำนวน 15 บริษัท มูลค่ารวม 14,589 ล้านบาท และหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ (default payment) อีกจำนวน 9 บริษัท มูลค่ากว่า 24,159 ล้านบาท

“จริง ๆ ตัดหุ้นกู้การบินไทยออกไปได้แล้ว เพราะผลประกอบการพลิกกลับมามีกำไรแล้ว จึงน่าจะจ่ายเงินคืนหุ้นกู้ได้ ถ้ารวมเฉพาะหุ้นกู้ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้และผิดนัดชำระหนี้ มีอยู่ประมาณ 38,748 ล้านบาท”

STARK ระงับจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้

นางสาวศิรินารถกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้า STARK เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 66 ที่ผ่านมา มีดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดจ่าย 60-70 ล้านบาท เข้าใจว่า STARK ได้โอนเงินให้กับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเตรียมจ่ายให้กับผู้ถือหุ้นกู้แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นกระแสเงินสดของเจ้าของเอง แต่จากผลการประชุมผู้ถือหุ้นกู้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 66 มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ STARK จำนวน 2 รุ่น ไม่ยกเว้นเหตุผิดนัด ซึ่งดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดจ่ายเป็นดอกเบี้ยของหุ้นกู้ 2 รุ่นนั้นพอดี ทาง STARK จึงตัดสินใจระงับการจ่ายดอกเบี้ยไป ทั้งที่โอนเงินไว้ให้แล้ว

“เจ้าของอาจมองว่าไหน ๆ ก็ผิดนัดชำระหนี้แล้ว ถ้าจ่ายดอกเบี้ยไปก็ยังอยู่ในสถานะ default จึงระงับไม่จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งกรณีนี้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ไม่สามารถจ่ายเงินออกไปได้ เพราะจะผิดคำสั่ง”

ผู้เสียหายหุ้นกู้ STARK 4,528 ราย

แหล่งข่าววงในตลาดทุนกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงาน ก.ล.ต. พบว่ามีนักลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการลงทุนหุ้นกู้ STARK จำนวนกว่า 4,528 ราย ทั้งหมดเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่

หากตั้งข้อสังเกตสถานการณ์ STARK ถือเป็นบริษัทที่ค่อนข้างมีสตอรี่มาแบ็กอัพผลการดำเนินงานมาได้โดยตลอด มีแนวโน้มกำไรช่วงที่ผ่านมา ๆ เติบโตขึ้นต่อเนื่อง สามารถระดมทุนเพื่อขยายกิจการออกไปได้ทั้งจากกลุ่มสถาบัน กองทุน และแบงก์ ขนาดกิจการก็ไม่ใช่เล็ก ๆ ทำให้ดูว่ามีศักยภาพดี และยิ่งใช้ BIG4 เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ตรงส่วนนี้ยิ่งสร้างความเชื่อถือของนักลงทุนได้เยอะทีเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท STARK ได้ชี้แจงว่า ก่อนจะตั้งบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ เอบีเอเอส จำกัด เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีรายใหม่ บริษัท STARK มีบริษัท ดีลอยท์ มู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี

แกะรอยระบบตรวจสอบบัญชี

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากกรณีของ STARK ถือว่าสะเทือนวงการ และไม่เพียงที่จะเป็นบทเรียนของผู้ถือหุ้นกู้เท่านั้น แต่ถือว่าเป็นบทเรียนของส่วนงานต่าง ๆ ที่จะต้องไปพิจารณาถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะไม่ใช่ปัญหาจากการดำเนินธุรกิจ แต่เป็นปัญหาการทุจริตภายใน รวมถึงการสร้างตัวเลขยอดขายและกำไร ทำให้มีการตั้งคำถามถึงปัญหาของบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี

ทั้งนี้ เริ่มมีการตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของส่วนงานที่เกี่ยวข้องในการเสนอขายหุ้นกู้ รวมถึงบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพราะหุ้นกู้ STARK ก็มีเครดิตเรตติ้ง BBB+ อยู่ในระดับ investment grade แหล่งข่าวกล่าวว่า กรณีนี้อยากให้มองว่า หน้าที่ของบริษัทเครดิตคือจัดทำเรตติ้ง ต้องให้ความยุติธรรมเขาด้วย เพราะเขาไม่ได้เข้าไปตรวจสอบบัญชีเอง แต่ใช้ข้อมูลงบการเงินจากผู้ตรวจสอบบัญชี

ฉะนั้นควรจะต้องย้อนกลับไปดูทีละขั้นตอน ตั้งแต่เรื่องระบบตรวจสอบบัญชีมากกว่า ว่าข้อมูลงบการเงินที่บริษัทเรตติ้งนำมาใช้ จริง ๆ แล้วมีความผิดพลาดหรือช่องโหว่ในระบบการตรวจสอบหรือการวิเคราะห์ข้อมูลหรือไม่อย่างไร หรือถ้าไม่เจอความผิดพลาด ต้องมาดูตัวบริษัทว่ามีเจตนาหรือเปล่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ จำนวน 9 บริษัท ประกอบด้วย STARK จำนวน 9,198 ล้านบาท EARTH+IFEC จำนวน 8,750 ล้านบาท ACAP จำนวน 2,575 ล้านบาท ALL+APEX+PACE จำนวน 2,996 ล้านบาท CHO จำนวน 409 ล้านบาท และ RICH จำนวน 230 ล้านบาท

ตลท.ยอมรับฝ่ายกำกับต้องปรับตัว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือในฐานะองค์กรอื่น ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับตลาดทุน มีความจำเป็นอย่างมากจะต้องมีการปรับตัว หรือทำอะไรบางอย่างที่จะสามารถป้องกัน ไม่ให้เกิดกรณีแบบบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK และบริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE อย่างในช่วงที่ผ่านมา เพราะหากมองในอดีตการทำหน้าที่ในรูปแบบเดิมอาจจะเพียงพอ

แต่ในปัจจุบันทำเท่าเดิม อาจจะไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงที่ในอดีตไม่เคยเกิดขึ้นได้ ซึ่งในมุมของการดูแลนักลงทุนรายย่อย หรือผู้เล่นในตลาดทุน ในอนาคตจะต้องมีการปรับวิธีการทำงาน ปรับระบบและปรับวิธีการทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ อาจจะต้องมีการเสนอแนวทางในการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อป้องกันเรื่องในกรณีแบบนี้เพิ่มมากขึ้น

“ไม่ใช่โจทย์ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ว่าจะเป็นโจทย์ที่ทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนจะต้องปรึกษากันถึงสาเหตุของปัญหาตั้งแต่ต้น เพื่อแก้ปัญหาให้เกิดช่องโหว่ที่ลดน้อยลง” นายภากรกล่าว

กรรมการและผู้จัดการ ตลท.กล่าวด้วยว่า ส่วนการดูแลผู้ถือหุ้นนั้น ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ และสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ และก็เห็นว่ามีอีกหลายปัญหาที่เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นที่คงจะต้องช่วยกันพยายามแก้ไข เพราะตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเพิ่งจะเริ่มต้น เพราะฉะนั้นการแก้ไขและการที่จะทำสิ่งต่อไปยังมีอีกมาก อย่างไรก็ตาม คงต้องรอข้อมูลต่าง ๆ ที่ทางบริษัทจดทะเบียน (บจ.) และทางผู้สอบบัญชีจะนำเสนอ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลมาดำเนินการในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ต่อไป