
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
“อาคเนย์ประกันชีวิต” หนึ่งในธุรกิจการเงินภายใต้ “ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TGH)” ของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้ฤกษ์ประกาศรีแบรนด์ใหม่เป็น “Se Life อาคเนย์ประกันชีวิต” ตามแผนที่เริ่มมาตั้งแต่ปีก่อน หลังจากบริษัทได้รับเอฟเฟ็กต์จากธุรกิจประกันภัยในเครือที่ต้องปิดตัวไป โดย “ภฤตยา สัจจศิลา” กรรมการผู้จัดการบริษัท ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เมื่อเร็ว ๆ นี้
รีแบรนด์ “บทพิสูจน์ใหม่”
“ภฤตยา” กล่าวว่า การรีแบรนด์ก็เพื่อลบภาพความคลุมเครือในอดีต ทำให้ภาพชัดว่าบริษัทนี้คืออาคเนย์ประกันชีวิตที่อยู่คู่กับสังคมไทยมา 77 ปี มีความมั่นคงสูง ที่พิสูจน์ได้จากระดับเงินกองทุน (CAR Ratio) ที่มากกว่า 268% มีฐานลูกค้ากว่า 1 ล้านคน และมีอัตราความยั่งยืนของกรมธรรม์สูงถึง 95%
โดยการเข้ามาทำงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตนได้ปรับเปลี่ยนและปฏิรูปกระบวนการทำงาน ทั้งรูปแบบการขาย การบริการ และการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ของการประกันชีวิต และวันนี้พร้อมแล้วที่จะปรับจุดยืนทางการตลาดใหม่ ชูภาพลักษณ์ที่มีความทันสมัย เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้ง่ายมากขึ้น พร้อมคำมั่นสัญญา แบรนด์ที่มาพร้อมบทพิสูจน์
“การรีแบรนด์ใหม่ ไม่ใช่ว่าเกิดจากความไม่แน่นอน แต่ยอมรับว่าเกิดความคลุมเครือขึ้น และเราก็ไม่ได้หนีความคลุมเครือนั้น เพราะเราได้แก้ไขแล้ว ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้าและตัวแทน ซึ่งทุกคนเข้าใจ และเราได้มีการสื่อสารและพูดคุยแม้กระทั่งกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมายังคงให้การสนับสนุนเราอย่างดีมาโดยตลอด ไม่มีใครหันหลังให้เราเลย สะท้อนความเชื่อใจที่ยังคงอยู่”
ตอบโจทย์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
สำหรับแผนธุรกิจจากนี้ บริษัทจะสร้างบทพิสูจน์ผ่าน 3 ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้แก่ 1.ลูกค้า ด้วยการพัฒนาโปรดักต์ที่ลูกค้าออกแบบความคุ้มครองได้ ทั้งผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน โรคร้ายแรง ค่าห้อง ในราคาที่เหมาะสมตามงบประมาณและรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล โดยมีบริษัท เซ็นทริคส์ คอนซัลติ้ง จำกัด (Sentrics) ในเครือ TGH
ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้าน Data Analytics เข้ามาช่วย ทำให้เข้าใจพฤติกรรมของลูกค้ามากขึ้น 2.ตัวแทน โดยปฏิรูปกระบวนการขายผ่านระบบดิจิทัล 100% เปิดตัว D-Life เครื่องมือช่วยนำเสนอแผนประกันชีวิต ออกข้อเสนอขาย ดูข้อมูลการบริหารทีมขาย บริหารรายได้ คำนวณเบี้ยประกัน และพร้อมส่งคำสั่งซื้อได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาถึงฝ่ายรับประกันภัยของบริษัทเพื่อทำการอนุมัติได้ ใช้เวลาเพียง 10 นาทีต่อ 1 กรมธรรม์
ซึ่งการใช้งานมีระบบการรักษาความปลอดภัยสูง และ 3.พันธมิตรทางธุรกิจ โดยบริษัทมีแผนเข้าไปเชื่อมต่อผ่าน Open APIs กับคู่ค้าที่มีแพลตฟอร์มเพื่อเข้าไปขยายการบริการลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพาร์ตเนอร์ในเครือ TCC, ธุรกิจดิจิทัลโบรกเกอร์, ธุรกิจธนาคาร และธุรกิจสินเชื่อรายย่อยที่มีสาขาทั่วประเทศ
ซึ่งปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนเบี้ยมาจากช่องทางตัวแทนมากที่สุด 50% แยกเป็น เบี้ยจากตัวแทนประกันชีวิต 38% และจาก Wealth Management อีก 12% ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนขายในสังกัด 3,000 คน แอ็กทีฟอยู่ประมาณ 1,600-1,700 คน ทั้งนี้ บริษัทมีฐานลูกค้ารวมอยู่กว่า 1 ล้านคน เป็นลูกค้ารายบุคคล 750,000 คน และลูกค้าประกันกลุ่มอีก 300,000 คน (เฉพาะสมาชิกในเครือ TCC เกือบ 100,000 คน หรือสัดส่วนประมาณ 15-20% ของเบี้ยรับรวม)
“ตอนนี้สัดส่วน สินค้าใหญ่สุดมาจากประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ (MRTA) 30% รองลงมาเป็นประกันกลุ่ม 30% ถัดมาเป็นประกันชีวิต 30% และอีก 10% เป็นประกันออมทรัพย์ แต่ถึงสิ้นปีคาดว่า จะปรับพอร์ตประกันชีวิตให้มีสัดส่วน 70% และประกันออมทรัพย์ที่ 30% หมายความว่า อาจจะทำตลาดกลุ่มออมทรัพย์แบบมีเงินปันผล (participating policy) มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่เข้าสู่ฤดูกาลลดหย่อนภาษี”
ปี’66 ตั้งเป้าเบี้ยเติบโต 20%
สำหรับปี 2566 “ภฤตยา” กล่าวว่า ตั้งเป้าหมายเบี้ยรับรวมจะเติบโต 19-20% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) อยู่บนสมมุติฐานของการเพิ่มขีดความสามารถในช่องทางตัวแทน และได้ปรับเปลี่ยนสาขาย่อยให้เป็นสำนักงานตัวแทนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 46 แห่ง และสำนักงานตัวแทน 25 แห่ง
นอกจากนี้ กำลังทยอยรีโนเวตสาขาเพื่อปรับให้เป็นระบบอัตโนมัติ (Branch Automation) สามารถทำธุรกรรมและส่งเอกสารมายังสำนักงานใหญ่บนออนไลน์ได้ 100% และการสร้างพันธมิตรเพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยทำให้บริษัทเจริญเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้
“สำหรับปัจจัยเสี่ยงครึ่งหลังของปีนี้ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกและการท่องเที่ยว และมีผลกับรายได้ต่อประชากร และความสามารถในการซื้อประกันตามมาได้ หรือแม้แต่ความกังวลเกี่ยวกับ Emerging Risk ต่าง ๆ แต่ในทางกลับกันก็มีแรงผลักทำให้เกิดดีมานด์สินค้าประกันสุขภาพและความคุ้มครองชีวิตมากยิ่งขึ้นด้วยเหมือนกัน”