ปิติ ตัณฑเกษม ttb ชี้จุดเปลี่ยนประเทศไทย ถึงเวลาปรับเกมสู่ความยั่งยืน

การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยยึดหลัก ESG ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว แถมยังเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งปรับตัว เพราะมองไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้คืออนาคตของเศรษฐกิจไทย แต่การจะไปสู่จุดนั้นได้ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากหลายฝ่าย

ซึ่งในงานสัมมนา ESG : Game Changer #เปลี่ยนให้ทันโลก ที่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้รับเกียรติจาก “ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยธนชาต (ทีทีบี) มาบรรยายในหัวข้อ “จุดเปลี่ยน…ศักยภาพใหม่เศรษฐกิจไทย” ไว้อย่างน่าสนใจ

ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนไป

โดย “ปิติ” เริ่มต้นฉายภาพว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา ได้รับอานิสงส์จากโลกาภิวัตน์ (globalization) มีบริษัทญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตเข้ามา แต่ปัจจุบันหลายประเทศหยิบยกเรื่องของสิ่งแวดล้อมมาเป็นปัจจัยในการทำธุรกิจ ทำให้คู่ค้ามีเกณฑ์และกติกาใหม่ ๆ เปลี่ยนไป และตลาดที่เปลี่ยนไป แต่ไทยยังค้าขายส่งออกกับกลุ่มเดิม เช่น สหรัฐ ยุโรป จีน และอาเซียน ก็มีคำถามว่า ไทยจะยั่งยืนได้อย่างไร หากคู่ค้าเปลี่ยนไป

“การเติบโตของไทยส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งมาพร้อมกับหนี้ครัวเรือน เพราะกู้มาเพื่อบริโภค โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีสัดส่วนเยอะขึ้น ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยขึ้นมาอยู่ในจุด Top ของโลก จนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องออกมาตรการมาดูแล ขณะที่คนไทยเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย แรงงานมีโอกาสตกงานมากขึ้น เพราะทักษะไม่ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไป”

ด้านการลงทุนของไทย จะมุ่งลงทุนในโครงสร้างแบบเดิม ๆ เช่น ถนน เป็นต้น ขณะที่งบประมาณการวิจัยและพัฒนา (R&D) มีสัดส่วนแค่ 1% ของ GDP ซึ่งต่ำมาก จึงไม่แปลกใจว่าทำไมธุรกิจถึงเติบโตแบบ low growth 
และ low margin เพราะขายทักษะและสินค้าแบบเดิม

“เมื่อบริบทโลกเปลี่ยนไป หากไม่ปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ ความยั่งยืนจะมาได้อย่างไร สิ่งที่กังวลคือ หากผลิตภาพแรงงานของไทยไม่ได้พัฒนาสูงขึ้น รายได้ไม่เพิ่ม ก็ต้องวนกลับมากู้เพื่อจับจ่าย ดังนั้น เราจะเปลี่ยนอะไร เพื่อความยั่งยืนภายใต้บริบทโลกที่เปลี่ยนไป”

ADVERTISMENT

รายใหญ่-รายเล็กต้องโตไปด้วยกัน

“ปิติ” กล่าวว่า ความยั่งยืนไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ความยั่งยืนคู่กับการเปลี่ยนแปลง อย่างธุรกิจธนาคารรับฝากเงิน 14 ล้านล้านบาท นำไปปล่อยสินเชื่อต่อ โดย 6 ล้านล้านบาทไปสู่ธุรกิจรายใหญ่ สร้างมูลค่า 40% ของ GDP ปล่อยให้ธุรกิจเอสเอ็มอี 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของ GDP และอีก 5 ล้านล้านบาท เป็นรายย่อย

“สิ่งที่น่าสนใจคือ เม็ดเงิน 3 ล้านล้านบาทที่ลงสู่ธุรกิจเอสเอ็มอี สามารถจ้างงานได้ 13 ล้านคน เมื่อเทียบกับธุรกิจรายใหญ่ 6 ล้านล้านบาท หรือ 1.4 หมื่นบริษัท แต่จ้างงานเพียง 5 ล้านคน สะท้อนว่าธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจ เกิดการหมุนเวียน ดังนั้น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ยั่งยืน ขณะที่คนไทยมีรายได้ไม่พอรายจ่าย ต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นี่คือความไม่ยั่งยืนระดับชาติ”

ADVERTISMENT

ดังนั้น รูปแบบการทำธุรกิจจะต้องคิดใหม่ทำใหม่ ว่าธุรกิจใหญ่กับธุรกิจเล็กจะอยู่ร่วมกันและเติบโตไปได้อย่างไร จึงเป็นที่มาของโมเดล “ดอกไม้กับแมลง” หรือ “พี่ช่วยน้อง” ไม่ใช่ธุรกิจรายใหญ่ก็โตไป จนทำให้ธุรกิจเล็ก
อยู่ไม่ได้

“เรามีลูกค้าที่เป็นเต็นท์รถมือสอง เราช่วยลูกค้าทำแพลตฟอร์ม รถโดนใจ และดึงเต็นท์รถเข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม เพื่อดึงคนเข้ามาดู ธุรกิจใหญ่อยู่ได้ ธุรกิจเล็กก็อยู่ได้ นี่คือโมเดลดอกไม้กับแมลง”

ความยั่งยืนเริ่มจากภายในองค์กร

“ซีอีโอ ทีทีบี” กล่าวว่า คำว่ายั่งยืน ไม่ได้มีเพียง ESG เท่านั้น แต่ต้องเริ่มจากตัวธุรกิจ ทีทีบีจึงเพิ่มตัว B หรือ business sustainability เข้ามา ซึ่งจะต้องมีความยั่งยืนทางธุรกิจที่จะเชื่อมโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คู่ค้า และลูกค้าเข้ามาอยู่ในการดำเนินงาน in process เพื่อธุรกิจที่ยั่งยืน โดยนำแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (sustainable banking) มาเป็นรากฐานทั่วทั้งองค์กร

ซึ่งหลังการควบรวมกิจการระหว่าง 2 ธนาคาร (ทีเอ็มบีกับธนชาต) แล้ว ได้ตั้งโจทย์ร่วมกันคือ ต้องการให้คนไทยมีชีวิตทางการเงินดีขึ้น หรือ financial well-being ภายใต้กลุ่มลูกค้า 3 กลุ่มคือ มนุษย์เงินเดือน รถยนต์ และบ้าน เพราะธนาคารมีมาร์เก็ตแชร์ส่วนนี้อยู่มาก โดยเริ่มตั้งแต่การทำแคมเปญ “ฉลาดออม ฉลาดใช้” หรือให้ความคุ้มครองเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ลูกค้าทิ้งเงินไว้ในบัญชี 5,000 บาท จะได้รับประกัน

หรือการช่วยลูกค้าลดภาระดอกเบี้ยสูงผ่านการรวบหนี้ (debt consolidation) จากดอกเบี้ยสูงมาอยู่ที่บ้านและรถ หรือการพัฒนาโมบายแบงกิ้ง ไม่ใช่แค่โอน เติมจ่าย แต่ทำให้ชีวิตดีขึ้น ช่วยลดต้นทุนของธนาคาร หรือการให้ความรู้กับธุรกิจเอสเอ็มอีในเรื่องกติกาใหม่ ๆ เข้ามา

“สิ่งที่เราคุยกันในแบงก์ตลอดคือ จะมีความยั่งยืนได้ ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ถ้าเราจะทำ ESG แต่ธุรกิจเราเป็นบ่อนการพนัน แล้วมาปลูกป่า มันก็จะไม่ได้สะท้อนความยั่งยืน”

บทบาทแบงก์ลมใต้ปีกธุรกิจ

สำหรับเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น “ซีอีโอ ทีทีบี” ชี้ว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ (Net Zero) ในส่วนของธนาคารเปรียบเหมือน “มดหายใจ” ไม่ค่อยสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่แบงก์ในฐานะต้นทางของการสร้างคาร์บอน สิ่งที่แบงก์ควรทำ ไม่ใช่พาตัวเองเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero แต่แบงก์ควรสร้าง empower ให้ธุรกิจสามารถเข้าสู่ net zero ได้มากกว่า

“ความยั่งยืนไม่ได้ทำเพื่อรางวัล แต่ต้องวัดผลได้ในทุกมิติ ทำเรื่อง ESG เพื่อไล่ล่าการเปลี่ยนแปลง ส่วนรางวัลที่ได้มา ก็แสดงให้เห็นว่าเราสามารถไล่ล่าการเปลี่ยนแปลงและความยั่งยืนร่วมกันได้” ซีอีโอทีทีบีกล่าว